สอวช. โต้โผเดินหน้า นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนใช้นวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สอวช. โต้โผเดินหน้า นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน นัดถกทุกภาคส่วนหวังใช้นวัตกรรมพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.) โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้ประกาศยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. เพื่อการพัฒนา 4 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 1. การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ 4. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และเศรษฐกิจท้องถิ่น สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายด้าน อววน. ของประเทศได้ขานรับและเดินหน้าทั้ง 4 แพลตฟอร์ม โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม ที่มีนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy เป็นหนึ่งในนโยบายที่กระทรวงปักธงภายใต้แพลตฟอร์มนี้ และยังสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy อีกด้วย
โดยในระหว่างวันที่ 7 - 8 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา สอวช. ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นด้านนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคการพัฒนาเมืองและการท่องเที่ยว และในภาคเกษตรและอาหาร รวมทั้งได้หารือในประเด็นเชิงนโยบายกับหน่วยงานนโยบายภาครัฐที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสิ่งที่ดำเนินการอยู่ อาทิ หอการค้าไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สวทช. สถาบันคลังสมองของชาติ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด สถาบันอาหาร เมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เชิญ Mr.Risk Passenier ผู้เชี่ยวชาญด้าน Circular hotspot จากประเทศเนเธอร์แลนด์ มาถอดบทเรียนร่วมกัน
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า สอวช. ขานรับยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อการพัฒนา 4 แพลตฟอร์มของกระทรวง โดยมีหลากหลายนโยบายที่เร่งดำเนินการผลักดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม ที่มีนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy เป็นหนึ่งในนโยบายชูธงของกระทรวง และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว สอวช. จึงได้ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทที่ปรึกษา PACE Business Partner ดำเนินโครงการ “การพัฒนานโยบายการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน” เพื่อจัดทำสถานภาพ ระบุโอกาสและช่องว่างการพัฒนา ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและโครงการนำร่องเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย โดยได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา มาให้ข้อมูล ตลอดจนเสนอแนะโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน
“เศรษฐกิจหมุนเวียน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขจัดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าและวัตถุดิบที่ใช้แล้วหมดไป แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ลดมลภาวะและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ในหลายประเทศยังใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยมุ่งสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจตัวกลางผู้จัดหาและค้าวัตถุดิบใช้แล้ว ธุรกิจให้เช่าสินค้าและบริการ เป็นต้น ทั้งนี้ ในการหารือเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคการพัฒนาเมืองและการท่องเที่ยว ที่ประชุมได้มีความสนใจร่วมกันในเรื่อง “การจัดการขยะ” โดยการวิจัยและนวัตกรรมนอกจากจะมาช่วยเสริมให้เกิดระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาองค์ความรู้ คู่มือสำหรับภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการจัดทำดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางการเงินและการระดมทุนอีกด้วย” ดร.สุรชัย กล่าว
ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคเกษตรและอาหาร ได้เชิญทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา มาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมองว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการทำงานร่วมกันในหลายมิติ เช่น การวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะในเรื่องของ Zero Waste ที่จะนำรายได้กลับสู่ภาคเกษตรกร เอสเอ็มอี ได้อย่างไร การบริหารจัดการ ตลอดจนการปลดล็อคกฎหมายกากอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญมาก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้เดินหน้าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อตอบโจทย์ภาคเอกชน เอสเอ็มอีและประชาชน เพื่อลดจำนวนของเสีย และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า หากมีการจัดซื้อจัดจ้างครอบคลุม นโยบายนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีมากขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญและท้าทายมากคือเรื่องของบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่ควรจะย่อยสลายได้หรือจัดการรูปแบบเดียวกับขยะอาหารได้ด้วยเช่นเดียวกัน อีกสิ่งที่น่าสนในคือ ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า การจะตั้งเป้าหมายเพื่อให้การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้เกิดผลต้องรู้ก่อนว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหน และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าเราต้องไปถึงจุดไหนและทำอย่างไร ภาครัฐเองก็ต้องเป็นเรี่ยวแรงสำคัญคือผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ผลจากการหารือการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน สอวช. จะรวบรวมเพื่อนำมาวิเคราะห์โอกาส ความท้าทายและช่องว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนด ทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับประเทศ และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ประกอบไปด้วยกลไก โครงสร้างพื้นฐาน หรือระบบนิเวศน์ที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนข้อเสนอด้านการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้และบุคคลากรที่พร้อมรองรับการเติบโตของกิจกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยต่อไป