รายอฮัจยี...ภาพชีวิตวิถีมุสลิมที่ชายแดนใต้
11 ส.ค.62 ตรงกับวันฮารีรายออิดิ้ลอัฎฮา...
หลายคนที่ไม่ใช่มุสลิมอาจสงสัยว่า วันรายอชื่อยาวๆ นี้่หมายถึงอะไร
วันรายออิดิ้ลอัฎฮา คือ 1 ใน 2 วันตรุษของอิสลาม เป็นวันสิ้นสุดการประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครมักกะห์ (เมกกะ) ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยผู้ที่ไม่ได้เดินทางประกอบพิธีฮัจย์จะร่วมกันเฉลิมฉลองพร้อมกันทั่วโลก เพื่อถึงความเสียสละของพระศาสดาอิบรอฮีม ศาสดาองค์ที่ 6 ของอิสลาม
พิธีฮัจย์เริ่มต้นขึ้นในยุคสมัยของท่าน เมื่อ 1,900 ปีก่อนคริสตกาล หรือราว 3,919 ปีมาแล้ว พิธีฮัจย์จึงถือเป็นพิธีกรรมที่เก่าแก่ที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติที่ยังคงปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน บางคนเรียกว่า "รายอฮัจยี" พิธีกรรมสำคัญสำหรับรายอนี้ คือ "เชือดสัตว์พลีทาน" หรือ การทำ "กุรบาน"
วันรายอฮัจยีจะมีขึ้นหลังจากวันฮารีรายออีดิ้ลฟิตรี (เฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด) เป็นเวลา 2 เดือนกับ 10 วัน ซึ่งจะตรงกับช่วงเวลาที่มุสลิมทั่วโลกเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์นั่นเอง
ตั้งแต่เช้าของวันฮารีรายออีดิ้ลอัฎฮาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พี่น้องมุสลิมพร้อมใจกันไปประกอบพิธีละหมาดตามมัสยิดในชุมชน และมัสยิดกลางของแต่ละจังหวัด หรือสถานที่ที่ตระเตรียมไว้ โดยภายหลังการละหมาด จะมีการฟังคุตบะห์ (ฟังธรรมเทศนา)
อย่างที่ที่ดินวากัฟ (บริจาค) ศูนย์อิสลามฯ มะดีนะตุสลาม (ปัตตานีจายา) องค์กรบริหารส่วนจังหวัดปัตตานีและมูลนิธิมะดีนะตุสลาได้่จัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับพี่น้องมุสลิมที่ไปละหมาดร่วมกันนับพันคน หลังเสร็จพิะจะมีการให้สลามและขออภัยต่อกันในสิ่งที่ได้ล่วงละเมิด พร้อมแจกเงินให้กับเด็กๆ รวมถึงผู้ยากไร้ จากนั้นจะพาครอบครัวเดินทางไปสุสาน (กุโบร์) เพื่อรำลึกถึงคนในครอบครัวและญาติที่จากไปแล้ว
รายอฮัจยีโดยปกติจะมีระยะเวลา 3 วัน คือวันรายอแรก และอีก 2 วันจากนั้นเป็นช่วงของการออกไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง มีการเชือดสัตว์พลีทาน หรือการทำกุรบาน ซึ่งเป็นการฆ่าสัตว์ วัว ควาย แพะ หรือแกะ เพื่อทำทาน โดยเนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดจะนำไปขายไม่ได้ แต่ต้องนำเนื้อไปบริจาคเป็นทานแก่คนยากไร้และเพื่อนบ้าน ใครไปเยี่ยมบ้านใครช่วงเวลานี้มักได้รับประทาน "เนื้อ" เป็นเมนูหลักเกือบทุกบ้าน
ปีนี้ที่ชายแดนใต้มีการรณรงค์ไม่โพสต์ภาพหรือวีดีโอการเชือดสัตว์กุรบ่านด้วย