กสม.แนะสื่อท้องถิ่นข้ามข้อจำกัด ปรับแนวข่าวสนองชุมชน ให้ชาวบ้านรู้เท่าทัน
เครือข่าย นสพ.อีสาน ถกความอยู่รอดสื่อท้องถิ่น มีข้อจำกัดทั้งอิทธิพล-ทุน สื่อหลัก-สื่อใหม่รุก หมอนิรันดร์แนะปรับแนวเสนอข่าว เน้นความจริง-ความดี-ความงาม ของชุมชน
วันที่ 28 พ.ย.53 ที่โรงแรมเจริญโฮเต็ล จ.อุดรธานี สถาอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน จัดสัมมนาวิชาการ “หนังสือพิมพ์กับการนำเสนอข่าวที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน” โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อท้องถิ่นที่มีอุดมการณ์ค่อนข้างอยู่ลำบาก มักถูกกดดันด้วยทุนและอำนาจ และจำนวนคนอ่านน้อยลงเพราะการเข้ามาของสื่อใหม่ เช่น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ และการแข่งขันกับสื่อส่วนกลาง เพื่อฝ่าพ้นข้อจำกัดดังกล่าว จึงต้องสร้างความแตกต่างในการนำเสนอข่าวสาร โดยใช้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นเข็มทิศนำทาง
นพ.นิรันดร์ มีข้อเสนอ 3 อย่างต่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในการนำเสนอข่าวที่ตอบสนองต่อชุมชน 1.ต้องให้ความจริงหรือข้อมูลเชิงลึกไม่ใช่การรอจากส่วนกลางอย่างเดียว เพราะเนื้อหาอยู่ที่ชุมชน สื่อในพื้นที่ต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดเบื้องลึกตรงนั้นออกมาให้ได้ 2.เนื้อหาที่นำเสนอต้องมีความถูกต้องและชอบธรรม อิงประโยชน์ชุมชนมากกว่าเป็นเพียงกระบอกเสียงให้หน่วยงานรัฐหรือภาคธุรกิจ 3.การนำเสนอความงามของชุมชนท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ซึ่งส่วนกลางไม่มีทางรู้และเป็นวิธีคิดที่จะทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“อย่างกรณีเสื้อแดงข่าวที่ได้จริงเท็จอย่างไร เนื้อหาอยู่ที่ท้องถิ่นหมด ส่วนกลางเสนอว่าคนเผาศาลากลางเป็นแกนนำ แต่คนในพื้นที่รู้ว่าเป็นแค่ผู้ชุมนุมซ้ำยังเป็นคนจน ข้อมูลเหล่านี้คนนอกไม่มีทางรู้ถ้าสื่อท้องถิ่นไม่เจาะ หรือประเด็นเหมืองแร่โปรแตสที่อุดร ส่วนกลางเสนอแค่ว่าชาวบ้านค้านโครงการต่อต้าน แต่ท้องถิ่นรู้ดีว่าชาวบ้านเพียงต้องการปกป้องสิทธิชุมชน”
กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวอีกว่า สื่อท้องถิ่นต้องสร้างอัตลักษณ์ตัวตน โดยเน้นการนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน ทั้งนี้ความเป็นชุมชนไม่สามารถมองแยกส่วนได้ สื่อจึงต้องนำเสนอให้เห็นภาพรวมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มุ่งสะท้อนต้นตอปัญหา และทำให้ชาวบ้านรู้เท่าทัน จึงจะเป็นข้อจำกัดให้สื่อท้องถิ่นอยู่รอดได้อย่างทรนง
“หนังสือพิมพ์ต้องเป็นมากกว่าเศษกระดาษที่อ่านจบขยำทิ้ง สิ่งที่จะทำให้มากกว่านั้นคือนำเสนอความจริง ความดี ความงาม ทำให้เนื้อหามีมากกว่าข้อมูล ทำให้ผู้อ่านเกิดปัญญา แต่ถ้าทำไม่ได้จะเกิดอวิชชาที่สร้างผลกระทบให้สังคม” นพ.นิรันดร์ กล่าว
นายสมศักดิ์ ถนัดช่าง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาคม จ.อุดรธานี กล่าวถึงความอ่อนไหวในการนำเสนอข่าวเชิงพื้นที่ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความขัดแย้งทางการเมืองค่อนข้างมาก การทำข่าวต้องระมัดระวังสูง ประกอบกับข้อจำกัดของสื่อท้องถิ่นที่มีอำนาจและทุนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อยู่รอดได้ การเจาะข่าวหรือเข้าถึงพื้นที่ยังต้องดูบริบทเพราะแม้จะมีการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่เชิงพื้นที่ไม่ได้รับการคุ้มกันอย่างดีเท่าที่ควร
นายสมศักดิ์ รัฐเสรี เครือข่ายสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงความอยู่รอดของสื่อต่อผลกระทบการนำเสนอข่าวว่า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยังอยู่แบบไม่มั่นคงพอที่จะแสดงศักยภาพทางสังคมได้มากนัก ยังต้องพึ่งพิงผู้สนับสนุน และเพียงรายได้จากการขายข่าวของนักข่าวไม่พอที่จะอยู่รรอด อย่างไรก็ตามโจทย์ที่ต้องตอบคำถามสังคมขณะนี้คือทำอย่างไรให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมีตัวตนที่มั่นคง สามารถเป็นกระบอกเสียง เป็นที่พึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง
นายสราวุฒน์ สุดสงวน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยนิยม จ.นครพนม กล่าวว่า ชุมชนเป็นแหล่งข่าวสำคัญ แต่การนำเสนอปากคำชาวบ้านที่เป็นประเด็นอ่อนไหวยากพอสมควร เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้สื่อท้องถิ่นมีข้อมูลเบื้องลึกเพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และลักษณะดังกล่าวก็มักได้รับการตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี แต่ในแง่ของการปฏิบัติทำได้ค่อนข้างน้อยอยู่ เนื่องจากข้อจำกัดข้างต้น .