ย้อนจม.ประสาร ถึงอ.ป๋วย ว่าด้วยความอิสระ ธปท. ก่อน 'สมคิด' สั่งตั้งกก.ดูแลค่าเงินบาท
"...คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธปท. เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐที่จะต้องช่วยกันดูแลให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ ธปท. จึงไม่สามารถป็นอิสระจากรัฐบาลได้ทั้งหมด เช่น การดำเนินนโยบายการเงิน กฎหมายวางหลักไว้ค่อนข้างดีว่า ช่วงปลายปี กนง. ต้องเสนอเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินผ่าน รมต.คลังไปยังรัฐบาล หมายความว่า รัฐบาลมีอำนาจจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ธปท. ไม่ได้เป็นอิสระจากรัฐบาลทั้ง 100%..."
กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกกล่าวถึงในแวดวงการเงินและธนาคารขึ้นมาทันที
เมื่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงแนวทางการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป ระหว่างการชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูง ที่อิมแพ็คฟอรัม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา
นายสมคิด กล่าวว่า เรื่องของค่าเงินบาท แข็งเกินไป เมื่อแข็งเกินไปการที่นักลงทุนเขาจะมาลงทุนเพื่อส่งออกเขาก็บอกว่าส่งออกแล้วต้องขาดทุนแล้วจะให้เขามาลงทุนได้อย่างไร ก็พยายามบอกเขาว่าเราพยายามดูแลอยู่ แต่ในภาวะข้างหน้าที่มีความผันผวนทั้งภายในและต่างประเทศ ตรงนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการใกล้ชิดระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อทำให้นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังไปด้วยกัน ปรึกษาหารือกันใกล้ชิด ไม่ใช่ต่างคนต่างไป
“จะบอกว่าผมอิสระ เมืองไทยไม่มีแล้วอิสระ ฉะนั้นการเงินการคลังมันต้องไปด้วยกัน มือซ้ายกับมือขวาต้องไปด้วยกัน จะมีการตั้งคณะกรรมการนี้เร็วๆนี้ และทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันแล้ว” นายสมคิด ระบุ (อ้างอิงข้อมูลข่าวส่วนนี้จาก https://www.thansettakij.com/content/406823)
หลังการเปิดเผยแนวทางการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังดังกล่าวจบลง
ดูเหมือนว่า ธปท. จะตกเป็นเป้าสายตาที่ถูกจับตามองมากที่สุด จากแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ของ นายสมคิด ดังกล่าว
เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ธปท. เป็นหน่วยงานที่ยึดถือนโยบายเรื่องความอิสระในการทำงาน มาแต่ไหนแต่ไร
นัยยะ ความอิสระในการบริหารงาน ที่ นายสมคิด ต้องการสื่อถึงเพื่อเลิก และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คงเป็นหน่วยงานไหนไม่ได้ นอกจาก ธปท. เท่านั้น
ทั้งนี้ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องความอิสระ ของ ธปท. และการประสานงานนโยบายกับรัฐบาลในบางช่วง นั้น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าฯ ธปท. เคยเขียนถึงไว้ใน “จดหมายจากใจถึงอาจารย์ป๋วย... ศาสตร์และศิลป์บนเส้นทางของ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นการรวบรวมบทความที่เขียนในรูปจดหมาย 20 ฉบับ บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของธนาคารกลาง รวมทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงปี 2553-2558
โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้
ผมคิดถึงที่อาจารย์เคยพูดเปรียบไว้ว่า รัฐบาลกับธนาคารกลางก็เหมือนสามีกับภรรยา หากมีปัญหาก็ควรปรับความเข้าใจกันในบ้าน การจะว่ากล่าวกันให้ชาวบ้านฟังนั้นไม่ใช่วิสัยที่ดี และถึงที่สุดแล้ว
"ถ้าเราไม่สามารถที่จะเกลี้ยกล่อมท่านได้ หน้าที่ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะด้อยลงไป ความรับผิดชอบและประโยชน์ที่เราจะทำให้ก็จะเสียหายไปเช่นเดียวกัน"
อาจารย์ครับ หลายครั้งมีคนถามผมถึงความเห็นเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง
ผมชี้แจงว่า อิสระเป็นคำที่ผมระมัดระวัง จริงๆ แล้วไม่ค่อยจะชอบใช้ เพราะต้องอาศัยความเข้าใจ ความหมาย และบ่อยครั้งคำนี้ทำให้รู้สึกเราถูกเขาผิด ซึ่งในโลกแห่งความจริงไม่เป็นอย่างนั้น
บางครั้ง เราถูก เขาผิด บางครั้ง เราผิด เขาถูก
รากฐานที่จะนำมาสู่ความเป็นอิสระ ผมคิดว่าประกอบด้วย 2ส่วน คือ "ทำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ"
โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักจะให้น้ำหนักเฉพาะส่วนหลัง ก็คือ "เราไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ"
หมายความว่า ถ้าเราเห็นว่าเขาทำผิดเราต้องทัดทานและไม่ยอมให้เขาบังคับให้เราทำในสิ่งที่ผิด ซึ่งจะว่าไปก็ใช่
แต่นี่เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของเรื่อง
อีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องไม่มี ego ไม่ดื้อ คือ หากสิ่งที่เราทำหรือเชื่อ ต่อมาเห็นว่า "อาจไม่ถูกต้อง" เราต้องไม่ดื้อและเปลี่ยนมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง จึงเรียกว่า "ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ"
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธปท. เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐที่จะต้องช่วยกันดูแลให้ประเทศก้าวหน้าไปได้
ธปท. จึงไม่สามารถป็นอิสระจากรัฐบาลได้ทั้งหมด เช่น การดำเนินนโยบายการเงิน กฎหมายวางหลักไว้ค่อนข้างดีว่า ช่วงปลายปี กนง. ต้องเสนอเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินผ่าน รมต.คลังไปยังรัฐบาล
หมายความว่า รัฐบาลมีอำนาจจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ
ธปท. ไม่ได้เป็นอิสระจากรัฐบาลทั้ง 100%
เมื่อรัฐบาลอนุมัติเป้าหมาย ธปท. ก็รับเป้าหมายนั้นมาดำเนินการในระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วยเครื่องมือที่เห็นว่าเหมาะสม
ส่วนหลังนี้กฎหมายให้ ธปท. สามารถดำเนินงานได้อิสระ คือ มี Operational Independence ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลที่ธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินงาน
ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อกล่าวคือ
(1)จำเป็นต้องแยกคนพิมพ์แบงก์ออกจากคนใช้เงิน
(2)การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อผลระยะสั้นอาจก่อผลเสียระยะยาว
และ (3)บ่อยครั้งธนาคารกลางมักต้องทำเรื่องที่ไม่ popula
แต่อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าข้อกฎหมายอย่างเดียวไม่พอท้ายที่สุดต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากประชาชน
กล่าว คือ การเมืองไม่กลัว ธปท.แต่เขากลัวประชาชน
ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ธปท.ต้องดำรงสถานะให้น่าเชื่อถือ ให้ประชาชนมีความไว้วางใจ
ธปท.ต้องมีธรรมาภิบาลในการทำงาน ต้องโปร่งใสสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลให้ ประชาชนทราบ ซึ่งผมคิดว่าค่านิยม 4 ขอยืนตรงมองไกล ยื่นมือ ติดดิน เป็นวิธีที่จะช่วยให้ประชาชนไว้ใจ ธปท. Public Office is a Pubtic Trust
ทั้งหมดนี้ คือ หัวใจ
----------------
บทความเรื่องนี้ ของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ถูกเขียนไว้นานหลายปีแล้ว
แต่ทันทีที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงแนวทางการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป และมีการพาดพิงถึงเรื่องความเป็นอิสระในการบริหารงานดังกล่าว
บทความเรื่องนี้ ของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าฯ ธปท. จึงกลับมาเป็นที่สนใจของคน ธปท. อีกครั้ง ในห้วงเวลานี้
พร้อมกับคำถามค้างคาใจว่า นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯ ธปท. คนปัจจุบัน จะตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรต่อไป
ภายใต้บรรทัดฐาน ความอิสระในการบริหารงาน ของ ธปท. ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยทำให้ ธปท. ดำรงสถานะแห่งความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/