หนึ่ง-จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ 'คนพูดว่าเป็นเจ้าพ่อขยะ แต่ผมได้จากประมูลนะ ไม่ได้ล็อบบี้ใครมา'
"...เราเองทำงานด้านนี้มากว่า 30 ปี คนทั่วไปมองว่าเราเป็น “เจ้าพ่อขยะ” จะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเจ้าพ่อด้านการกำจัดขยะก็คงไม่ได้ แต่ว่าเจ้าพ่อในความหมาย คือ เราไม่ได้ใช้อิทธิพลในการได้งานมา ...ผมได้มาจากการประมูลนะ ..ไม่ได้ลอบบี้ใครมา..."
ตระกูลการเมือง จ.นครปฐม ไม่มีใครไม่รู้จัก ตระกูลสะสมทรัพย์ จากประเสริฐ-สุนีย์ สะสมทรัพย์ สู่รุ่นที่สอง ไชยยศ-ไชยา-เผดิมชัย-อนุชา 3 ใน 4 คน ผ่านการเป็นรัฐมนตรี ขณะที่ อนุชา เคยเป็น ส.ส. ปัจจุบันตระกูลสะสมทรัพย์ จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ หรือ หนึ่ง บุตรชายคนโตของ 'ไชยา' เข้ามารับไม้สานต่อธุรกิจ โหน่ง-ภาณุวัฒน์ สะสมทรัพย์ น้องชายเป็น ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา
ปัจจุบันมีพอร์ตธุรกิจในเครืออย่างน้อย 15 บริษัท เฉพาะ นายจิรวัฒน์ เป็นกรรมการ มีทั้งสิ้น 12 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทุ่งบัว เพาเวอร์ จำกัด บริษัท เครน รีนิวเอเบิล เอ็นเนอยี จำกัด บริษัท ซีนิท กรีน เอ็นเนอยี จำกัด บริษัท บางกอก กรีนเพาเวอร์ จำกัด บริษัท เวสต์ 4 พาวเวอร์ จำกัด บริษัท สี่มุม พาวเวอร์ จำกัด บริษัท กลุ่ม 15 จำกัด บริษัท ทุ่งบัว ยูทิลิตี้ จำกัด บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด บริษัท เจ็ด แปด เก้า จำกัด บริษัท วัสดุภัณฑ์ทุ่งบัว จำกัด และ บริษัท วัสดุภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือธุรกิจกำจัดขยะ อสังหาริมทรัพย์ (สนามกอล์ฟ) และ พลังงาน
ธุรกิจรับกำจัดขยะ อยู่ในอันดับต้น บริษัท วัสดุภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด เป็นคู่สัญญา กับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543 จนถึงสัญญาล่าสุดปี 2557 อย่างน้อย 4 สัญญา มูลค่ารวม 8.8 พันล้านบาท สัญญาล่าสุดยาวนานถึง 10 ปี จะสิ้นสุดปี 2567 เป็นเงินกว่า 4.4 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ช่วงปี 2543-2556 บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด บริษัทในเครือเป็นคู่สัญญา กทม. ในการกำจัดขยะอีก 3 สัญญา รวมมูลค่ากว่า 7.5 พันล้านบาท
ยอดรวมทั้ง 2 บริษัท เป็นเงินกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท
ในช่วงที่ผ่านมา 'จิรวัฒน์' โลว์โพรไฟล์ แทบไม่ปรากฏชื่อเป็นข่าว ออกงานบ้างในระยะหลัง ช่วงสายวันที่ 2 ส.ค.2562 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีนัดกับทายาทคนโตของ'ไชยา' ณ บ้านพักใน จ.นครปฐม สอบถามทั้งเรื่องการงานและการเมือง
เนื้อหาสาระมีในบรรทัดถัดไป
สำนักข่าวอิศรา : ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปและธุรกิจที่ทำอยู่
จิรวัฒน์ : ผมเป็นคนนครปฐมโดยกำเนิด จบการศึกษาที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศจนจบปริญญาตรี และกลับมาทำงานกับครอบครัว ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการกำจัดขยะมาตั้งแต่ผมยังเด็ก โดยรับงานจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นหลัก จนถึงปัจจุบัน ผ่านยุคผู้ว่าราชการ กทม. มาหลายคนเริ่มตั้งแต่ผู้ว่าฯ รอ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา นายพิจิตต รัตตกุล นายสมัคร สุนทรเวช นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จนมาถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
การทำงานส่วนใหญ่ก็เป็นวิธีการยื่นประมูลเสนอราคา กทม. เปิดให้เอกชนเข้าไปประมูล เราเองเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมแข่งขัน สัญญาล่าสุดที่บริษัททำสัญญา คือ สมัย มรว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ ส่วนรูปแบบการประมูลนั้นแตกต่างกันไปตามแต่รูปแบบการบริหารของผู้ว่าในยุคนั้น สัญญาครั้งละ 3-4 ปี หรือยาวนานถึง 10 ปี ต่อหนึ่งสัญญาก็มี
ส่วนวิธีการกำจัดขยะของบริษัท คือ การนำขยะมาฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะ อธิบายคือ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าวิธีนี้คือการ นำขยะมากองรวมเป็นภูเขา ดังที่เห็นในอ่อนนุช หรือหนองแขม นั่นไม่ได้เรียกวิธีการกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบ แต่เรียกว่า แบบโอเพ่นดั้มหรือการเทกอง
ด้วยกฎหมายและเทคโนโลยีต่างๆ ในปัจจุบัน จำเป็นจะต้องมีกรรมวิธีในการกำจัด ก่อนที่จะเข้าร่วมการประมูล เราต้องศึกษาทั้ง สภาพพื้นดิน อุทกธรณีวิทยา นอกเหนือจากนั้น หลังจากมีการขุดบ่อแล้ว ต้องอัดด้วยดินเหนียว และใช้แผ่นพลาสติกที่ทนการกัดกร่อนของสารเคมี ร่วมถึงแผ่นใยสังเคราะห์ปูรอง เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำเสียลงสู่ชั้นใต้ดิน อีกทั้ง มีการเจาะบ่อสังเกตการณ์ในชั้นใต้ดิน ตั้งแต่ต้นน้ำแล้วท้ายน้ำตามแต่ทิศทางการไหลของน้ำที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบว่า ก่อนจะผ่านไซต์งานขยะ คุณภาพน้ำเป็นอย่างไร และเมื่อผ่านไซต์งานไปแล้วคุณภาพน้ำเป็นอย่างไร โดยผลลัพธ์คุณภาพน้ำต้องไม่แตกต่างกัน เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า บ่อขยะนั้นได้มีการรั่วไหลของน้ำลงสู่ชั้นใต้ดินหรือไม่
เราเองทำงานด้านนี้มากว่า 30 ปี คนทั่วไปมองว่าเราเป็น “เจ้าพ่อขยะ” จะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเจ้าพ่อด้านการกำจัดขยะก็คงไม่ได้ แต่ว่าเจ้าพ่อในความหมาย คือ เราไม่ได้ใช้อิทธิพลในการได้งานมา
เรียนตามตรงว่า ในครอบครัวมีคุณลุง คุณพ่อ เป็นนักการเมืองด้วย เพราะฉะนั้น การเมืองจะมีเรื่องของฝ่ายเรา ฝ่ายตรงข้าม แต่เราทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หลายคน ที่ทั้งฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายตรงข้าม ก็ทำมาหมดแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่ขั้วการเมืองตรงข้ามด้วยซ้ำไป
คำว่าเจ้าพ่อของผมจึงหมายถึงว่า เราต้องยอมรับว่าเราได้เปรียบคนอื่นในแง่ของธุรกิจเพราะ เราทำมาก่อน และเรามีหลายสิ่งหลายอย่างที่นำหน้ามากกว่าคนอื่น ยกตัวอย่าง เช่น ข้อกำหนดของสัญญาไม่ได้กำหนดว่า บริษัทจะต้องมีมาตรฐาน ISO แต่บริษัทเราก็ทำ เพราะว่า ขยะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยตรง ฉะนั้น คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่หรือชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่จะสบายใจได้อย่างไร ถ้าบริษัทไม่ได้ให้ความใส่ใจในเรื่องพวกนี้ สิ่งที่เราทำจึงกล่าวได้ว่า สูงกว่าข้อกำหนดที่สัญญาระบุไว้ เพื่อต้องการให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบสบายใจ
เราเองอาจจะเป็นบริษัทเดียวในพื้นที่ ที่ชาวบ้านให้การต้อนรับมาตลอด ไม่เคยมีสักครั้งเลยที่ชาวบ้านบอกว่า ไม่อยากได้ไซต์งานขยะของบริษัทอยู่ในพื้นที่ ตรงกันข้ามในหลายพื้นที่อยากให้เราไปทำงาน เพราะนโยบายหลักของบริษัทคือ ทุกครั้งที่ไปทำงาน บริษัทจะรับสมัครคนในพื้นที่มาทำงาน ฉะนั้นพนักงานในไซต์งานร่วม 400 คน จะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ 90% นอกเสียจากบางตำแหน่ง เช่น ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม หรือวิศวกรรมโยธา หากหาในพื้นที่ไม่ได้ก็จำเป็นที่เราต้องหามาจากที่อื่น แต่ในระดับปฏิบัติการใช้คนในพื้นที่เกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ บริษัทได้สนับสนุนงบประมาณปีละประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในเขตอำเภอที่บริษัททำงานอยู่ เข้าร่วมแข่งขันกีฬา โดยใช้ชื่อโครงการว่า กีฬาต้านยาเสพติด สืบเนื่องมาจากหลายปีที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องยาเสพติดระบาดหนัก ในฐานะเอกชนผู้ประกอบการ จึงอยากจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่เข้ามาแข่งขันกีฬา โดยกีฬาที่เลือกคือ ฟุตบอล เพราะใช้จำนวนคนเยอะในแต่ละครั้ง ในหนึ่งทีมอาจจะมีถึง 30 คน ในพื้นที่ อ.กำแพงแสน มีทั้งหมด 15 ตำบล กับ 1 เทศบาล จัดได้ตำบลละ 2 ทีม บริษัทจัดหาชุดกีฬา ลูกฟุตบอล และเงินบำรุงทีมให้ และให้ผู้ใหญ่ในตำบล อาจจะเป็นผู้บริหารหน่วยงานท้องถิ่น กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ก็แล้วแต่ วันแข่งบริษัทจัดหาสนามแข่งและกรรมการให้ แต่มีเงื่อนไขคือ ก่อนแข่งขันจะต้องมีการตรวจหาสารเสพติด ถ้าตรวจพบวันเริ่มต้นแข่งไม่เป็นอะไร หากแข่งขันชนะได้รางวัล แต่ตรวจเจอสารเสพติดจะถูกตัดสิทธิ์ทั้งทีม เราไม่สามารถดูแลเยาวชนได้ทั่วถึงทุกคน วิธีที่ดีที่สุดคือปล่อยให้พวกเขาดูแลกันเอง เราไม่มีทางรู้ดีกว่าบรรดาเพื่อนด้วยกันว่าใครเสพหรือไม่เสพ
บริษัททำต่อเนื่องเช่นนี้มาสิบกว่าปี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง มาช่วงหลังได้ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่อำเภอเป็นผู้ดูแลโครงการ โดยที่บริษัทยังสนับสนุนงบประมาณในการจัดการต่อเนื่องทุกปี
ข้อสงสัยอย่างหนึ่งที่หลายคนสงสัยคือ ทำไมไม่ค่อยให้คนเข้าไปในไซต์งานขยะ เหตุเพราะว่า มีรถขนาดใหญ่เท่ากับรถที่ใช้งานในเหมืองใช้งานอยู่ และที่นั่งคนขับจะเบี่ยงมาอยู่ทางซ้าย หากมีคนวิ่งเข้ามาทางขวาจะไม่สามารถมองเห็นได้ รถเหล่านี้สามารถวิ่งเหยียบรถยนต์โดยที่คนขับไม่ได้รู้สึกตัวเลย ซึ่งเหตุเคยเกิดมาแล้ว นอกเหนือจากนั้น ยังมีรถขนาดใหญ่ทำงานอีกมากมาย การที่เข้าไปโดยไม่แจ้งจะทำให้เกิดอันตรายได้
ต่อมา บริษัทได้มีข้อกำหนดใหม่ว่า ทุกวันเสาร์ในสัปดาห์ที่สองของแต่ละเดือนเดือน จัดเป็นงานเสาร์สุขภาพ คือ เชิญผู้นำที่อยู่ในพื้นที่ เริ่มไปทีละตำบลมาเป็นประธาน และเชิญชาวบ้านมาเดินดูในไซต์งานร่วมกับพนักงานของบริษัท สงสัยอะไรสามารถถามได้ ทำต่อเนื่องติดต่อกันมาร่วมสิบปี อีกทั้ง ยังมีการให้ทุนการศึกษาสำหรับครับครับที่อยู่บริเวณรอบไซต์งานขยะ ครอบครัวละ 2 ทุน
อีกประการหนึ่งที่หลายคนไม่เข้าใจเกี่ยวกับขยะ คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผลิตผลทางการเกษตรมหาศาล ฉะนั้น ขยะของประเทศไทยเรียกว่าจะเป็นออแกนิกเยอะ ขยะพวกนี้จะย่อยสลายเร็ว ไม่ได้มาเก็บขยะแต่สองวันก็มีกลิ่นเหม็นแล้ว เหม็นตั้งแต่ก่อนเข้ามาที่บริษัทด้วยซ้ำ แต่ถึงอย่างไรต้องทำให้กระทบกระเทือนคนที่อยู่โดยรอบให้น้อยที่สุด โดยการฝังกลบให้เร็วที่สุดเมื่อขยะมาถึง
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ตามมาคือ น้ำเสีย เนื่องจาก ขยะหนึ่งกิโลกรัม จะประกอบไปด้วยเนื้อขยะ 500 กรัม น้ำเสียจากขยะอีก 500 กรัม ความหมายคือ เมื่อจัดการขยะแล้ว แต่ไม่ได้บริหารจัดการน้ำให้ดี ก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
ภาพจาก : ไทยรัฐออนไลน์
บริษัทเราเองได้พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย ผ่านทดลองมาหลายรูปแบบ โดยก่อนหน้านี้ ใช้คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียให้ จึงทำให้เชื่อถือได้ว่าระบบถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่เวลาผ่านไป เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเรื่อย และบังเอิญว่าน้องชายคนเล็กจบการศึกษาด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จึงให้ชวนเพื่อนที่เรียนด้วยกันเข้ามาทำงาน นอกจากนั้น ยังเชิญคณะอาจารย์ที่สอนมาเป็นที่ปรึกษา และให้ทุนวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการบำบัดน้ำเสีย จนท้ายที่สุดวิธีการที่เลือกใช้คือ วิธีการแบบ อาโอ (RO : Reverse Osmosis) ฉะนั้น น้ำเสียที่บำบัดออกไป มาตรฐานไม่ใช่แค่น้ำใช้หรือน้ำทิ้งเท่านั้น แต่แทบจะเป็นน้ำดื่มได้
ภาพจาก : ไทยพับลิก้า
หากถามว่าคุ้มค่าไหม ในแง่ธุรกิจไม่คุ้มค่าแน่นอน ต้นทุนสูงกว่าวิธีการเดิมที่ใช้อยู่ แต่สิ่งที่คุ้มค่าคือ ใช้พื้นที่น้อยลง แต่เดิมเฉพาะน้ำเสียที่เกิดจากขยะจะต้องใช้พื้นที่กว่า 200 ไร่ ในการรองรับและบำบัด แต่ปัจจุบัน ที่บำบัดน้ำใช้พื้นที่ไม่ถึง 30 ไร่เท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว พื้นที่ที่ใช้ฝังกลบขยะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยไม่ต้องไปรบกวนที่ดินเพิ่มเติม ตรงนี้จะตอบคำถามให้กับคนที่สงสัยได้ดีที่สุดว่า การฝังกลบเปลืองที่ดิน หรือไม่ ที่จะบอกคือ ไม่ได้เปลืองที่ดินไปมากกว่านี้แล้ว เรามีที่ดินเพียงพอที่จะทำหมุนเวียนโดยไม่ได้ไปรบกวนที่ดินอื่นเพิ่มเติม
ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 เสด็จมาที่งานเกษตรกำแพงแสน ในปีนั้น บริษัทได้ร่วมกับ ม.เกษตรฯ ทำโครงการวิจัยก๊าซที่เกิดจากขยะ กล่าวคือ ขยะเวลาที่เกิดการย่อยสลาย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือก๊าซหลายชนิด ที่มีปริมาณเยอะ คือ มีเทนและก๊าซหุงต้ม พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 ตรัสว่า เรื่องนี้น่าสนใจทำไมไม่ลองดูดก๊าซนั้นกลับมาใช้ ต่อมา บริษัทจึงได้ร่วมกับ ม.เกษตรฯ โดยบริษัทสนับสนุนเรื่องเงินทุนและพื้นที่ส่วนหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 พระราชทานเงิน 1 ล้านบาท ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา จนทดลองสามารถดูดก๊าซจากขยะที่เกิดในไซต์งานของบริษัท นำเข้าเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าและขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เป็นผลสำเร็จ
สำนักข่าวอิศรา : นี่คือการต่อยอดธุรกิจขยะไปสู่ธุรกิจพลังงาน?
จิรวัฒน์ : จะว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่ต้องเรียนอย่างนี้ว่า จ.นครปฐม เลี้ยงหมูมานาน มูลสามารถนำมาหมักให้เกิดก๊าซและนำไปปั่นไฟได้ ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าทำได้ แก๊สที่เกิดจากขยะก็เช่นกัน แต่อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคนในการที่จะรวบรวมในปริมาณมากมาผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถทำได้แต่ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ แต่ในช่วงเวลาหนึ่ง สมัย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปสูงมาก ทั่วโลกประสบปัญหาเดียวกัน ทำให้ทุกรัฐบาลทั่วโลกหันกลับมาสนใจเรื่องพลังงานทดแทนอีกครั้ง ทำให้เกิดการสนับสนุนให้เอกชนทำเรื่องพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็น กังหันพลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์ และก๊าซจากขยะก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยใครผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เท่าไร รัฐบาลสนับสนุนเงินอีกส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือ เพราะรัฐบาลรู้ดีว่า พลังงานทดแทนไม่มีกำไร และขาดทุนด้วยซ้ำ จึงได้สนับสนุน คือที่มาว่า หลายคนจึงทำพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับรัฐ ขายเพราะรัฐสนับสนุนให้พอที่จะขายได้กำไร
สำนักข่าวอิศรา : นอกจากธุรกิจกำจัดขยะแล้ว ยังมีธุรกิจสนามกอล์ฟ
จิรวัฒน์ : ที่มาที่ไปคือ ในครอบครัวทั้ง ลุง อา และพ่อ ชอบตีกอล์ฟ และส่วนตัวมีพี่น้องในรุ่นเดียวกันทั้งลูกของลุงและอาแล้ว รวม 15 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 10 คน และผู้หญิง 5 คน โดยผมเป็นคนโตสุด และบังเอิญว่าผู้ชาย 10 คน ชอบตีกอล์ฟทั้งหมด และผู้หญิงบางคนชอบเช่นกัน เรียกว่าสนามกอล์ฟคือความฝันตั้งแต่อดีตของคนชอบตีกอล์ฟที่อยากมีสนามกอล์ฟเป็นของตัวเอง
ต่อมา บังเอิญมีที่ดินแปลงหนึ่งไม่ไกลจากบ้าน เจ้าของที่ดินกำลังจะถูกธนาคารยึดไป เขามาปรึกษาว่าจะหากโดนยึดไปขายทอดตลาดก็ยังไม่หมดหนี้เพราะได้ราคาน้อย จึงมาเสนอขายให้ ด้วยความที่อยากมีสนามกอล์ฟ ก็มองว่าราคามีความเป็นไปได้ จึงตัดสินใจซื้อ
นครปฐมเป็นอีกจังหวัดที่มีสนามกอล์ฟค่อนข้างเยอะประมาณ 5-6 สนาม ส่วนใหญ่เป็นสนามระดับสามดาว และสูงสุดสี่ดาว คิดว่า ถ้าทำสนามที่ราคาถูก ลูกค้าต้องเยอะแน่นอน แต่จะไปแข่งสนามอื่นเป็นว่าไปตัดลูกค้ากัน จึงตัดสินใจว่าทำสนามระดับห้าดาวไปเลย โดยใช้คนไทยในการออกแบบและสร้างทั้งหมด ตามความต้องการของพี่น้องในครอบครัว จนออกมาในรูปแบบเป็นที่น่าพอใจ
สนามกอล์ฟโดยส่วนใหญ่เข้าไปจะเจอลานจอดรถก่อน แต่เราทำกลับกัน สิ่งที่สวยที่สุดคือสนามกอล์ฟ ถมถนนให้สูง กดระดับสนามให้ต่ำ เวลาขับรถเข้าไปเหมือนอยู่สันเขา จะไม่เห็นอะไรนอกจากสนามกอล์ฟสองข้างทาง ขับไปถึงเจอคลับเฮาส์ ส่วนลานจอดรถเอาไปซ่อนไว้หลังสุด
เมื่อลงไปในสนาม บังคับให้ใช้รถทุกคน และให้ออกได้ครั้งละสี่คนเท่านั้น ก๊วนหนึ่งตีออกไป ก๊วนหลังจะไปตีต่อไม่ได้ ต้องรอให้ผ่านไปสิบนาที ก๊วนหลังถึงจะเริ่มตีได้ เพราะฉะนั้น จะไม่เจอเหตุไปติดก๊วนหน้า ก๊วนหลังมาไล่ เพราะแต่ละก๊วนห่างกันสิบนาที
สนามกอล์ฟลงทุนเองทั้งหมด พี่น้องทั้งหมด 15 คน จึงไปตั้งชื่อบริษัทว่า กลุ่ม 15 โดยพี่น้องมาร่วมหุ้นกัน และใช้ชื่อสนามว่า นิกันติ (NIKANTI GOLF CLUB) เป็นภาษาบาลี แปลว่า ความติดข้อง หรือกิเลสอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายถึงกิเลสในเรื่องที่ไม่ดี อธิบายคือ คนที่ชอบนั่งสมาธิหรือทำกรรมฐาน จะเกิดความรู้สึกว่า สว่างไสว เห็นดวงแก้ว เย็นสบาย หรือมีความสุข สิ่งนั้นเองคือ นิกันติ คือความสุขแต่มันคือหนทางที่ทำให้ไม่ตรัสรู้ เป็นกิเลสชนิดหนึ่งที่คุณเข้าไปติดข้องกับมันแล้วคุณก้าวข้ามผ่านมันไปไม่ได้ ถ้าคุณก้าวข้ามมันไปได้จนตรัสรู้ คุณไม่มาตีกอล์ฟกับผมแน่นอน เลยนำมาเป็นแนวคิดของสนาม คือให้คุณมีความสุขกับตัวเอง มีความสุขกับสิ่งที่ทำ
ความแตกต่างต่อมาคือ สนามอื่นโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 คอร์สๆ ละ 9 หลุม รวม 18 หลุม โดยแต่ละคอร์สจะแบ่งเป็น par3 จำนวน 2 หลุม par5 จำนวน 2 หลุม และ par4 จำนวน 5 หลุม แต่สนามนิกันติจะแบ่งเป็น 3 คอร์สๆ ละ 6 หลุม รวม 18 หลุม โดยแต่ละคอร์ส แบ่งเป็น par3 จำนวน 2 หลุม par4 จำนวน 2 หลุม par5 จำนวน 2 หลุม รวมแล้วยังเป็น par72 เหมือนที่อื่น เพียงแต่ว่า เราลด par4 ไปเพิ่ม par3 และ par5 ให้เป็นสัดส่วนที่เท่ากัน
ภาพจาก : นิกันติ กอล์ฟคลับ
สำนักข่าวอิศรา : มีหลักในการบริหารอย่างไร
ปกติจะมีประชุมระดับผู้บริหารสัปดาห์ละครั้ง หลังจากถกเถียงได้ข้อสรุปในที่ประชุม ก็กำหนดเป็นนโยบายลงไปให้ผู้จัดการไซต์งานกำหนดต่อไปที่หัวหน้างาน และทุกคนก็ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนการที่ลงไปเดินร่วมกับพนักงานสัปดาห์ละครั้ง สิ่งที่ได้คือ พนักงานที่ทำงานกับเรา จะได้ไม่รู้สึกว่า เราอยู่ไกลเกินไปจนเขาไม่สามารถเข้าถึงเราได้เลย คาดหวังว่า ทุกครั้งที่ลงไปเดินในไซต์งานร่วมกับพนักงาน อยากให้มีพนักงานเดินเข้ามาเพื่อให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์
บริษัทอาจจะไม่ได้บริหารเหมือนบริษัทใหญ่ หรือบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัว แต่เป็นแบบผสมผสานทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน เป็นครอบครัวแต่ต้องมีหลักการ ไม่ใช่ว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวแล้วจะทำอะไรก็ได้ เช่น สนามกอล์ฟจะมีน้องที่เป็นลูกลุงเป็นผู้ดูแล ผมเองถึงจะเป็นพี่คนโต ถ้าจะไปใช้บริการหรือขอส่วนลดอะไร ก็ต้องขออนุญาตน้องก่อน เพราะเขาเป็นผู้ดูแล อยู่ด้วยความเข้าใจและให้เกียรติกัน แบ่งหน้าที่กันไป
“ทุกวันนี้ คนพูดว่า สะสมทรัพย์เจ้าพ่อขยะ ก็ถูกไม่ได้เถียง ประมูลกี่ทีผมก็ได้ทุกที แต่ผมได้มาจากการประมูลนะ ไม่ได้มาจากการไปล็อบบี้ใครมา โดยเฉพาะการประมูลสมัยนี้ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ทำอะไรแบบนั้นไม่ได้อยูแล้ว ถ้าเราไม่พร้อมจริง ไม่ดีจริงก็ไม่ได้งาน เจ้าพ่อขยะคือ อย่างน้อยเราทำจริงและเราตั้งใจทำ แม้แต่ผู้ว่าจ้างเองลึกๆ ถ้าเขาสามารถเลือกได้ เขาก็คงเลือกเรา เพราะเขารู้ว่าบริษัทนี้ ทำมาตั้งสามสิบปี ไม่เคยมีแม้เรื่องร้องเรียน ไม่เคยสร้างปัญหาให้ผู้ว่าจ้าง ใครจะไม่อยากได้บริษัทนี้” นายจิรวัฒน์ ทิ้งท้าย
เปลี่ยนจากมุมธุรกิจไปสู่โหมดการเมือง ถามว่าวันนี้พร้อม ครอบครัวสนับสนุน? นายจิรวัฒน์ คิดและตอบยอมรับว่า มีความสนใจทางการเมือง แต่จะลงสนามท้องถิ่น
ก่อนจะเข้าประเด็น สำนักข่าวอิศราถามช่วยเล่าให้ฟังกรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกคณะมาตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟของครอบครัว 'จิรวัฒน์' ขยับตัว ไม่ได้ตอบประเด็นนี้ทันที แต่ย้อนไปเล่าเหตุการณ์วันถูกเจ้าหน้าที่บุกค้นบ้าน (ติดตามตอนหน้า)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/