“อานันท์” มอบรางวัลสื่อเพื่อเด็ก-คนวิชาชีพเรียกร้องสำนึกนักข่าวไม่ละเมิดวัยเยาว์
“อานันท์” มอบรางวัลข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก’53 จัดโดยสถาบันอิศรา “ครูยุ่น” ชมสื่อช่วยเด็กเยอะ แต่ยังเผลอละเมิดสิทธิ ประธานจริยธรรมชี้กรมประชาสัมพันธ์เสนอข่าวเด็กน้อย-เนื้อหาไม่โดน กก.บห.สถาบันอิศราชวนผู้บริโภคตรวจสอบสื่อ-เรียกร้องสำนึกนักข่าว
วันที่17 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณ “ข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็กประจำปี 2553” ซึ่งจัดโดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนขององค์กรยูนิเซฟ และยังมีการเสวนา “สิทธิเด็กในสื่อ ภาพสะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา เปิดเผยว่า สถาบันอิศรา ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้จัดการประกวดต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสื่อมวลชนและนักวิชาการด้านสื่อ โดยปีนี้มีสื่อมวลชนแขนงต่างๆ นิสิตนักศึกษา และนักเรียน ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่าปีที่ผ่านมา และได้รับเกียรติจากนายอานันท์ ปันยารชุน ทูตพิเศษองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มาเป็นประธานมอบรางวัล และยังมีการเสวนาสิทธิเด็กด้วย
นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวในการเสวนาว่าสื่อวิทยุให้ความสำคัญสิทธิเด็กน้อย เมื่อเทียบกับสถานีวิทยุในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ที่มีทั่วประเทศ รายการเกี่ยวกับเด็กยังน้อย ขณะที่เนื้อหาก็ไม่ได้นำเสนอเด็กเป็นศูนย์กลาง
“วันนี้เรื่องเด็กกับการคุ้มครองมีมากขึ้น แต่เด็กกับการมีส่วนร่วมน้อยอยู่ หากสื่อมวลชนหันมาให้ความสำคัญประเด็นนี้มากขึ้น จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาสื่อมวลชนไทย” นายบรรยงค์ กล่าว
นางสาวรุ่งมณี เมฆโสภณ กรรมการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่าปัจจุบันการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กในสื่อมวลชนมีปัญหามาก คือยังมีการละเมิดสิทธิเด็กอยู่เสมอไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ทั้งนี้แม้องค์กรสื่อจะมีแนวทางดูแลกันเองแต่ยังทำได้น้อยอยู่ และองค์กรวิชาชีพไม่สามารถเข้าไปรับผิดชอบทุกอย่างได้ สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือเสียงสะท้อนจากผู้บริโภค และที่สำคัญคือคนในวิชาชีพสื่อต้องมีสำนึกที่ดี และเรียนรู้ด้วยตนเองด้วย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาต้องรักและเคารพในวิชาชีพสื่อมวลชล
“นักข่าวต้องตื่นตัวและรอบคอบในการทำงาน ไม่ใช่สักแต่ว่าทำข่าว ควรตรวจสอบว่าผิดพลาดมีช่องโหว่ตรงไหนอยู่เสมอ ทั้งนักข่าวและผู้บริโภคล้วนเป็นตัวป้องกันที่สำคัญให้เด็ก” นางสาวรุ่งมณี กล่าว
ขณะที่ นายมนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก หรือ “ครูยุ่น” กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมาเกิดข่าวการใช้ความรุนแรงกับเด็กกว่า 3,000 ข่าว สิ่งที่เห็นชัดเจนคือสื่อมีส่วนช่วยเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิหลายกรณี คือเป็นตัวผลักให้ผู้กระทำผิดถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเร็วขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าสื่อก็ยังเผลอยู่บ้าง
“เด็กก็คือผู้บริโภคสื่อ การนำเสนออะไรที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง เป็นการละเมิดเด็กที่สื่อควรหันมาตรวจสอบ เพราะครั้งหนึ่งคุณก็เคยเป็นเด็ก นำเสนออะไรต้องคำนึงถึงเด็กด้วย” นายมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ผลงานที่ได้รับรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ ประกอบด้วย รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัลๆละ 50,000 บาท ได้แก่ ข่าว “วิบากกรรมของหัวกะทิ” โดยนางสาวทิพย์กมล เกียรติทีรัตนะ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, รางวัลชมเชย 2 รางวัลๆละ 20,000 บาท ได้แก่ ข่าว“กระตุกสังคมต้านโหด “สิทธิที่จะมีชีวิต”หยุดละเมิดเด็กซ้ำซาก ” โดยโต๊ะข่าวสกู๊ป นสพ.เดลินิวส์ และข่าว“น้องไบเบิล 5 ขวบยอดกตัญญู” โดยกองบรรณาธิการ นสพ.ไทยรัฐ
ส่วนรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อวิทยุกระจายเสียง ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ส่วนรางวัลชมเชย 1 รางวัลๆละ 10,000 บาท ได้แก่ ข่าว “โอกาสทางการศึกษาของเด็กพิเศษในสังคมไทย” โดยนางสาวนิตยา น้อยใหญ่ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ ประกอบด้วย รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัลๆละ 50,000 บาท ได้แก่ ข่าว “เด็กต่างด้าว : สิทธิทางการศึกษา” โดยสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชแนล, รางวัลชมเชย 2 รางวัลๆละ 20,000 บาท ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “ความลับของแม่ข้างถนน” รายการเรื่องจริงผ่านจอ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และ สารคดีเชิงข่าว “เด็กไร้สัญชาติ” โดยบริษัทมหาชัยเคเบิลทีวี จำกัด ทั้งนี้คณะกรรมการตัดสินยังมีมติเพิ่มรางวัลชมเชย (พิเศษ) 2 รางวัลๆละ 10,000 บาท ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “ดีเจไร้สัญชาติ” โดยบริษัทเคซีทีวี (นครสวรรค์) จำกัด และ “การเฝ้าระวังดินถล่ม” โดย สถานีทีวีไทย
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัลๆละ 20,000 บาท ได้แก่ ผลงานข่าวเรื่อง “เมื่อสนามเด็กเล่น เป็นสนามม้า” โดยกองบรรณาธิการ นสพ.สื่อมวลชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, รางวัลชมเชย 2 รางวัลๆละ 5,000 บาท ได้แก่ ข่าว “Talent กับกิจกรรมปิดทองหลังพระของกลุ่มเด็ก” โดยกองบรรณาธิการ นสพ.ลานมะพร้าว มหาวิทยาลัยบูรพา และ ข่าว“ปัญหาตำตา กระเทือนชีวิตของเด็กแว่น” โดยกองบรรณาธิการ นสพ.อุดรโพสต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
รางวัลประเภทหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนส่งเสริมสิทธิเด็ก ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 1 รางวัลๆละ 5,000 บาท ได้แก่ นสพ.ม่วงชมพูโพสต์ โดยโรงเรียนนครนายกวิทยาคม, รางวัลชมเชย 2 รางวัลๆละ 2,500 บาท ได้แก่ นสพ.ประดู่แดงนิวส์ โดยโรงเรียนนวมราชานุสรณ์ และ นสพ.ฟ้าใหม่ โดยโรงเรียนบ้านนา “นายกพิทยากร” .