จ่ายยา1เดือนเหลือ7วัน! ปลัดสธ.จ่อสั่งสอบทุจริตซื้อยารพ.กมลาไสย
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ทุจริตซื้อยา รพ.กมลาไสย มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ยันยังไม่ได้สั่งย้าย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ให้ไปอบรมนอกพื้นที่เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ระหว่างที่มีการตรวจสอบ
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 7 เข้าพบปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรายงานผลสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ หลังพบมูลความผิดจริงกรณีจัดซื้อยาของโรงพยาบาลกมลาไสยไม่โปร่งใส และเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบวินัยบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งอดีตและปัจจุบันภายในสัปดาห์นี้ ส่วนกรณีที่ชาวบ้านไล่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังไม่ได้สั่งย้าย แต่ให้ไปอบรมนอกพื้นที่เป็นเวลา 3 สัปดาห์
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบวินัยบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันภายในสัปดาห์นี้ หลังตรวจสอบพบความไม่โปร่งใสการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท โดยพบว่า มีการค้างบัญชีการจ่ายซื้อยาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ 2 ราย
เบื้องต้น ได้อายัดเอกสารเพื่อตรวจสอบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดรายชื่อบุคคลว่ามีใครบ้าง ย้ำบางคนแม้ลาออกแล้ว แต่หากพบความผิดจริงก็เอาผิดย้อนหลังได้ ทั้งความผิดวินัย และโทษทางอาญา
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ทีมตรวจสอบ ข้อเท็จจริง พบว่า โรงพยาบาลกมลาไสย มีการจ่ายปริมาณยาที่น้อยกว่าเดิม เช่น จากเคยสั่งจ่ายยา 1 เดือน เหลือ 7 วัน ทำให้ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลบ่อยขึ้น สร้างความลำบากแก่ผู้ป่วย แต่ยืนยันโรงพยาบาลกมลาไสย ไม่ได้ขาดแคลนยาถึงขั้นไม่มียาจ่ายให้กับผู้ป่วย
ส่วนกรณีที่ชาวบ้านไล่ นพ.ประวิตร ศรีบุญรัตน์ สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นั้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยังไม่ได้สั่งย้าย แต่ให้ไปอบรมนอกพื้นที่เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ระหว่างที่มีการตรวจสอบ
ด้าน นพ.อิทธิพล สูงเเข็ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีปัญหาขาดแคลนยาของโรงพยาบาลกมลาไสยแล้ว เพราะได้จัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง 20 ล้านบาท เพื่อแก้สภาพคล่อง โดยใช้วิธีให้โรงพยาบาลแม่ข่ายจัดซื้อยาแทน รวมทั้ง ยืมยาจากโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลสมเด็จ โรงพยาบาลยางตลาด และสั่งซื้อจากบริษัทยา ซึ่งทำให้มียาเพียงพอจ่ายให้กับผู้ป่วยมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
นพ.อิทธิพล กล่าวย้ำด้วยว่า หากผู้ป่วยรายใดที่มีปัญหายาขาด ให้มารับที่โรงพยายาลกมลาไสยได้ โดยอย่ายืมยา หรือใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ร่วมกับกับผู้ป่วยรายอื่น เพราะอาจจะเกิดการติดเชื้อ และเป็นอันตรายได้ และนอกจากนี้ จะลงพื้นที่เพื่อสอบถามรายละเอียดจากผู้ป่วยอีกครั้งว่าเหตุใดจึงมีการยืมยากันกินเกิดขึ้น ทั้งที่แก้ปัญหาแล้ว ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลด้วย