สสส.-มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคฯ ถอดบทเรียนความรุนแรงทางเพศ ครอบครัว
กรมกิจการสตรีฯ เดินหน้ากลไกช่วยผู้ถูกกระทำความรุนแรงและผู้แจ้งเหตุทั่วถึงรวดเร็วรองรับพ.ร.บ.คุ้มครองครอบครัวฯ สสส.-มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคฯ เปิดเวทีถอดบทเรียนความรุนแรงทางเพศ ครอบครัว "สุเพ็ญศรี" ชี้คนทำงานรัฐ -เอ็นจีโอต้องทำงานเกื้อหนุนกัน ไม่มีอคติ เข้าใจกฎหมาย ตัวแทนผู้ถูกกระทำ ชี้อย่าทนเจ็บซ้ำๆ ลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเอง หนุนเปิดศูนย์ส่งเสริมฯ 24 ชั่ม. ช่วยเหลือไม่เว้นวันหยุด
วันที่ 6 ส.ค. 2562 มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีนำเสนอถอดบทเรียนกระบวนการคุ้มครองสิทธิและคุ้มครองสวัสดิภาพ "เรื่องเล่าผู้ประสบความรุนแรง และคนทำงานคุ้มครองสิทธิ"โดยมีนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) รับข้อเสนอจากตัวแทนสมาขิกบ้านพักฉุกเฉินและผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองสิทธิ เพื่อร่วมกำหนดนโยบายด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวที่ประสบความรุนแรงนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีฯ ได้เตรียมกำลังคนและวางกลไกการทำงานที่เอื้อประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนหรือผู้ได้รับความเสียหายให้มากที่สุด รวมทั้งจัดทำกฎหมายลูกอีก 9 ฉบับ รองรับพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว แจ้งความกล่าวโทษได้โดยทันที จากแต่เดิมที่ผู้ถูกกระทำต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ขณะเดียวกันก็ยังมีการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ โดยมีศูนย์ฯ ทำหน้าที่ประสานงาน เพื่อให้กลไกการช่วยเหลือเข้มแข็ง และสร้างกลไกการทำงานให้รวดเร็ว ผู้ถูกกระทำได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึง สำหรับกลไกการทำงานระดับจังหวัด เน้นประชาสัมพันธ์ หมายเลขสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระจายในพื้นที รวมถึงอนาคตศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ซึ่งเป็นการทำงานของภาคประชาสังคมในระดับตำบลในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถมาจดทะเบียนกับกรมกิจการสตรีฯ เพื่อทำงานในระดับพื้นที่ให้เข้าถึงชุมชน ประชาชน ได้มากที่สุด และเป็นสาขาของพม.ระดับพื้นที่ในการบริการช่วยเหลือประชาชนสำหรับการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว
"กรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้กระทำซ้ำนั้น เราถือว่าคำสั่งการคุ้มครองของศาลเป็นสิ่งสำคัญซึ่งยื่นได้ทั้ง 2 ศาล คือ ศาลอาญาและศาลเยาวชนฯ ซึ่งหัวหน้าศูนย์ฯ สามารถออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ทันที เช่น กรณีสามีภรรยา หากเกรงว่าภรรยาจะถูกทำร้ายซ้ำ หัวหน้าศูนย์ฯ ก็สามารถออกคำสั่งห้ามสามีเข้าใกล้ภรรยาในเวลา 48 ชั่วโมงได้ทันทีก่อนยื่นต่อศาลให้ออกคำสั่งอีกครั้ง" อธิบดีกรมกิจการสตรีฯ กล่าว
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคนในครอบครัวของไทย โดย สสส ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2560 พบความชุกของความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 34.6 โดยพบว่า ความรุนแรงในครอบครัวทางด้านจิตใจสูงสุด ร้อยละ 32.3 รองลงมาคือ ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 9.9 และทางเพศร้อยละ 4.5 อย่างไรก็ตามพบว่า ร้อยละ 82.6 ของคนที่ประสบปัญหาความรุนแรงไม่ไปขอความช่วยเหลือจากบุคคล หรือหน่วยงาน ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งอาย ไม่กล้า หรือแม้กระทั่งไม่เชื่อมั่นในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะช่วยได้ ที่ผ่านมา สสส.ทำงานร่วมกับภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งการพัฒนาหลักสูตรต้นแบบการพัฒนาศักยภาพคนทำงานด้านความรุนแรงต่อผู้หญิง หลักสูตรการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทุกมิติด้วยฐานคิดเพศภาวะ (gender base) การพัฒนาเครื่องมือและสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวระดับจังหวัด ผ่านการเสริมศักยภาพกลไกระดับพื้นที่ ต้นแบบพื้นที่นำร่องในการพัฒนาระบบการทำงานของสหวิชาชีพระดับจังหวัดแบบบูรณาการ การพัฒนาและเสริมศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการคุ้มครองสิทธิ การพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่มีความละเอียดอ่อนต่อมิติเพศภาวะ รวมทั้งกระบวนการสื่อสารสังคม “ถึงเวลาเผือก” เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงทุกรูปแบบ
“สสส.และภาคีเครือข่ายฯ ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานอย่างเข้มข้นดังนี้ 1) การพัฒนากลไกการบูรณาการการทำงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวระดับจังหวัด 3) เสริมศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการคุ้มครองสิทธิให้มีความละเอียดอ่อนต่อมิติเพศภาวะ 4) สื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างทัศนคติใหม่ต่อการไม่เพิกเฉย ไม่ยอมรับความรุนแรงในทุกมิติ”นางภรณี กล่าว
น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า มีความกังวลในข้อจำกัดของศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ซึ่งขณะนี้มีในระดับจังหวัด 77 จังหวัด โดยเฉพาะศักยภาพ บุคลากร เจ้าหน้าที่คนทำงาน เพราะบางแห่งเพิ่งผ่านการฝึกอบรมและเข้าทำงานได้ไม่นาน ถือว่ายังใหม่มาก อีกทั้งบทบาทของหัวหน้าศูนย์ฯ ต้องมีอำนาจออกคำสั่งตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้กระทำยุติการกระทำความรุนแรง ภายหลังออกคำสั่งควรมีการติดตามว่าผู้กระทำปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่ เพื่อป้องกันการถูกกระทำซ้ำๆ หรือต้องกำหนดมาตรการบังคับผู้กระทำหากไม่ปฎิบัติตามคำสั่ง ในขณะที่ศพค.ที่อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำเป็นต้องมีพัฒนาบุคคลากรในการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลเยียวยา ฟื้นฟู ฯลฯ คนทำงานต้องมีความเข้าใจในปัญหาความรุนแรงอย่างแท้จริง เพราะเรื่องไม่ยุติหรือแก้ไม่ได้ปัญหาจะรุนแรง เลวร้ายมากขึ้นไปจนถึงการฆ่ากันดังที่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ในบางกรณีผู้กระทำก็ไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือแสดงตนว่ามีอำนาจ การใช้อำนาจทางกฎหมายมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะยับยั้งปัญหา เช่น กระทรวงมหาดไทย ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสมรสใช้ชีวิตคู่ ควรมีคำแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายกับคู่ที่มาจดทะเบียน หรือหากเกิดความรุนแรงจะติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด
"ในการถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาความรุนแรงทางเพศ และครอบครัว พบว่า กลไกการทำงานของทั้งราชการและเอ็นจีโอ เครือข่ายชุมชน จะต้องทำงานเกื้อหนุนกัน และมีองค์ประกอบคือ 1. ผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจภาวะอารมณ์ ความรู้สึกผู้ประสบความรุนแรง 2. มีการหนุนเสริมให้ผู้ประสบความรุนแรงเข้าใจสิทธิตามกฎหมาย และเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 3. การจัดกลุ่มให้ผู้เคยประสบปัญหาและผู้กำลังประสบปัญหา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง 4. การพัฒนาให้ผู้ประสบปัญหาได้สะท้อนปัญหาความรุนแรงและจัดทำข้อเสนอบอกความต้องการต่อฝ่ายนโยบายด้วยเสียงของตัวเอง 5. มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ตั้งแต่ต้นทางจนถึงการดำเนินคดี อีกทั้งคนทำงานด้านนี้ต้องไม่มีอคติ เข้าใจกฎหมาย และความละเอียดอ่อนของเพศสภาวะ " น.ส.สุเพ็ญศรี กล่าว
ขณะที่น้องเก๋ (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ผ่านพ้นความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้ มีการปรับปรุงที่ดีขึ้น และมีประโยชน์ต่อผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง เช่น การมีศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ที่กระจายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะทำให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็วมากขึ้น ถือเป็นทางเลือกให้กับผู้ถูกกระทำ และไม่เป็นการซ้ำเติมเพิ่มขึ้นหากต้องไปแจังความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ ขอเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการให้ศูนย์ฯ มีการประชาสัมพันธ์ไปในพื้นที่ชุมชน กระจายข่าวให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่ามีหน่วยงานนี้คอยช่วยเหลืออยู่ และอยากให้ศูนย์เปิดตลอด24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ประจำเพื่อค่อยช่วยเหลือ เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะต้องเผชิญเหตุเมื่อใด
"อยากฝากไปยังเพื่อนๆ ที่กำลังเผชิญเหตุการณ์ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและทางเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงว่า ให้กล้าออกมาต่อสู้เพื่อตัวเอง เพราะมีกลไกต่างๆให้การช่วยเหลือเราได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย หรือองค์กรเครือข่ายต่างๆ ซึ่งตัวเราต้องมีความกล้าออกมา อย่าทนเจ็บซ้ำๆ หรือบางคนยึดติดในความรัก หรือมีเหตุผลที่หลากหลาย แต่ท้ายที่สุดขอให้ระลึกไว้ ให้นึกถึงเอง เพราะหากมันถึงจุดถึงแก่ชีวิต เราจะไม่มีโอกาสแก้ไขอะไรได้เลย หรือหากมีลูกก็ขอให้คิดถึงลูก เราต้องสู้เพื่อเขา สู้เพื่ออนาคตของลูกและตัวเราเอง" น้องเก๋ กล่าว