สธ.ทำโครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย เริ่ม ธ.ค. 53
สธ.จัดโครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมี เทิดพระเกียรติ นำร่องตรวจคัดกรองสุขภาพเกษตรกรที่ใช้สารเคมี นำสมุนไพร รางจืด หญ้านางแดงล้างพิษ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับรองตลาดกลางพืชผักปลอดสารพิษทั่วประเทศ
กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมี เทิดพระเกียรติในหลวง 84 พรรษา โดยจะนำร่องตรวจคัดกรองสุขภาพเกษตรกรที่ใช้สารเคมี 840,000 คน และนำสมุนไพร รางจืด และหญ้านางแดง มาล้างพิษ พร้อมทั้งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับรองตลาดกลางพืชผักปลอดสารพิษทั่วประเทศ คาดเริ่มโครงการตั้งแต่ ธ.ค. 53 เป็นต้นไป
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการโครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส เมื่อบ่ายวันที่ 15 พ.ย. 53 ว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย เพื่อปกป้องสุขภาพเกษตรกรให้ปลอดภัยจากการใช้สารเคมี ประชาชนได้บริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษาในปี2554 และส่งเสริมการใช้สมุนไพรพื้นบ้านล้างสารพิษในร่างกาย ขณะนี้มีประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมประมาณ 13 ล้านกว่าคน ส่วนใหญ่ยังมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค โดยผลการตรวจตัวอย่างผัก ผลไม้สดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปี 2552 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ร้อยละ 28
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ตามโครงการนี้จะนำร่องในปีงบประมาณ 2554 มีเป้าหมายตรวจคัดกรองสุขภาพเกษตรกร 840,000 คนทั่วประเทศ โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 840 แห่ง ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข84,000 คน ค้นหาเกษตรกรที่มีความเสี่ยงและตรวจเลือดโดยใช้ชุดตรวจสารพิษในเลือดภาคสนามผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รู้ผลเร็วภายใน 10 นาที หากพบว่าเกษตรกรมีสารพิษในเลือดในระดับที่ไม่ปลอดภัย จะนำสมุนไพรพื้นบ้านมาใช้ถอนพิษ ในเบื้องต้นมี 2 ตัวคือ รางจืด และหญ้านางแดง ซึ่งมีผลงานวิจัยว่าสามารถกำจัดพิษได้ผล หาได้ง่ายตามหมู่บ้านต่างๆ ใช้งบประมาณดำเนินการ 12 ล้านบาทเศษ
นอกจากนี้ได้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีศูนย์เครือข่าย 12 แห่งทั่วประเทศ พัฒนาระบบการตรวจสอบสารพิษตกค้างในพืชผักและผลไม้สด ในตลาดกลางค้าส่งที่มีทั่วประเทศประมาณ 23 แห่ง แต่ขณะนี้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานเพียง 2 แห่ง ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้บริโภคพืชผักผลไม้ที่ปลอดภัยมากขึ้น และให้กรมสุขภาพจิตจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีและคลายความวิตกกังวลให้กับเกษตรกรที่มีปัญหาด้านต่างๆ ด้วย คาดว่าจะเปิดตัวโครงการในเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นปัญหาระดับชาติ พิษมีทั้งชนิดเฉียบพลัน เช่นปวดศีรษะ แน่นหน้าอก มองเห็นภาพลางเลือน อาเจียน ปวดท้อง และชนิดเรื้อรัง โดยพิษสะสมในร่างกายแสดงอาการภายหลังที่อันตรายที่สุดคือโรคมะเร็ง สารเคมีเข้าสู่ร่างกาย 3 ทางคือทางปาก การหายใจสูดสารเคมีขณะฉีดพ่น และจากการสัมผัส สารเคมีที่ใช้มากที่สุดคือกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ร้อยละ58 รองลงมาคือ กลุ่มพาราควอทร้อยละ 31 และกลุ่มคาร์บาเมต ร้อยละ22 ในปี 2552 มีการนำเข้าสารเคมี 118,151 ล้านตัน จังหวัดที่เกษตรมีอัตราป่วยจากสารเคมีมาก 5 อันดับ ได้แก่กำแพงเพชร อุทัยธานี ตราด สุโขทัย เชียงราย ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดหวังว่าโครงการนี้จะทำให้ระบบการผลิตของเกษตรกรไทย พัฒนาสู่ระบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น และใช้สารเคมีน้อยลง