2 สมมติฐานป่วนนอกชายแดนใต้...ออกหน้าไหนรัฐก็เสีย!
ทิศทางคดีระเบิดป่วนกรุง ตำรวจมุ่งประเด็นไปที่ปมการสร้างสถานการณ์จากกลุ่มที่เคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจน
เริ่มจากผู้ต้องสงสัย 2 รายแรกที่ถูกจับกุมได้ เป็นชาวอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดย 1 ใน 2 รายมีประวัติเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ แต่ไม่เคยก่อคดี
ล่าสุดมีข่าวเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายเข้าไปเชิญตัวผู้ต้องสงสัยมาสอบเพิ่มอีก 1 ราย เป็นชาวอำเภอรือเสาะเช่นกัน
ยิ่งมีกรณีพบรถมอเตอร์ไซค์ทะเบียนนราธิวาสจอดทิ้งที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จิ๊กซอว์ของฝั่งตำรวจยิ่งต่อชัด
อีกด้านหนึ่งมีการตั้งทีมคลี่คลายคดี โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้า และมีทีมสืบสวนระดับพระกาฬเข้าร่วมคับคั่ง หนึ่งในนั้นคือ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
อ่านทางของทีมคลี่คลายคดี ล้วนเป็นมือทำงานภาคใต้ เริ่มจาก พล.ต.อ.ศรีวราห์ เคยคุมคดีระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 59 ออกหมายจับผู้ต้องหา 13 คน จับกุมได้ 3 คน คดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์ ยังคุมชุดปฏิบัติการจับกุมแก๊งเตรียมการลอบวางระเบิดวินาศกรรมกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคมปี 59 ซึ่งเป็นช่วงใกล้การจัดประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ เอซีดี ด้วย คดีนี้ศาลจับกุมผู้ต้องหาได้ 14 คน ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ลงโทษจำคุกจำเลย 9 คน
พล.ต.อ.ศรีวราห์ คือมือสอบสวนคดีความมั่นคงที่ร่วมงานกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.มานานหลายปี
ขณะที่ พล.ต.อ.สุชาติ ก็มีประวัติเป็นหัวหน้าชุดสืบสวนด้วยเครื่องมือพิเศษ มีผลงานติดตามจับกุมผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และแนวร่วมป่วนใต้มากมาย
ส่วน พล.ต.ท.รณศิลป์ ก็เป็นมือสืบสวนระดับพระกาฬ เคยคุมศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. ดูแลพื้นที่พิเศษโดยเฉพาะ ก่อนโยกมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 หลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับโครงสร้างยุบ ศชต. แล้วโอนพื้นที่กลับมาให้ตำรวจภูธรภาค 9 ดูแล
หากย้อนดูไทม์ไลน์คดีระเบิดนอกพื้นที่ชายแดนใต้ที่ส่งสัญญาณถึงการเมืองในส่วนกลาง และมือระเบิดเป็นคนจากปลายด้ามขวาน จะพบข้อสังเกตที่น่าสนใจ
ปี 49 มีระเบิด 9 จุดกลางกรุงเทพฯช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ สันติบาลรวบตัววัยรุ่นจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่ผลสอบไม่คืบหน้า เพราะรัฐบาลในขณะนั้นพุ่งเป้าไปที่ "ระเบิดการเมือง" โยงไปที่ทหารนอกแถวฝ่ายตรงข้าม
ปี 56 ระเบิดหน้าร้านทำผมย่านรามคำแหง คดีนี้ถึงศาลฎีกาแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 4 คนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนละ 33 ปี 4 เดือน
ปี 58 คาร์บอมบ์ในลานจอดรถห้างสรรพสินค้าที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งใช้รถยนต์และทีมงานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขับหลบด่านลงเรือไปวางระเบิด
ปี 59 เดือนสิงหาคม ระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ตำรวจออกหมายจับ 13 คน เป็นกลุ่มที่เรียกว่า "ทีมปัตตานี" จับกุมได้ 3 คน
เดือนตุลาคมปีเดียวกัน จับกุมผู้ต้องหา 14 คน เตรียมการลอบวางระเบิดป่วนกรุง เป็น "ทีมนราธิวาส-ศรีสาคร" ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก
ปี 62 ล่าสุด ระเบิดป่วนกรุงเกือบ 10 จุด ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และช่วงผลัดเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จนถึงขณะนี้ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 3 รายจากอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
ส่วนเหตุระเบิดในกรุงเทพฯกรณีอื่นๆ ค่อนข้างชัดว่าเป็นฝีมือกลุ่มฮาร์ดคอร์การเมือง ใช้ทีมคนมีสีนอกแถว หรือคนมีสีในสังกัดกลุ่มการเมืองตรงข้ามรัฐบาล ไม่ได้โยงกลุ่มชายแดนใต้
เป็นที่น่าสังเกตว่า วิกฤติการณ์ทางการเมืองในบ้านเราตั้งแต่ปี 49 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาแล้ว 13 ปี มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง มีการก่อเหตุระเบิดและตระเตรียมก่อเหตุในลักษณะ "วินาศกรรม-ก่อการร้าย" ที่มีหลักฐานเชื่อมโยง "ทีมปฏิบัติการ" จากชายแดนใต้ 6 ครั้ง ในจำนวนนี้ 5 ครั้งเกิดในรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร
ทุกครั้งที่มีคนจากชายแดนใต้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ มักมีคำถามในเรื่อง "ไฟใต้ขยายพื้นที่" และครั้งนี้ก็เช่นกัน
แต่ทุกครั้งคนในรัฐบาลและผู้รับผิดชอบงานความมั่นคงก็จะปฏิเสธว่า แรงจูงใจในการก่อเหตุไม่ใช่การประกาศศักดาของกลุ่มเคลื่อนไหวในภาคใต้ หรือการขยายพื้นที่ก่อเหตุรุนแรง แต่เป็นการวางแผนเพื่อหวังผลทางการเมืองจากกลุ่มการเมืองตรงข้ามรัฐบาล แล้วใช้ "ทีมปฏิบัติการ" จากชายแดนใต้ ซึ่งมีกลุ่ม "ฮาร์ดคอร์" ไม่ฟังคำสั่งขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่มาทำงานรับใช้ฝ่ายการเมือง หรือไม่ก็ก่อเหตุเพื่อความสะใจส่วนบุคคล
แต่ปัญหาก็คือ รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงไม่เคยจับกุมคนที่กดปุ่มวางแผนสร้างสถานการณ์ที่อ้างว่าเป็น "ฝ่ายการเมืองตรงข้ามรัฐบาล" ได้แม้แต่ครั้งเดียว ทั้งๆ ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย รวมถึงกฎหมายพิเศษ เพราะหลายๆ เหตุการณ์เกิดในช่วงรัฐบาลทหารที่มี ม.44 อยู่ในมือ
ส่วน "ทีมปฏิบัติการ" ที่ถูกจับกุมได้ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครยอมรับสารภาพ ทำให้ "มูลเหตุจูงใจในการสร้างสถานการณ์" ยังคงขมุกขมัว และมักถูกตีความเป็นเรื่องการเมืองไปทั้งหมด (ทั้งกล่าวหาว่ารัฐบาลทำเอง หรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเป็นผู้ก่อการ)
จริงๆ แล้ว "มูลเหตุจูงใจ" เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากกลุ่มขบวนการในภาคใต้สามารถขึ้นรถทัวร์มาก่อเหตุป่วนกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ได้เป็นระยะๆ โดยไม่ได้ถูกว่าจ้าง ย่อมหมายถึงศักยภาพของกลุ่มขบวนการที่มั่นคงแข็งแรง แม้จะผ่านการต่อสู้กับรัฐและฝ่ายความมั่นคงมานานกว่า 15 ปี แต่ก็ยังมีนักรบหมุนเวียนมาทดแทนไม่ขาดสาย เรียกว่า "ยืนระยะ" ได้อย่างน่าตกใจ
หรืออีกทางหนึ่ง ในพื้นที่ชายแดนใต้อาจเกิด "กลุ่มฮาร์ดคอร์" ใหม่ๆ ที่ไม่ขึ้นการบังคับบัญชากับขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่วางแผนก่อเหตุได้อย่างอิสระ (เรียกว่ามีกลุ่มโจรอิสระ หาทุนเอง ก่อเหตุเอง) โดยใช้แนวคิดต่อต้านรัฐในการขับเคลื่อน
สมมติฐานนี้ไม่ว่าความจริงจะเป็นแบบไหน โอกาสที่ไฟใต้จะมอดดับตามคำโฆษณาของผู้มีอำนาจ...คงต้องเลิกหวัง
ยิ่งถ้ามีกลุ่มการเมืองผสมโรง กดปุ่มสั่งการทีมจากชายแดนใต้ให้วางระเบิดป่วนเมืองได้ด้วยแล้ว ย่อมหมายถึงสถานการณ์ยิ่งล่อแหลม แก้ไขปัญหายากขึ้นไปอีก
ที่น่าสนใจก็คือ "โจรอิสระ" ที่ทำงานระดับนี้ได้ มีอยู่จริงหรือ เพราะเป็นปฏิบัติการที่ต้องใช้เงินทุน มีการวางแผนตระเตรียมการ มีที่พัก มีกองหนุน และเลือกจังหวะเวลาอย่างมืออาชีพ
คำตอบทั้งหมดจึงย้อนกลับมาที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงว่าจะสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ได้หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะออกทางไหน รัฐก็เป็นฝ่ายเสียหาย
และปัญหาภาคใต้ก็ดูจะยิ่งซับซ้อนซ่อนเงื่อน จนอาจทำให้ประเทศไทยหาความสงบที่แท้จริงไม่ได้อีกต่อไป!