เปิดข้อมูลผู้ป่วยบัตรทอง ปี 62 พบผู้ป่วยพิษสารเคมีกว่า 3 พันราย
สปสช.เปิดข้อมูลผู้ป่วยบัตรทอง ปีงบประมาณ 62 ล่าสุด 10 เดือน มีรายงานผู้ป่วยจากพิษสารเคมีปราบศัตรูพืชเข้ารักษา 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูล 3 ปี ย้อนหลังเฉลี่ยผู้ป่วยจากพิษสารเคมีสูงถึงปีละกว่า 4 พันราย ระบุต้องหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อลดความสูญเสีย
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากข้อมูลการเข้ารับบริการในระบบ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตรทอง” ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2562 (ข้อมูล 1 ต.ค. 61 - 17 ก.ค. 62) ได้รายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท จากข้อมูลนี้แยกผู้ป่วยตามประเภทของสารเคมีที่ได้รับ ดังนี้
1. ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต (organophosphate and carbamates insecticides) จำนวน 705 ราย เสียชีวิต 58 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 4.27 ล้านบาท
2. ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อรา (Herbicides and fungicides) จำนวน 1,337 ราย เสียชีวิต 336 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 6.79 ล้านบาท
3. สารเคมีทางการเกษตรประเภทอื่นๆ จำนวน 1,025 ราย เสียชีวิต 13 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 3.57 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลโดยแยกรายเขตบริการ 13 เขต พบว่า เขตเชียงใหม่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการมากที่สุด จำนวน 506 ราย รองลงมาเขตราชบุรี จำนวน 390 ราย เขตนครสวรรค์ จำนวน 340 ราย และนครราชสีมา จำนวน 338 ราย เป็นต้น
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ข้อมูลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในแต่ละปีจะเห็นได้ว่ามีประชาชนจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยปี 2559 มีผู้ป่วยจำนวน 4,876 ราย เสียชีวิต 606 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 22.19 ล้านบาท ปี 2560 มีผู้ป่วย 4,916 ราย เสียชีวิต 579 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.85 ล้านบาท และในปี 2561 มีผู้ป่วย 4,736 ราย เสียชีวิต 601 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.78 ล้านบาท ซึ่งหากรวมจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2562 มีจำนวนถึง 2,193 ราย รวมถึงงบประมาณค่ารักษาพยาบาลกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ไม่รวมผู้ป่วยในสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ สะท้อนให้เห็นผลกระทบของการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชที่เกิดขึ้น โดยถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์
นอกจากนี้ยังมีความสูญเสียจากการเสียโอกาสการทำงานของเกษตรกรที่ต้องเข้ารับการรักษาตัว ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกำลังหลักของครอบครัว และผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในอนาคต ทั้งนี้ สปสช.มีนโยบายสำคัญในการสร้างนำซ่อม ขอสนับสนุนภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเดินหน้ามาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาจากพิษสารเคมีอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของประชาชน อันมีผลต่อสุขภาวะคนไทยที่ยั่งยืน