เทรนด์ห้าง เทรนด์ไทย เทรนด์โลก
แคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ยังเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคแน่ใจได้ว่า การซื้อตรงจากเกษตรกรหรือ Direct Sourcing เป็นไปอย่างเป็นธรรม รับผิดชอบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
คนไทยใช้จ่ายไปกับค่าอาหารมากถึง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด "ซูเปอร์มาร์เก็ต" ได้กลายเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยหลักของคนจำนวนมาก และเป็นผู้รับซื้ออาหารจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด
ข้อมูลสำนักงานงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
ขณะที่จำนวนสาขาของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ตัวเลขปี 2561 พบว่า มีไม่ต่ำกว่า 3,000 สาขา ดังนั้น คุณภาพชีวิต สิทธิ และรายได้ของคนบนเส้นทางอาหารไม่น้อย จึงขึ้นอยู่กับซุปเปอร์มาร์เก็ต
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟม ประเทศไทย ประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซุปเปอร์มาร์เก็ต ปี 2562 ก้าวหน้าหรือต้องปรับปรุง ภายใต้ แคมเปญ “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ณ ห้อง Victor 3 ศูนย์ประชุม Victor อาคาร Club FYI Center ถนนรัชดาภิเษก กทม.
สำหรับแคมเปญ “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในการผลิตและจำหน่ายอาหารในประเทศไทย ผ่านการรณรงค์ให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารที่ ‘ดีตั้งแต่ต้นทาง’ คือ เป็นธรรมกับเกษตรกร แรงงาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
จากผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศไทย ประจำปี 2562 พบว่า ในภาพรวม ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังทำคะแนนได้ไม่ดีนัก โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตถึง 4 รายที่ไม่ได้คะแนนเลยในการประเมินครั้งนี้ ได้แก่ Big C, Foodland, Gourmet Market และ Villa Market ซึ่งการประเมินครอบคลุมตัวชี้วัดย่อยใน 4 มิติด้วยกัน คือ ความโปร่งใส สิทธิแรงงาน เกษตรกรรายย่อย และสิทธิสตรี
นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย เปิดเผยว่า การประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตรอบนี้เป็นปีที่สอง ซูเปอร์มาเก็ตที่ทำคะแนนได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว คือ CP Freshmart, Makro และ Tesco
ส่วนได้คะแนนเท่าเดิมคือ Tops และคะแนนน้อยลงคือ Big C ลดจาก 1 เหลือ 0 คะแนนในปี 2562
“มีข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะ Big C ได้มีการโอนถ่ายเปลี่ยนเจ้าของ และออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทย ทำให้ไม่มีรายงานประจำปีเหมือนเมื่อก่อน ส่วนอีก 3 เจ้ายังไม่เคยได้คะแนนเลยตั้งแต่การประเมินปี 2561”
แต่สิ่งที่ที่น่าสนใจคือคะแนนของ Tesco ที่เกือบทั้งหมดได้มาจากการประกาศนโยบายของบริษัทแม่ที่อังกฤษ ถ้าดูเฉพาะข้อมูลที่ปรากฎบนช่องทางของ Tesco Lotus ในประเทศไทยอย่างเดียวจะคะแนนได้ "น้อยมาก " คือได้แค่คะแนนเดียวในมิติเกษตรกรรายย่อย แต่ไม่ได้คะแนนเลยในมิติอื่นๆ
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ระบุว่า แม้ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายเจ้าในประเทศไทยตอนนี้จะบอกว่า มีการซื้อตรงจากเกษตรกรแล้ว แต่แค่การซื้อตรงอย่างเดียวยังไม่สามารถเป็นหลักประกันว่า เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้ผลิต
“คุณต้องเปิดเผยข้อมูลด้วยว่า ทำอย่างไร ทำไปเท่าไร กับที่ไหนบ้าง และผู้บริโภคจะสามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างไร เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตมีอิทธิพลสูงมากในกระบวนการผลิตและจำหน่ายอาหารทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวประมง แรงงาน พนักงาน มาจนถึงผู้บริโภคเองด้วย
ผู้บริโภคที่ให้ความสนใจความยั่งยืนอย่างเรา เราก็อยากจะมั่นใจได้ว่าทุกการกระทำและคำโฆษณาของซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นความจริง โปร่งใส และตรวจสอบได้”
ทีนี้ลองมาดูสถานการณ์ของเกษตรกรไทยในปัจจุบัน
- 50% ของครัวเรือนเกษตรยังมีที่ดินทำกินไม่ถึง 10 ไร่ โดยหากเปรียบเทียบกับปี 2556 และ 2546 พบว่า ขนาดที่ดินทำกินมีแนวโน้มลดลงในทุกกลุ่มเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
- 40% ของครัวเรือนเกษตรไทยยังมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ อีกทั้งรายได้ต่อหัวมีความเหลื่อมล้ำสูง
- 57,032 บาทคือรายได้ (ต่อหัวต่อปี) โดยเฉลี่ยของครัวเรือนเกษตรไทยในปี 2560 แต่เกษตรกรกลับมีหนี้สินเป็น 1.3 เท่าของรายได้
นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นเรื่องความเป็นธรรมและยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกกำลังให้ความสำคัญกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการตรวจสอบย้อนกลับเส้นทางอาหาร ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินระดมทุนในการพัฒนาความยั่งยืน การศึกษาวิจัยว่ารายได้ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของคนที่ทำงานบนเส้นทางควรเป็นเท่าใด เป็นต้น
“ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยกลับยังไม่ให้ความสำคัญในด้านนี้มากนัก เห็นได้จากคะแนนประเมินนโยบายด้านสังคม ล่าสุดที่ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และส่วนใหญ่ยังทำประเด็นความยั่งยืนกันในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่ได้กำหนดไว้ในนโยบายของบริษัทเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจหลักแต่อย่างใด”
ทั้งนี้แคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ยังเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคแน่ใจได้ว่า การซื้อตรงจากเกษตรกรหรือ Direct Sourcing เป็นไปอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
พร้อมกันนี้ได้มีการยกตัวอย่างกรณีสหกรณ์ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งมีการรวมกลุ่มเกษตรกรอย่างเข้มแข็ง ส่งขายให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเป็นระบบ สามารถระบุที่มาของผลผลิต ตรวจสอบย้อนกลับได้ชัดเจน โดยกลุ่มเกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายที่พอใจได้เองด้วย
นั่นแสดงให้เห็นว่า การซื้อตรงอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบสามารถทำได้จริงในประเทศไทย
กล่าวโดยสรุป ซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต และเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ทีสามารถส่งต่อการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานอาหารควรให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนยกระดับการบรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนจากการทำประชาสัมพันธ์ หรือการจัดกิจกรรมรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท (CSR) ไปสู่การประกาศจุดยืน การจัดทำนโยบาย การพัฒนาข้อตกลงทางการค้าที่เป็นธรรม และการแสดงความโปร่งใสผ่านการสื่อสารนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ต่อผู้บริโภคตลอดจนการขยายขอบเขตของนโยบายไปมากกว่ากิจกรรมภายในของบริษัทไปให้ครอบคลุมถึงคู่ค้าเกษตรรายย่อย ตลอดจนแรงงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งต่อและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้ให้แก่ธุรกิจค้าปลีกอาหารของประเทศไทย