วิเคราะห์บึ้มป่วนกรุง "การเมือง-ไฟใต้" สมประโยชน์?
หลังผ่านสถานการณ์ลอบวางระเบิดป่วนเมืองมาได้ 1 วัน จนถึงขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงเริ่มได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับมือระเบิด และแผนปฏิบัติการของกลุ่มคนร้ายแล้วในระดับหนึ่ง
เหตุระเบิดและเหตุเกี่ยวเนื่องที่เป็นสถานการณ์ความไม่สงบช่วงวันที่ 1 และ 2 สิงหาคม สรุปได้ดังนี้
1. เหตุลอบวางวัตถุคล้ายระเบิดที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วงเย็นวันที่ 1 สิงหาคม จุดนี้สรุปแล้วว่าเป็นระเบิดจริง แต่เจ้าหน้าที่ยิงทำลายได้ และติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยตามภาพวงจรปิดได้ 2 คน เป็นชาวอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดยจับกุมได้ขณะหลบหนีโดยใช้รถ บขส. ที่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผล
2. เหตุระเบิดใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่องนนทรี ซึ่งจุดเกิดเหตุนี้ยังอยู่ใกล้กับอาคารมหานคร คิงเพาเวอร์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ด้วย มีระเบิด 2 ลูก ระเบิดทั้ง 2 ลูก
3. เหตุระเบิดที่หน้าศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ อาคารบี จุดนี้วางระเบิดไว้ 2 ลูก ระเบิดทั้ง 2 ลูก
4. เหตุระเบิดที่หน้ากองบัญชาการกองทัพไทย จุดนี้วางไว้ 2 ลูก ระเบิด 1 ลูก เก็บกู้ได้ 1 ลูก
5. เหตุเพลิงไหม้ย่านประตูน้ำ พบหลักฐานเป็นเศษซากอุปกรณ์เพาเวอร์แบงค์ ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า อาจเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่เพาเวอร์แบงค์ มีลักษณะเป็นระเบิดเพลิง คล้ายๆ กับเหตุระเบิดจนทำให้เกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ช่วงใกล้วันสำคัญของประเทศ เดือนสิงหาคม ปี 59
6. เหตุเพลิงไหม้บริเวณชั้นวางสินค้าในห้างดัง 2 แห่งย่านสยามสแควร์ มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นการวางระเบิดเพลิง โดยใช้ระเบิดแสวงเครื่องคล้ายๆ กับเหตุเพลิงไหม้ย่านประตูน้ำ
ส่วนเหตุระเบิดในจุดอื่นๆ เช่น ย่านพระราม 9 เป็นระเบิดปิงปองของกลุ่มวัยรุ่น ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่นเดียวกับเหตุระเบิดหน้าป้ายสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนศรีสมาน ก็เป็นสปอตไลท์ระเบิด ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบเช่นกัน (แต่มีข้อมูลที่อ้างว่ามาจากฝั่งตำรวจ ระบุว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่อง)
สำหรับเหตุการณ์ที่เหลือเป็นการพบวัตถุต้องสงสัยตามสถานที่ชุมนุมคนจำนวนมาก และสถานีขนส่งมวลชน ทั้งหมดไม่ใช่ระเบิด แต่มีการวางทั้งแบบจงใจให้เกิดความปั่นป่วน และวางทิ้งไว้จริงๆ
จากการวิเคราะห์หลักฐานและวัตถุพยานทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ สรุปได้ว่า
1. คนร้ายเป็นทีมเดียวกัน แต่แยกชุดปฏิบัติการเป็นชุดย่อยๆ / หนึ่งชุดอาจรับผิดชอบก่อเหตุ 1 จุด หรือ 2 จุด
2. วัตถุระเบิดที่ใช้เป็นระเบิดแสวงเครื่อง แบบตั้งเวลา และมี "ไอซี ไทม์เมอร์" หรืออุปกรณ์หน่วงเวลาระเบิด โดยมีการเลือกภาชนะห่อหุ้มระเบิดให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศที่นำระเบิดไปวาง
3. การวางระเบิดน่าจะวางตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงเย็นของวันที่ 1 สิงหาคม แล้วกำหนดเวลาระเบิดตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 2 สิงหาคม ไปจนถึงช่วงสายๆ เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้กับเจ้าหน้าที่ และสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน
4. เป้าหมายของการวางระเบิด แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก หน่วยงานความมั่นคง และส่วนราชการ คือที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ และกองบัญชาการกองทัพไทย / กลุ่มที่สอง ห้างสรรพสินค้า และย่านการค้ากลางกรุงเทพฯ / กลุ่มที่สาม ระบบขนส่งมวลชน
5. เป้าหมายของการสร้างสถานการณ์ ชัดเจนว่า ต้องการดิสเครดิตรัฐบาล เพราะสามารถวางระเบิดได้ในบริเวณศูนย์ราชการ และฐานบัญชาการของกองทัพ (แม้จะเป็นการวางด้านนอก แต่ผู้รับข่าวสารก็จะรู้สึกว่าเป็นการวางที่หน่วยราชการนั้นๆ) โดยคนร้ายเลือกจังหวะเวลาที่มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เพื่อให้เป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทั้งยังโจมตีเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ทั้งย่านการค้าและห้างสรรพสินค้าชื่อดัง เพื่อให้กระทบกับความเชื่อมั่น และสะเทือนภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
มีข้อสังเกตและคำถามที่ฝ่ายความมั่นคงยังหาคำตอบไม่ได้ ก็คือ เหตุใดมือระเบิดที่นำวัตถุระเบิดไปวางที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงดูเงอะงะ จับพิรุธง่าย เหมือนไม่ใช่มืออาชีพ และยังเป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เจ้าหน้าที่จับทางการหลบหนีได้ง่าย เนื่องจากคนกลุ่มนี้เมื่อก่อเหตุนอกพื้นที่ก็จะหนีกลับบ้าน
ขณะที่เหตุระเบิดตรงจุดอื่น โดยเฉพาะในย่านการค้า และห้างสรรพสินค้าดังกลางกรุง เมื่อตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด ดูลักษณะแล้วเหมือนไม่ใช่คนที่มาจากต่างจังหวัด น่าจะเป็นคนในกรุงเทพฯ หรืออยู่ในกรุงเทพฯมานานแล้ว
ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า "ชุดปฏิบัติการระเบิด" อาจเป็น "ทีมผสม" โดยใช้คนจากสามจังหวัดใต้เป็นตัวล่อ ให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมได้ง่าย และไขว้เขว แต่ทีมปฏิบัติการจริงในจุดอื่นๆ เป็นมืออาชีพกว่า และใช้ทีมทำงานที่อยู่ในกรุงเทพฯมานาน ซึ่งอาจเป็นคนสามจังหวัดหรือไม่ใช่ก็ได้
บทสรุปก็คือ การวางระเบิดหนนี้ มีการวางแผนมาอย่างดี มีการกำหนดชุดปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ ไม่สะเปะสะปะ มีเงินทุนสนับสนุนเรื่องการเดินทางและที่พัก และน่่าจะมีมือประกอบระเบิดอย่างน้อย 2 ชุด คือระเบิดแสวงเครื่อง และระเบิดเพลิง มีเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ชัดเจน มุ่งดิสเครดิตรัฐบาล เพราะหากวัตถุระเบิดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ถูกเก็บกู้ได้ ก็จะเกิดระเบิดในวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
เช่นเดียวกับเหตุวางระเบิดเพลิงในห้างดังกลางกรุงเทพฯ หากเกิดเพลิงไหม้ใหญ่ก็จะยิ่งกระทบกับภาพลักษณ์ประเทศ เพราะเกิดในช่วงที่มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
ฉะนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการสร้างสถานการณ์ครั้งนี้ จึงไม่น่าใช่รัฐบาลเอง (เพราะส่งผลเสียมากกว่าได้) แต่น่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเป็นคนวางเกม
ส่วนจะเป็นปัญหาไฟใต้ เพื่อขยายพื้นที่ปฏิบัติการและแสดงศักยภาพของกลุ่มจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น ประเด็นนี้ยังไม่มีเหตุผลรองรับชัดเจน เนื่องจากขบวนการบีอาร์เอ็นกำลังเตรียมเข้าสู่ "โต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุข" ที่จะเปิดขึ้นในรัฐบาลชุดใหม่ และสถานการณ์ในพื้นที่ช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงเพิ่งโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ สร้างความสูญเสียหนักช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศอยู่แล้ว (อ่านประกอบ :สรุปบทเรียนถล่มจุดตรวจ ชคต.ปัตตานี ..กำลังน้อย ไร้ทางหนี สู้จนตัวตาย!)
เหตุผลเดียวที่จะสนับสนุนว่า การสร้างสถานการณ์เป็นฝีมือของกลุ่มจากภาคใต้เท่านั้น ก็คือการพยายามยกระดับความสำคัญของกลุ่มขบวนการ โดยใช้ช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เป็นปัจจัยขยายข่าว เพื่อให้โลกรู้ว่ากลุ่มของตนยังมีอยู่ และเตรียมเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทย
แต่ฝ่ายความมั่นคงยังให้น้ำหนักประเด็นนี้น้อยกว่า ประเด็นการเมือง เพราะฝ่ายการเมืองตรงข้ามรัฐบาลได้ประโยชน์มากกว่า และถึงที่สุดแล้วอาจเป็นปฏิบัติการที่ "สมประโยชน์กัน" ระหว่างฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล กับกลุ่มผู้ก่อการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็ตั้งตนว่าอยู่ตรงข้ามรัฐบาลเหมือนกัน
-----------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่ตรวจจุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ย่านประตูน้ำที่กำลังถูกจับตาว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่คนร้ายจงใจสร้างสถานการณ์ขึ้นมาด้วยหรือไม่