กางข้อมูลก่อนรัฐตัดสินใจ ‘ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ’ วัดใจรัฐบาล
กางข้อมูลก่อนรัฐตัดสินใจ ‘ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ’ ม.ร.ว.จัตุมงคล คาดทำได้ ปี 63 ไม่รับปาก 400 บ./วัน นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ย้ำชัด ประกันรายได้ 1 หมื่น -จ่ายประกันสังคมแทน สร้างภาระพื้นที่คลังตึงตัว ปชช.เสพติดรัฐสวัสดิการ หวั่นกระทบเอสเอ็มอี แนะเลี่ยงแบบก้าวกระโดด
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ภายในปี 2562 จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน
โดยเป็นคำยืนยันจาก ‘ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) ภายหลังคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เกือบ 100 ชีวิต เข้าพบเพื่อสอบถามถึงความชัดเจน รวมถึงประเด็นด้านแรงงานอื่น ๆ ที่ยังค้างเติ่ง ไม่มีความคืบหน้า
(อ่านประกอบ:คสรท.จี้ ‘ม.ร.ว.จัตุมงคล’ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ)
เหตุผลหลัก คือ หากมีการปรับขึ้นช่วงปลายปีนี้ ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการจ่ายเงินพิเศษ (โบนัส) อย่างไรก็ตาม ไม่ปิดประตูเสียทีเดียว เพราะ รมว.แรงงาน ระบุ ปี 2563 อาจมีความเป็นไปได้ เพียงแต่ค่าจ้างขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ
ประเด็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้ มีการพูดถึงในเวทีเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “ค่าจ้างขั้นต่ำกับความท้าทายในสังคมไทย” จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ม.ธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) กรุงเทพฯ
ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส ฝายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดฉากการสนทนาร่วม ด้วยการหยิบยกประโยคของฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง เกี่ยวกับประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำ
หนึ่งในนั้น เป็นประโยคของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับมติชน เมื่อ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ก่อนวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยได้พูดชัดว่า “การขึ้นค่าแรงต้องขึ้นตามทักษะฝีมือ”
ขณะที่ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกกับมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อ 19 ก.ค. ว่า “เคยหารือตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว...การปรับขึ้นค่าแรงต้องเป็นไปตามทักษะฝีมือแรงงานเท่านั้น”
ส่วนมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) กล่าวกับมติชน เมื่อ 15 ก.ค. ว่า “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ...เป็นอัตราค่าจ้างแรกเข้า เพื่อใช้กับกลุ่มที่เพิ่งเข้าทำงานและยังไม่มีฝืมือ”
จากถ้อยคำเพียงไม่กี่ประโยคของบุคคลข้างต้น!!!
นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ มองว่า นักการเมืองเคยให้สัญญาว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน แต่มาวันนี้กลับกล่าวว่า เป็นไปตามทักษะฝีมือ ทั้งที่แรงงานที่มีทักษะฝีมือแล้ว ล้วนได้รับค่าจ้างเกินกว่าที่เรียกร้องทั้งสิ้น โดยยกตัวอย่างกฎหมายกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามฝีมือแรงงาน 1 ม.ค. 2562 เช่น
ช่างสีรถยนต์ ระดับ 1 ค่าจ้าง 440 บาท/วัน ระดับ2 ค่าจ้าง 515 บาท/วัน และระดับ 3 ค่าจ้าง 585 บาท/วัน
ช่างเคาะตัวถังรถยนต์ ระดับ 1 ค่าจ้าง 465 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 560 บาท/วัน และระดับ 3 ค่าจ้าง 650 บาท/วัน
ช่างอัญมณี ระดับ 1 ค่าจ้าง 440 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 650 บาท/วัน และระดับ 3 ค่าจ้าง 825 บาท/วัน
ช่างซ่อมรถยนต์ ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท/วัน ระดับ 2 ค่าจ้าง 490 บาท/วัน และระดับ 3 ค่าจ้าง 585 บาท/วัน
ดร.สราวุธ ยังเปิดเผยให้เห็นถึงสถานการณ์ลูกจ้างเอกชนที่ได้ค่าจ้างระดับต่าง ๆ พ.ศ. 2562 ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 14.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 318 บาท/วัน หรือ 8,267 บาท/เดือน สูงถึง 4 ล้านคน (ร้อยละ 27)
ขณะที่มีผู้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 8,268-8,999 บาท/เดือน 1.2 ล้านคน (ร้อยละ 8) และได้มากกว่า 8,999 บาท/เดือน 9.6 ล้านคน (ร้อยละ 65) โดยจำนวนที่ได้ค่าจ้าง 10,000 บาท/เดือน หรือวันละ 400 บาท มี 900,000 คน (ร้อยละ 6)
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ระบุว่า ในแต่ละปีมีลูกจ้างเอกชนที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าขั้นต่ำ 4 ล้านคนนั้น ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะพบเป็นเงินที่ขาดหายไป 566 ล้านบาท/วัน หรือ 14,711 ล้านบาท/เดือน หรือ 176,537 ล้านบาท/ปี กลายเป็นค่าเสียโอกาสของลูกจ้างเอกชนเหล่านั้น
นอกจากนี้เขายังพบว่า ในปี 2561 หน่วยงานภาครัฐตรวจแรงงานพบปฏิบัติไม่ถูกต้อง 9,882 คน เป็นกรณีผิดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำสูงถึง 9,789 คน (ร้อยละ 99)
แล้วขณะนี้ค่าจ้างเฉลี่ยของทั้งประเทศ 12,293 บาท/เดือน ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือน 8,268 บาท แสดงว่า ต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ย 4,025 บาท/เดือน ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวมีมาตั้งแต่ ปี 2544 ที่ค่าจ้างขั้นต่ำน้อยกว่าค่าจ้างเฉลี่ยมาโดยตลอด
วิพากษ์ 2 นโยบาย 'ค่าเเรง' กับความเป็นไปได้
เมื่อล้วงลึกไปถึงความเห็นข้อเสนอเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้บริหาร และนักการเมือง นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชวนวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน โดยให้ดูพื้นที่ทางการคลังว่า ที่ผ่านมารัฐมีภาระมากมาย ตั้งแต่บัตรคนจน บัตรทอง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ เบี้ยเด็กเกิดใหม่ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รวมต้องใช้จ่ายแต่ละปีราว 67.6 ล้านบาท ถือว่าหนักหนาสาหัส
แล้วในแต่ละปี รัฐมีรายจ่ายสูงร้อยละ 18 ของจีดีพี ขณะที่รายได้ร้อยละ 15 ของจีดีพี ดังนั้น หากนโยบายของรัฐเป็นไปในลักษณะโปะเงินเรื่อย ๆ จะเป็นหนี้!
ที่เด่นชัด มี 2 นโยบาย
กรณีที่ 1 การให้รัฐจ่ายประกันสังคมแทน 12 เดือน
ดร.สราวุธ เปิดเผยตัวเลขปัจจุบันมีผู้ประกันตน 11,599,338 คน (11.59 ล้านคน) มีเงินเดือนเฉลี่ยของลูกจ้างเอกชนอยู่ที่ 12,000 บาท โดยส่งเงินสมทบร้อยละ 5 /คน เป็นจำนวน 600 บาท
หากเป็นไปตามนโยบายนี้ รัฐต้องจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนแทนรวม 11.59 ล้านคน เป็นจำนวน 6,960 ล้านบาท/เดือน หรือ 83,520 ล้านบาท/ปี
ลูกจ้างจะได้เงินกลับมา 600 บาท/เดือน หรือ 26 บาท/วัน เมื่อรวมกับค่าจ้างขั้นต่ำ 318 บาท/วัน เท่ากับว่า ลูกจ้างจะได้รับเงิน 344 บาท/วัน ซึ่งไม่ถึง 400 บาท/วัน ตามที่มีข้อเรียกร้อง
จึงเกิดผลกระทบในขณะที่ลูกจ้างได้รับเงินส่วนต่างเต็มที่ แต่ภาระกลับเป็นของรัฐบาล
กรณีที่ 2 การประกันรายได้ เดือนละ 10,000 บาท หรือ 120,000 บาท/ปี
นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ระบุรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 17,280 ล้านบาท หรือปีละ 207,370 ล้านบาท เป็นภาระเยอะมหาศาล
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการหักส่วนผู้ได้ค่าจ้างต่ำกว่า 318 บาท ซึ่งมี 4 ล้านคนออกไป จะเหลือชดเชยสุทธิ 30,830 ล้านบาท/ปี
คำถาม คือ หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลา 12 เดือน ของการประกันรายได้แล้ว รัฐหรือนายจ้างจะให้ค่าจ้างต่อ 400 บาท/วัน หรือไม่นั้น ยังไม่มีคำตอบ!
ดร.สราวุธ สรุปความเห็นว่า เวลานี้จึงต้องแยกเป็น 2 ระบบ คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใช้สำหรับแรงงานแรกเข้า ยังไม่มีทักษะ และอัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ขณะที่การขึ้นค่าจ้างในสถานการณ์เศรษฐกิจฝืดเคืองมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs จึงไม่ควรขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ควรค่อย ๆ ปรับขึ้นร้อยละ 5-10 แต่หากไม่ปรับขึ้นเลย แรงงานจะได้รับความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจฝืด แต่มีภาวะเงินเฟ้อ (Stagflation)และเห็นว่า ควรยกเว้นการปรับขึ้นสำหรับ SMEs ที่มีขนาด 1-9 คน
ส่วนมาตรการทางออกอื่นที่มีการเสนอ เช่น การชำระเงินสมทบประกันสังคมแทนแรงงานและการประกันรายได้เดือนละ10,000 บาท โดยให้เป็นภาระของรัฐ จะทำให้มีต้นทุนสูงและพื้นที่ทางการคลังที่ตึงตัวและอาจทำให้เสพติดการพึ่งรัฐสวัสดิการ รวมถึงการนำมาตรการระบบสวัสดิการสำหรับการทำงาน (Workfare) ของสิงคโปร์ ซึ่งใช้กับลูกจ้างที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ไม่เหมาะกับประเทศไทย เพราะคนไทยค่อนไปทางรัฐสวัสดิการจนเป็นนิสัย ในขณะที่คนสิงคโปร์ไม่เชื่อเรื่องสวัสดิการอยู่แล้ว
ด้าน ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีการเรียกร้องโบนัส ปิดโรงงาน หลายคนบอกว่าอาจมีคสช. เลยไม่กล้า ซึ่งประเด็นไม่ใช่ตามนั้น แต่มีปรากฎการณ์ใหม่ สมมติ โรงงาน casio ตั้งโรงงานผลิตนาฬิกา มีการใช้แรงงาน สมัยก่อนมีการประท้วงขึ้นค่าจ้าง โดยปิดโรงงาน แต่ระยะหลัง พนักงานไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยี นำ Automation มาใช้ถูกลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่ต่างกันมากกับย้ายโรงงานไปต่างประเทศแล้วใช้แรงงานราคาถูก
โรงงาน casio จึงย้ายฐานการผลิตกลับไปตั้งที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีต้นทุนพอ ๆ กันและไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ข้อดีคือ ใกล้วัตถุดิบ ไม่ต้องกลัวงานวิจัยหลุดรอดและ Made in Japan สร้างความน่าเชื่อถือคุณภาพสูงกว่า ฉะนั้นปรากฎการณ์โรงงานย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศต้นกำเนิดจึงค่อย ๆ เกิดขึ้น เช่นเดียวกับกรณีของบริษัท ซันโย เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ระบุสาเหตุปิดกิจการมาจากปัญหาขาดทุน ซึ่งแน่นอนอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าหรือย้ายกลับประเทศ แล้วใช้ Automation
ดร.ณัฐวุฒิ วิพากษ์การเรียนการสอนของไทยด้วยว่า ไม่ตรงกับตลาดต้องการ ซึ่งจากการเก็บข้อมูล พบว่า มหาวิทยาลัยสอนเรื่องหนึ่ง แต่ตลาดสอนเรื่องหนึ่ง ทางออกดีที่สุด คือ ให้โรงงานเป็นผู้ออกแบบหลักสูตร จ่ายงบประมาณในการพัฒนาหลักสูตรกับอาจารย์ โดยการันตีว่า ผู้เรียนจบไปแล้วจะทำงานกับบริษัทนั้นและได้รับเงินเดือนสูงกวาค่าแรงขั้นต่ำ 100%
***************************
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านยังเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คงต้องพิจารณาให้รอบคอบ คำนึงถึงผลประโยชน์ทุกฝ่าย โดยไม่สร้างภาระทางการคลังของประเทศตึงตัวเกินไป จนสุดท้ายขาดสะบั้นจนหารอยเชื่อมไม่ได้ ขณะเดียวกันต้องไม่ทิ้งลูกจ้างเอกชนไว้ข้างหลัง จนแทบดำรงชีวิตไม่ได้ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/