เกษตรฯปกป้องตลาดส่งออกผลไม้ไทยไปจีนหมื่นล้าน ตรวจรับรองโรงคัดบรรจุเข้า GMP
กรมวิชาการเกษตรปกป้องตลาดส่งออกผลไม้ไทยไปจีนมูลค่าหมื่นล้าน เร่งระดมพลลงพื้นที่อำนวยความสะดวกเกษตรกร-ผู้ประกอบการช่วงฤดูส่งออกทุเรียน-มังคุดภาคใต้ดันเข้าระบบมาตรฐาน GAPและGMP ชี้เป็นใบเบิกทางส่งออกผลไม้ไทยไปจีนตามข้อตกลงร่วมกัน 2 ประเทศ หากพบสินค้ามีปัญหาจะระงับการส่งออกเฉพาะรายไม่ใช่เหมายกเข่งทั้งประเทศ พร้อมจี้จีนอัพเดทรายชื่อสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ไทยถี่กว่าเดิม เผยล่าสุดดันโรงคัดบรรจุทุเรียนและมังคุดภาคใต้ผ่านการรับรองแล้วกว่า 425 โรง
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ไทยสามารถส่งออกผลไม้สดจำนวน 22 ชนิดไปจีนด้วยมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท ผลไม้หลักที่ส่งออก คือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด เป็นต้น โดยทั้ง 2 ประเทศเห็นชอบให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายชื่อสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้สดมะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ และมังคุด จากไทยไปจีน ในขณะที่ผลไม้ที่จีนส่งเข้ามาไทย คือ แอปเปิ้ล แพร์ องุ่น พุทรา และพืชสกุลส้ม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพความปลอดภัยของผลไม้นำเข้าส่งออกระหว่าง 2 ประเทศ และช่วยตรวจสอบย้อนกลับกรณีพบปัญหาการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด จะได้มีการระงับการนำเข้าโรงคัดบรรจุที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวแทนที่จะระงับการส่งออกทั้งประเทศ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ๖๒ เป็นต้นไป การส่งออกผลไม้ 5 ชนิดของทั้งสองฝ่าย จะต้องมีการระบุหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุในใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) และระบุหมายเลขทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุในบรรจุภัณฑ์ทุกชิ้น หากไม่เป็นไปตามข้อกำหนดนี้ สินค้าผลไม้จะถูกส่งกลับ หรือนำไปทำลายหรือกรณีพบปัญหาร้ายแรง เช่น ตรวจพบศัตรูพืชกักกันจะมีการแจ้งเตือนมายังฝ่ายไทย และฝ่ายจีนจะระงับการส่งออกจากโรงคัดบรรจุที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวเท่านั้น จนกว่าจะมีการส่งรายงานการตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาและมาตรการปรับปรุงแก้ไข
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวด้วยว่า จากการประชุมหารือร่วมกับกระทรวงศุลกากรของจีนเกี่ยวกับประเด็นด้านการนำเข้าส่งออกสินค้าพืช ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเมื่อล่าสุด ไทยได้เจรจาต่อรองขอให้ฝ่ายจีนอัพเดทรายชื่อสวนและโรงคัดบรรจุบ่อยครั้งยิ่งขึ้น จากเดิมที่กำหนดอัพเดทให้ฝ่ายไทยรายไตรมาส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไปจีนได้ โดยได้ชี้แจงขั้นตอนการขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุของไทย และเน้นย้ำว่าในการตรวจรับรองเพื่อขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุจะต้องมีผลผลิตก่อน จึงทำให้มีบางส่วนยังอยู่ระหว่างรอการตรวจประเมิน ซึ่งฝ่ายจีนได้ยอมรับและเข้าใจถึงสถานการณ์การผลิตผลไม้ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรและผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ส่งออกไปจีน เร่งดำเนินการติดต่อเพื่อขอเข้ารับตรวจรับรองกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร หรือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตรในพื้นทีโดยเร็วที่สุด เพื่อมิให้เสียโอกาสในการส่งออกโดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมนี้จะมีผลผลิตทุเรียนและมังคุดจากทางภาคใต้ออกมามาก
ด้านนายวิรัตน์ ธรรมบำรุง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7(สวพ.7)กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเป็นการเร่งระบายผลผลิตทุเรียนและมังคุดตามฤดูกาลของภาคใต้ออกสู่ตลาดได้ระดมเจ้าหน้าที่จากสวพ.7 ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกเกษตรกรและผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ทุเรียน /มังคุด) และตรวจรับรองโรงคัดบรรจุผลไม้สดทั้งเปลือกภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพในการส่งออก รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจติดตามแหล่งผลิต GAP ทุเรียนในฤดูกาลผลิตภาคใต้ทั้งโรงคัดบรรจุใหม่ และการต่ออายุโรงคัดบรรจุเก่าเพื่อทวนสอบคุณภาพและมาตรฐานตามระบบ GMP ที่จะส่งออกไปยังประเทศจีน
ทั้งนี้ จากผลการตรวจรับรองโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือกเพื่อการส่งออกในพื้นที่สวพ.7 เฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตทุเรียนและมุงคุดสำคัญของภาคใต้จำนวน 3 จังหวัดประกอบด้วย ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ข้อมูล ณ 30 ก.ค 62 มีโรงคัดบรรจุผลไม้ส่งออกไปจีนได้รับการรับรองแล้วจำนวน425 โรงจากยื่นของมาทั้งหมด 461 โรง โดยชุมพร ทุเรียนยื่นขอ 290 โรง ได้รับการรับรองแล้ว 268 โรง อยู่ระหว่างดำเนินการ 22 โรง ส่วนมังคุดยื่นขอ 59 โรงได้รับการรับรอง 51 โรง อยู่ระหว่างดำเนินการ 8 โรง ส่วนนครศรีธรรมราช ทุเรียน ยื่นขอ 11 โรง ได้รับการรับรอง 10 โรง อยู่ระหว่างดำเนินการ 1 โรง มังคุด ยื่นขอ 86 โรง ได้รับการรับรอง 81โรง อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 โรง ส่วนสุราษฎร์ธานี ทุเรียน ยื่นขอ 11 โรงได้รับการรับรองทุกโรงแล้ว เช่นเดียวกับมังคุด ยื่นขอ 15 โรง ได้รับการรับรองครบทั้ง 15 โรง
“จากผลดำเนินการขึ้นทะเบียนสวน GAP และการให้การรับรองโรงคัดบรรจุผลไม้ในฤดูกาลผลิตของภาคใต้อย่างเข้มข้นในครั้งนี้ มั่นใจว่าจะช่วยเร่งระบายผลผลิตทุเรียนและมังคุดของเกษตรกรออกสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศได้มากขึ้น เนื่องจากตลาดยอมรับในคุณภาพและมาตรฐานและส่งผลระยะยาวให้ราคาผลไม้ภาคใต้มีเสถียรภาพมากขึ้น ลดปัญหาราคาทุเรียนและมังคุดที่กำลังตกต่ำในปัจจุบัน” นายวิรัตน์ กล่าว