ค้านนโยบายให้ อสม.แจกยา ชี้ไม่ช่วยแก้ปัญหา ผู้ป่วยรอคิวนาน รพ.แออัด
ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขไม่เห็นด้วย นโยบาย รมช.สธ.ให้ อสม.แจกยา ระบุไม่ตอบโจทย์ผู้ป่วยรอคิวยาว ปัญหาแออัดใน รพ.ใหญ่ หวั่นอาจทำให้เกิดปัญหาใช้ยาไม่ถูกต้อง เพราะเภสัชกรยังต้องเรียนถึง 5 ปี ก่อนจะให้คำแนะนำใช้ยากับผู้ป่วย
หลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศนโยบายสาธารณสุขประเด็นลดความแออัด ลดการรอคิวในโรงพยาบาลรัฐสังกัด สธ. พร้อมพัฒนาศักยภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) โดยแนวทางหนึ่งคือ จะพัฒนาศักยภาพ อสม. เพิ่มความชำนาญและจ่ายค่าตอบแทนเพิ่ม 2,500-10,000 บาทต่อเดือนตามศักยภาพ และให้ อสม.ทำหน้าที่ช่วยส่งยาให้ผู้ป่วย พร้อมอธิบายการใช้และผลข้างเคียง ขณะเดียวกันจะยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) โดยให้แพทย์จบใหม่ไปอยู่ประจำนั้น ปรากฏว่าเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก
นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ และเลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า นโยบายที่จะมอบให้ อสม.แจกยาพร้อมทั้งผูกกับค่าตอบแทนเพิ่มนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะโดยหลักการ และวิธีการดำเนินการไม่ชัดเจน อย่างการแจกยา ก็ไม่ทราบว่าเป็นยากลุ่มไหน และการให้อธิบายยาด้วย ตรงนี้ก็สุ่มเสี่ยงเกิดการคลาดเคลื่อนการใช้ยาได้ ซึ่งขนาดเภสัชกรยังต้องเรียนมาถึง 5 ปี ดังนั้น ในส่วนของ อสม. หากจะทำจริง ก็ต้องมีรายละเอียดชัดเจน ยกตัวอย่าง ต้องมีการอบรม และระบุประเภทของยาที่จะอนุญาตให้ อสม.ทำการส่งให้แก่ผู้ป่วยได้ ซึ่งก็ควรเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องมีระบบในการคัดเลือก อสม.อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
“ผมมองว่าหากการแก้ปัญหาด้วยการให้ อสม.มาส่งยา เพราะต้องการลดความแออัด ลดการรอคิวในโรงพยาบาล ยังไม่น่าจะตอบโจทย์ได้ดีพอ เพราะจริงๆ แล้วจุดที่ทำให้เกิดการรอคิวนาน คือ การรอพบแพทย์ หากตัดตรงจุดรับยาก็ไม่ได้ช่วยมาก ที่สำคัญจุดนี้เป็นจุดที่เภสัชกรต้องให้คำแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้องกับประชาชน ซึ่งปกติก็มีการคลาดเคลื่อนการใช้ยาอยู่แล้ว หากตัดจุดนี้ไปกังวลว่าจะเกิดปัญหาเพิ่ม” นายริซกี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จริงๆแล้วโรงพยาบาลมีระบบบริการจัดส่งยา โดยอาศัยความร่วมมือกับทางไปรษณีย์ในการจัดส่งอยู่แล้วหรือไม่ นายริซกี กล่าวว่า ใช่ แต่ก็จะขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่พร้อม และส่วนใหญ่เป็นการจัดส่งให้แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางกลุ่ม เช่น โรคความดัน เบาหวาน ตนจึงมองว่านโยบายที่จะให้ อสม.จัดส่งยาก็ควรมีการพิจารณาอย่างละเอียดก่อน
ผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายการให้แพทย์จบใหม่ไปประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เนื่องจากมองว่าโรงพยาบาลควรต้องมีแพทย์ และเป็นการยกระดับ นายริซกี กล่าวว่า จริงๆ รพ.สต.ไม่ใช่สถานพยาบาลที่พร้อมรองรับแพทย์ เนื่องจากยังขาดเครื่องไม้เครื่องมือ เพราะหากแพทย์คนหนึ่งจะมาประจำโรงพยาบาลต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครัน และต้องมีบุคลากรสาธารณสุขอีกหลายวิชาชีพรองรับการปฏิบัติงานของแพทย์ตามมาอีก อย่าลืมว่าต้องมีเรื่องงบประมาณ ตรงนี้ต้องหาแนวทางรองรับด้วย
“ปัจจุบัน รพ.สต. ยังขาดบุคลากรประจำ อย่างปกติต้องมีประมาณ 7-15 คน อีกตั้งหลายแห่งในกว่า 9 พันแห่งทั่วประเทศก็ยังขาดบุคลากรอีกเยอะ ที่สำคัญวัตถุประสงค์ของ รพ.สต.คือการดูแลสุขภาพเบื้องต้น และ รพ.สต.ส่วนใหญ่ก็อยู่พื้นที่กันดาร หากแพทย์จบใหม่ไปอยู่ก็อยู่ไม่นาน ส่วนตัวจึงยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอดูรายละเอียดก่อนว่า นโยบายนี้จะชัดเจนอย่างไรต่อไป” นายริซกี กล่าว