ศธ.ดึง มท.-อปท.เซ็นต์ “โรงเรียนดีตำบล” 7 พันแห่ง “คำตอบใหม่การศึกษา”
เวิลด์แบงค์ระบุไทยประสบความสำเร็จขยายโอกาสการศึกษา แต่คุณภาพเด็กต่ำลง นายกฯยอมรับช่องว่างเด็กเมือง-ชนบทถ่างจนน่าห่วง ศธ.จับมือ มท.ชู “โรงเรียนดีประจำตำบล” คำตอบใหม่การศึกษาไทย เน้นสถานที่น่าเรียน ครูดี นักเรียนมีคุณภาพ สร้างทักษะอาชีพ เพิ่มบริการชุมชน
วันที่ 5 พ.ย.53 ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “ชาติก้าวไกล โรงเรียนไทยเข้มแข็ง” และเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU)โรงเรียนดีประจำตำบลระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)และกระทรวงมหาดไทยใน(มท.)โดยมีนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ รมว.ศธ. นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มท. นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุรชัย ขันอาสา รักษาราชการอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และผู้บริหารของทั้งสองกระทรวงร่วมด้วย
นายชินวรณ์ กล่าวว่ารายงานของธนาคารโลกระบุว่าไทยประสบความสำเร็จในการขยายโอกาสทางการศึกษา แต่คุณภาพของนักเรียนลดลง โรงเรียนส่วนใหญ่ในชนบทยังด้อยคุณภาพ ทั้งนี้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพจะรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบันได้ กระทรวงศึกษาธิการจึงดำเนินการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งครั้งนี้เป็นการปฏิรูปครั้งที่ 2 ซึ่งเน้นการพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพเป็นทั้งคนเก่งและคนดี จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้เป็นสถานศึกษายุคใหม่ โดยกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 3 กลุ่มได้แก่ โรงเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานสากล 500 โรงเรียน โรงเรียนดีประจำอำเภอ 2,500 โรงเรียน และโรงเรียนดีประจำตำบลจำนวน 7,000 โรงเรียน
“เพื่อให้โรงเรียนดีประจำตำบลเป็นโรงเรียนคุณภาพสำหรับเด็กชนบท ซึ่งเป็นกลุ่มด้อยโอกาสทางการศึกษาเมื่อเทียบกับเด็กเมือง ทั้งนี้นอกจากการพัฒนาทางกายภาพแล้ว จะมีการพัฒนาคุณภาพ มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง มีห้องสมุดที่ดี และที่สำคัญคือมีครูที่ดี” รมว.ศธ. กล่าว
รมว.ศธ. ยังกล่าวว่า โครงการโรงเรียนดีประจำตำบลเป็นการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างเป็นรูปธรรม โดยพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ เข้มแข็งทั้งทางวิชาการ ส่งเสริมทักษะอาชีพ สุขภาพ และเป็นศูนย์บริการวิชาการสำหรับโรงเรียนใกล้เคียง รวมทั้งมีกิจกรรมบริการชุมชน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กในชนบท มีโอกาสและคุณภาพทางการศึกษา รวมทั้งให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนและ อปท.ซึ่งถือเป็นการกระจายอำนาจทางการศึกษาด้วย
“การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถทำลำพังได้ ชุมชน อปท. และภาคส่วนอื่นๆมีบทบาทสำคัญ วันนี้จึงมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน” นายชินวรณ์ กล่าว
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังเปิดงานว่า ระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมามีปัญหามากที่สุดคือคุณภาพการศึกษาในชนบท ขณะที่หลายพื้นที่ในเขตเมืองและจังหวัดมีโรงเรียนคุณภาพเทียบเคียงได้กับสากล จึงเกิดช่องว่างทางการศึกษา ซึ่งอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง คือนอกจากเป็นปัญหาคุณภาพการศึกษา ยังสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 จะมุ่งเน้นคุณภาพและโอกาสของคนไทยในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเน้นคุณธรรมนำความรู้ ประกอบด้วยการขยายโอกาสเข้าถึงการศึกษา และการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองที่ดี มีทักษะชีวิต มีคุณธรรม การขับเคลื่อนหลักสูตร การประเมินผล การพัฒนาคุณภาพบุคลากรการศึกษา รวมถึงการเน้นคุณภาพนักเรียน
“โรงเรียนดีประจำตำบลมีเป้าหมายให้โรงเรียนเป็นต้นแบบการให้บริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เกิดเครือข่ายการพัฒนา เกิดการใช้ทรัพยากรทั้งครู อุปกรณ์ เทคโนโลยี อย่างมีประสิทธิภาพ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการโรงเรียนดีประจำตำบล ของกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มดำเนินการในปี 2553 นี้ไปแล้ว 182 แห่ง โดยมีกรอบคิดคือ 1.พัฒนาผู้เรียนให้เกิดความเข้มข้น 2.พัฒนาเทคโนโลยีและสื่อการเรียนการสอน 3.พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา และมีแนวคิดที่จะให้เป็น “โรงเรียนดีในกำกับของชุมชน” ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ นอกจากมีการเซ็นต์ MOU ระหว่าง ศธ.และ มท.แล้ว จะให้มีการเซ็นต์ MOU ระหว่างผู้บริหารโรงเรียนกับนายก อบต.ในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้มีหลักการว่า อบต.ควรสนับสนุนสวัสดิการพื้นฐาน เช่น รถรับส่งนักเรียน .