เผยโฉม "ไฟโด้-สเปคเทร็กซ์" เครื่องตรวจระเบิดแกะกล่องใช้แทน "จีที 200"
ข่าวฉาวเกี่ยวกับเครื่องตรวจร่องรอยสสารระยะไกล หรือที่รู้จักกันในนาม "เครื่องตรวจระเบิด จีที 200" ได้กลับมาหลอกหลอนหน่วยงานด้านความมั่นคงไทยอีกครั้ง เมื่อทางการอังกฤษแจ้งข้อหาฉ้อโกงกับเจ้าของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งส่งเจ้าอุปกรณ์ตรวจระเบิดกำมะลอนี้ไปขายกว่า 20 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย
ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรียก 13 หน่วยงานที่จัดซื้อและส่อว่าเข้าข่ายแพงเกินจริงหรือฮั้วประมูล เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทผู้ผลิต หากตรวจสอบภายในแล้วเชื่อว่าถูกหลอกลวงฉ้อโกง ส่วนคดีฮั้วประมูลหรือทุจริตจัดซื้ออยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ของผู้ปฏิบัติงานในสนาม ต้องยอมรับว่าหลังจากมีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เมื่อ 2 ปีก่อนออกมาชัดเจนว่า "จีที 200" มีความแม่นยำน้อยกว่าการ "เดาสุ่ม" จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องส่งสัญญาณเลิกใช้ โดยเฉพาะกองทัพบกที่ใช้ "จีที 200" ในการตรวจหาวัตถุระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากถึง 541 เครื่องนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีเครื่องตรวจระเบิดประสิทธิภาพดีส่งให้กำลังพลได้ใช้ปกป้องชีวิตตนเองและประชาชนแต่อย่างใด
ทำให้มีข่าวจากบางกระแสว่า กำลังพลบางส่วนยังแอบใช้ "จีที 200" กันอยู่เลย เพื่อสร้างความมั่นใจ โดยเฉพาะในภาคใต้
ล่าสุดมีข่าวว่ากองทัพบกได้อนุมัติจัดซื้อเครื่องตรวจมวลสารและวัตถุระเบิด ยี่ห้อ "ไฟโด้" รุ่น "เอ็กซ์ที" (Fido-XT) ซึ่งได้รับการยอมรับเรื่องประสิทธิภาพ จำนวน 4 เครื่อง งบประมาณ 15 ล้านบาท ทั้งยังเตรียมจัดซื้อเครื่องตรวจร่องรอยสารระเบิดแบบพกพา "สเปคเทร็กซ์" (Spectrex) จำนวน 40 ชุด งบประมาณ 40 ล้านบาทจากสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ทหารในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ใช้ทดแทน "จีที 200" ด้วย
แหล่งข่าวจากวงการค้าอาวุธ เปิดเผยว่า เครื่องตรวจระเบิด "ไฟโด้" นั้น กองทัพบกจัดซื้อจากบริษัทแอดวาสน์ เอวิโอนิกส์ แอนด์ เอวิเอชั่น จำกัด (Advance Avionics & Aviation Co.,Ltd.) หรือเรียกกันติดปากในวงการว่า "AAA" ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย ตั้งอยู่ย่านบางจาก พระโขนง ข้อมูลจากเว็บไซต์ระบุว่าเป็นบริษัทที่จัดจำหน่ายอุปกรณ์ตรวจการณ์ทางการบิน อุปกรณ์สำหรับจัดการจราจรทางอากาศ และเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด โดยเฉพาะ "ไฟโด้" มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี
ส่วนเครื่องตรวจสารระเบิดแบบพกพา "สเปคเทร็กซ์" จำนวน 40 ชุดนั้น แหล่งข่าวระบุว่า จัดซื้อจากบริษัท สเปคการ์ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยเช่นกัน ตั้งอยู่ย่านลาดพร้าว โดยบริษัทแห่งนี้เคยจำหน่ายอุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงรบกวนพิเศษระยะไกลขนาดกลางชนิดติดตั้งประจำรถ ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อใช้ในภารกิจควบคุมฝูงชนมาแล้ว
สำหรับการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดล็อตใหม่นี้มีกระบวนการที่รัดกุมเป็นพิเศษ หลังจากเคยผิดพลาดมาแล้วเมื่อครั้งจัดซื้อ "จีที 200" โดยบริษัทผู้จัดจำหน่ายจะต้องส่งอุปกรณ์ตรวจระเบิดไปให้ศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ "เนคเทค" ตรวจสอบประสิทธิภาพก่อน ซึ่งล่าสุดมีรายงานจากวงการค้าอาวุธว่า เครื่องตรวจระเบิดทั้ง 2 รุ่นผ่านการตรวจเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เครื่องตรวจระเบิด "ไฟโด้" เป็นอุปกรณ์แบบพกพา มีขนาดเหมาะมือ ทำงานด้วยแบตเตอรี่ขนาดเล็ก ใช้หลักการตรวจไอระเหยหรืออนุภาคของสารระเบิด วิธีใช้ต้องนำเครื่องไปจ่อใกล้ๆ กับบุคคลหรือวัตถุต้องสงสัยเพื่อให้เครื่องตรวจหาไอระเหยว่ามีสารระเบิดหรือไม่ โดยตรวจได้ทั้งบุคคล ยานพาหนะ กระเป๋าเสื้อผ้า และตู้สินค้าขนาดกลาง สามารถติดตั้งกับหุ่นยนต์เพื่อเข้าไปตรวจหาวัตถุอันตรายอย่างใกล้ชิดได้ สนนราคาเครื่องละ 3-5 ล้านบาท
ส่วนเครื่องตรวจหาร่องรอยสารระเบิดแบบพกพา "สเปคเทร็กซ์" จากการตรวจสอบข้อมูลในอินเทอร์เน็ตพบว่า เป็นชุดตรวจสารระเบิดที่ต้องเก็บตัวอย่างสารที่ต้องการตรวจมาวางบนเครื่อง จากนั้นจึงหยดสารเคมีลงบนตัวอย่าง เครื่องจะใช้เวลาประมวลผลประมาณ 30 วินาที ก็จะแสดงผลเป็น "สี" ว่าตัวอย่างที่นำมาตรวจนั้นปนเปื้อนสารระเบิดหรือไม่ โดยสีแต่ละสีจะแสดงค่าแทนสารระเบิดแต่ละชนิด
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายในอเมริกา ระบุสรรพคุณเอาไว้ว่า "สเปคเทร็กซ์" สามารถตรวจหาสารระเบิดได้มากกว่า 30 ชนิด ใช้ได้ในทุกสภาพอากาศ ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบา ทำงานด้วยแบตเตอรี่
อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ขอออกนามว่า เครื่องตรวจหาร่องรอยสารระเบิด "สเปคเทร็กซ์" น่าจะเหมาะกับการใช้ตรวจสถานที่ต้องสงสัยว่ามีการประกอบระเบิด หรือตรวจวัตถุพยานหลังจากเกิดระเบิดแล้วมากกว่าการตรวจหาวัตถุระเบิดในเชิงป้องกัน เพราะต้องนำสารตัวอย่างไปเข้ากระบวนการตรวจสอบ จึงอาจไม่เหมาะกับการตรวจหาวัตถุระเบิดในลักษณะตรวจตราเพื่อความปลอดภัยอย่างในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกรายซึ่งเป็นอดีตนายตำรวจ มองว่า อุปกรณ์ตรวจระเบิดลักษณะนี้มีประโยชน์น้อย เพราะผลตรวจเป็นเพียง Primary Test หรือผลทดสอบเบื้องต้นที่มีความคลาดเคลื่อนอยู่ เหมือนการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด หากจะใช้เป็นหลักฐานทางคดี ไม่สามารถใช้แค่ผลตรวจ Primary Test ที่ตำรวจนิยมใช้ได้ แต่ต้องเป็นผลตรวจจากแล็บในโรงพยาบาล การตรวจหาสารระเบิดก็เช่นกัน หากต้องการความแน่นอน แม่นยำ และใช้เป็นหลักฐานทางคดี ก็ต้องผ่านการตรวจจากแล็บเท่านั้น
ส่วนการเข้าตรวจที่เกิดเหตุ ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าแจ้งให้ "อีโอดี" หรือชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิดเข้าตรวจสอบ ซึ่งอีโอดีจะมีความเชี่ยวชาญ และมีอุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น บอมบ์สูท หรือหุ่นยนต์เก็บกู้ เมื่อพบว่าเป็นระเบิดจริงก็ต้องยิงทำลาย ไม่ควรเสี่ยงชีวิตเข้าไปเก็บกู้ โดยกันประชาชนและผู้ไม่เกี่ยวข้องออกห่างจากรัศมีของแรงระเบิด
ด้านความคืบหน้าการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจีที 200 ของ 13 หน่วยงานนั้น นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบการทุจริตจัดซื้อเครื่อง จีที 200 และอัลฟา 6 รวม 13 ชุด เพื่อแยกกันตรวจหน่วยงาน 13 หน่วยงานไปพร้อมกัน โดยในวันที่ 26 ก.ค. กรรมการ ป.ป.ช.จะนัดหารือเพื่อพิจารณาว่าจะมอบหมายให้ใครจะรับผิดชอบเรื่องใดบ้าง ทั้งจะขอข้อมูลจากทางการอังกฤษเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ขณะที่ พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง ดีเอสไอ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานที่จัดซื้อเครื่อง จีที 200 หรืออัลฟา 6 เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดีเอสไอดำเนินคดีพร้อมเรียกเงินคืนจากบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าวเลย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เครื่องตรวจวัตถุระเบิดล็อตใหม่ที่กองทัพบกกำลังจัดซื้อ (ซ้าย) สเปคเทร็กซ์ (ขวา) ไฟโด้ (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)