เปิดผลสำรวจสวมหมวกกันน็อก ปี 61 กลุ่มเด็กใส่น้อยสุด-ชูโรงเรียนปลูกจิตสำนึก
"...ภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารในประเทศไทยสวมหมวกนิรภัยเพียง 45% แบ่งเป็น เฉพาะผู้ขับขี่ 52% และเฉพาะผู้โดยสาร 22% อัตราส่วนจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มผู้ใหญ่ รวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร 48% (เฉพาะผู้ขับขี่ 53% และเฉพาะผู้โดยสาร 27%) กลุ่มวัยรุ่น รวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร 22% (เฉพาะผู้ขับขี่ 28% และเฉพาะผู้โดยสาร 11%) และกลุ่มเด็ก เฉพาะผู้โดยสาร 8%..."
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิไทยโรดส์ และ เครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) แถลงผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ประจำปี 2561 ณ โรงแรมแกรนด์เมอร์เคียว ฟอร์จูน พระราม 9 กรุงเทพฯ
ผลสำรวจ “อัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561” ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานจาก มูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับ บุคลากร จาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการสนับสนุนจาก สสส. ระบุว่า ภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารในประเทศไทยสวมหมวกนิรภัยเพียง 45% แบ่งเป็น เฉพาะผู้ขับขี่ 52% และเฉพาะผู้โดยสาร 22%
อัตราส่วนการสวมหมวกนิรภัยโดยภาพรวมทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร 45% นั้น 10 อันดับแรก (10 จังหวัด) ที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 85% ภูเก็ต 61% นนทบุรี 60% นครศรีธรรมราช 59% สมุทรปราการ 59% ปทุมธานี 56% เชียงใหม่ 53% ระยอง 52% พิษณุโลก 51% และเพชรบูรณ์ 50% ส่วน 10 อันดับแรก (12 จังหวัด) ที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยต่ำสุด คือ บึงกาฬ 12% นราธิวาส 16% นครพนม 19% ยะลา 20% ยโสธร 20% ปัตตานี 21% ชัยภูมิ 21% เลย 23% หนองคาย 25% และพัทลุง ชุมพร อ่างทอง จังหวัดละ 26%
อัตราส่วนการสวมหมวกนิรภัยเฉพาะผู้ขับขี่ 52% นั้น 10 อันดับแรก (11จังหวัด) ที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 92% สมุทรปราการ 71% นนทบุรี 70% ภูเก็ต 70% ปทุมธานี 69% นครศรีธรรมราช 68% ระยอง 61% เพชรบูรณ์ 59% และสระบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก จังหวัดละ 58% ส่วน 10 ลำดับแรก (10 จังหวัด) ที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยต่ำสุด คือ บึงกาฬ 14% นราธิวาส 22% นครพนม 24% ชัยภูมิ 26% ยะลา 26% ยโสธร 26% เลย 27% ปัตตานี 28% หนองคาย 28% และหนองบัวลำพู 31%
อัตราส่วนการสวมหมวกนิรภัยเฉพาะผู้โดยสาร 22% นั้น 10 อันดับแรก (11 จังหวัด) ที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 55% นครศรีธรรมราช 35% เชียงใหม่ 33% ภูเก็ต 31% พิษณุโลก 29% นนทบุรี 27% ตราด 25% สมุทรปราการ 25% และชลบุรี ระยอง สุโขทัย จังหวัดละ 23% ส่วน 10 ลำดับแรก (11 จังหวัด) ที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยต่ำสุด คือ ยะลา 4% บึงกาฬ 4% ปัตตานี 4% นราธิวาส 4% พัทลุง 5% สตูล 5% ยโสธร 6% อุทัยธานี 6% และตรัง นครพนม ชัยภูมิ จังหวัดละ 7%
อัตราส่วนจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือ รวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร 42% เฉพาะผู้ขับขี่ 49% เฉพาะผู้โดยสาร 20% ภาคกลางและภาคตะวันออก รวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร 57% เฉพาะผู้ขับขี่ 64% เฉพาะผู้โดยสาร 31% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร 32% เฉพาะผู้ขับขี่ 38% เฉพาะผู้โดยสาร 14%และภาคใต้ รวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร 37% เฉพาะผู้ขับขี่ 46% เฉพาะผู้โดยสาร 14%
อัตราส่วนจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มผู้ใหญ่ รวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร 48% (เฉพาะผู้ขับขี่ 53% และเฉพาะผู้โดยสาร 27%) กลุ่มวัยรุ่น รวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร 22% (เฉพาะผู้ขับขี่ 28% และเฉพาะผู้โดยสาร 11%) และกลุ่มเด็ก เฉพาะผู้โดยสาร 8%
ด้าน นายวีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 เปิดเผยว่า ผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2561 จัดทำขึ้นโดย มูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โดย สสส. ให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลการสวมหมวกนิรภัย ซึ่งขณะนี้เป็นฐานข้อมูลเดียวของประเทศ ที่เก็บต่อเนื่องและเป็นระบบรวมกว่า 9 ปี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันในพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในจังหวัดต่างๆ สามารถนำไปใช้อ้างอิงเป็นฐานข้อมูลสำหรับการติดตามประเมินผลการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์สวมใส่หมวกนิรภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย การประชาสัมพันธ์รณรงค์ และอื่นๆ
“การสูญเสียอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยในแต่ละปี ส่วนหนึ่งเป็นการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ ‘ศีรษะ’ ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ หมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์เดียวที่จะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บที่ศีรษะในขณะที่ประสบอุบัติเหตุ แม้ว่าในปี 2554 รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น ‘ปีแห่งการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100%’ แต่ผลการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2561) สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งประเทศยังคงมีแนวโน้มคงที่ ไม่ถึง 50% อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนด้วยกัน” นายวีระพันธ์ กล่าว
ขณะที่ นายณัฐพงศ์ บุญตอบ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิไทยโรดส์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 โดยสำรวจผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จำนวน 1,529,808 คน ทั้งในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย พบว่า ภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยสวมหมวกนิรภัยเพียง 45% แบ่งเป็นผู้ขับขี่และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยเพียง 52% และ 22% ตามลำดับ
จังหวัดที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยสูงสุดของแต่ละภูมิภาค เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง (ปี 2559-2561) ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ (53%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ (46%) ภาคกลางและตะวันออก (ไม่รวม กทม.) จ.นนทบุรี (59%) และภาคใต้ จ.ภูเก็ต (61%)
นอกจากนี้จังหวัดที่มีพัฒนาการของอัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นดีเด่น (3 ปีย้อนหลัง) ในเขตชุมชนเมือง ได้แก่ ภาคเหนือ จ.แพร่ (69%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองบัวลำภู (66%) ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.ระยอง (56%) และ ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช (75%)
และจังหวัดที่มีพัฒนาการของอัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นดีเด่น (3 ปีย้อนหลัง) ในเขตชุมชนชนบท ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ (56%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ (41%) ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.สระบุรี (45%) และ ภาคใต้ จ.ภูเก็ต (50%) และอัตราการสวมหมวกนิรภัย ในกลุ่มผู้โดยสารสูงสุด ปี 2561 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (55%)
เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุรวมผู้ขับขี่และผู้โดยสารพบว่า กลุ่มผู้ใหญ่สวมหมวกนิรภัย 48% กลุ่มวัยรุ่น 22% และกลุ่มเด็กเฉพาะผู้โดยสาร มีการสวมหมวกนิรภัยเพียง 8% เท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบบริบทพื้นที่การสำรวจพบว่า อัตราสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารใน เขตเมืองใหญ่ 78% เขตเมืองรอง 45% และเขตชุมชนชนบท เพียง 31% เท่านั้น
"ขณะที่กรุงเทพมหานครเมืองขนาดใหญ่และมีความเข้มงวดในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับภาคีต่างๆ ได้ประกาศนโยบาย 'กรุงเทพมหานคร เมืองต้นแบบ สวมหมวกนิรภัย 100%' และดำเนินการตลอดปี 2561 ส่งผลให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ สวมหมวกนิรภัยสูงถึง 85% โดยเฉพาะในกลุ่มผู้โดยสารที่มีการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มสูงขึ้นจาก 39% ในปี 2560 เป็น 55% ในปี 2561 สูงที่สุดในประเทศ" นายณัฐพงศ์ กล่าว
นายณัฐพงศ์ เปิดเผยอีกว่า จากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลของการไม่สวมหมวกนิรภัย มี 10 เหตุผลสำคัญ คือ เดินทางระยะใกล์ 64% ไม่ได้ขับขี่รถออกถนนใหญ่ 37% เร่งรีบ 29% ร้อน อึดอัด สวมใส่แล้วไม่สบาย สกปรก 21% กลัวผมเสียทรง 13% ไม่มีที่เก็บ พกพาลำบาก กลัวหาย 10% ตำรวจไม่จับ 8% ไม่มีหมวกนิรภัย 7% คิดว่าโอกาสเกิดอุบัติเหตุมีน้อย 6% และบุคคลที่นั่งมาด้วยก็ไม่ได้สวม 4%
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงกับอัตราผลสำรวจดังกล่าวที่ภาพรวมยังไม่ถึง 50% โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่ผลสำรวจพบว่า สวมหมวกนิภัยเพียง 8% และ 22% เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น สอดคล้องกับ ข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปี 2561 จากทั้งหมด 20,169 ราย ระบุว่า 70% มาจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และส่วนใหญ่เป็นคนช่วงอายุ 15-24 ปี (อ่านประกอบ : ตาย2หมื่น วัยรุ่นมากสุด! สอจร.เปิดสถิติอุบัติเหตุถนนปี61 ยื่น บิ๊กตู่ บรรจุนโยบายรบ.)
หลายฝ่ายจึงมีความเห็นส่วนหนึ่งร่วมกันว่า โรงเรียนเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาการไม่สวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปลูกจิตสำนึก ให้ความรู้ แม้กระทั่งการบังคับใช้ในสถานศึกษาเอง เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้มีข้อเรียกร้องจากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีมติเห็นชอบ 12 เป้าหมายโลก สำหรับการดำาเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน เมื่อวันที่่ 22 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป้าหมายที่ 7 ระบุว่า "ภายในปี 2573 เพิ่มสัดส่วนของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่สวมหมวกนิรภัย ที่ได้มาตรฐานอย่างถูกต้องให้ ใกล้เคียงร้อยละ 100"
ส่วนเป้าหมายนี้ ประเทศไทยจะไปถึงได้หรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไป
สามารถดูผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่ : http://trso.thairoads.org/statistic/helmet
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ภาพจาก : มูลนิธิไทยโรดส์