หมออำพลแนะคืนสิทธิให้ชุมชนจัดการสุขภาพเอง
“หมออำพล” ชี้สังคมไทยยังขาดนโยบายสุขภาพที่ดี แจงสมัชชาเป็นแค่เครื่องมือสะท้อนเสียงจากพื้นที่ ไม่ใช่คำตอบ แนะชุมชนสร้างนโยบายเอง รัฐเปิดทาง-กม.เอื้อ ปฏิรูประบบสุขภาพท้องถิ่นจึงเกิดจริง
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนถึงประเด็นการปฏิรูประบบสุขภาพท้องถิ่นว่า ขณะนี้ทิศทางการพัฒนาประเทศมุ่งไปยังชุมชน มิติทางสุขภาพก็เช่นกัน ที่ผ่านมาการกระจายระบบสาธารณสุขลงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานีอนามัย โรงพยาบาลตำบล มีมากขึ้นก็จริง แต่นั่นไม่ได้ตอบโจทย์ของการปฏิรูประบบสุขภาพ เพราะชาวบ้านยังไม่สามารถสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองอันจะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับชุมชนคือ ร่างกายดี ครอบครัวดี ทำมาหากินได้เกื้อกูลกันทั้งภายในและภายนอก อยู่เย็นเป็นสุขได้
“สุขภาพไม่ได้เป็นเรื่องแค่หมอดี โรงพยาบาลดีเท่านั้น เพราะชุมชนถูกทำให้เป็นที่รองรับ ปัญหาต่างๆ จากภายนอกที่บั่นทอนสุขภาวะมานาน จนหมดความเข้มแข็ง อย่างทุกวันนี้เกษตรกรทำเกษตรเพื่อขาย ภายนอกก็ส่งเสริมการใช้สารเคมี โดยไม่มีการควบคุม กรณีแบบนี้ที่ต้องคืนสุขภาพหรือกำหนดนโยบายสาธารณะที่จะทำอย่างไรให้มีกระบวนการรู้เท่าทัน ป้องกัน สิ่งที่จะเข้ามาทำลายชีวิต”
เลขาธิการ สช. กล่าวต่อไปว่า ก้าวต่อของการปฏิรูประบบสุขภาพท้องถิ่นคือ 1.ต้องคืนสิทธิให้ชุมชนจัดการกันเอง 2.ส่งเสริมกระบวนการร่วมคิดร่วมทำ สังเคราะห์ปัญหา ปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการจัดการสุขภาพ 3.แม้จะมีการยกระดับสถานบริการสุขภาพท้องถิ่นระดับต่างๆ และนโยบายรัฐมากมาย รวมถึง ต้นแบบดีๆในหลายพื้นที่ แต่ประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญที่สุดที่ยังขาดอยู่คือการสนับสนุนให้มีนโยบายสาธารณะที่ดี ข้อนี้ต้องเร่งทำให้เกิดขึ้นในสังคม และ 4.ในเรื่องที่ยากเกินกว่าชุมชนจะทำเองได้ ควรได้รับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากภายนอก เช่น แก้ไขกฎกติกาบางอย่างที่ข้างนอกครอบงำอยู่ เพื่อผลักดันเข้าสู่การปฏิรูปประเทศ
นพ.อำพล กล่าวถึงกระบวนการสมัชชาสมัชชาสุขภาพว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเด็นและสรุปเป็นนโยบาย ไม่ใช่กลไกเดียวที่จะทำให้สุขภาวะคนไทยดีได้ทั้งหมด ทุกอย่างล้วนต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ มาเสริมกันด้วย เพียงแต่สมัชชามีผลลัพธ์สุดท้ายที่ฉันทามติ หมายความว่าจะเป็นคำตอบของภาพรวมปัญหา ระบบสุขภาพ และสิ่งที่พื้นที่อยากเห็นในอนาคต
“ระบบสุขภาพที่ดีของชุมชน คือการเป็นชุมชนอยู่เย็นเป็นสุขไม่ได้เอาเงินมาเป็นตัวตัดสิน ชาวบ้านสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่ดีได้ ลูกหลานมีโอกาสได้เรียนอยู่ในชุมชน ไม่ทิ้งถิ่นไม่ทิ้งที่ ไม่ต้องเข้ามาเป็นคนแปลกหน้าในชุมชนที่ตนไม่มีความคุ้นเคย จึงจะเรียกว่าเกิดสังคมที่มีความสุขแน่นอน” เลขาธิการ สช. กล่าว