สสส.ร่วมผลักดัน 5 ข้อเสนอแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3
สสส.หนุนเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ดูแลช่องปาก ร่วมผลักดัน 5 ข้อเสนอในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เน้นมีฟันดี 20 ซี่ ในวัย 80 ปี เข้าถึงบริการมากขึ้น นักวิชาการเสนอเร่งผลิตทันตาภิบาลให้เพียงพอในระดับตำบล ดูแลสูงวัยทุกกลุ่ม
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในมิติต่าง ๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการดูแลสร้างเสริมให้มีผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี เป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่สังคมและผู้สูงอายุยังมองข้าม เนื่องจากมีการมีสุขภาพช่องปากและฟันที่สะอาดจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบาย ไม่เจ็บปวด ไม่มีกลิ่นปาก กินอาหารได้ตามปกติและได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ โดยเฉพาะปัญหาปอดติดเชื้อจากการสำลัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ การดูแลช่องปากอย่างดีจะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขและส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม สสส. จึงร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และข้อเสนอเชิงนโยบายประกอบการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 โดยประเด็นสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุไทยเป็นหนึ่งในข้อเสนอสำคัญ ที่จะเสนอให้บรรจุไว้ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติที่เป็นแผนระยะ 20 ปี และจะเริ่มในปี 2566 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแผนฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545-2564 แต่ประเด็นสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก โดยการสนับสนุนการวิจัยประเด็นสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุไทย ผ่านโครงการการทบทวนสถานการณ์ความต้องการระบบและเครื่องมือที่จะตอบสนองต่อปัญหาของผู้สูงอายุ ในประเทศไทยและการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง โดย ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ
“ผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากประเทศไทยปี 2560 พบว่าผู้สูงอายุวัย 60-75 ปี สูญเสียฟันทั้งปากร้อยละ 8.7 และเพิ่มเป็นร้อยละ 31 ในวัย 80-85 ปี สาเหตุ จากโรคฟันผุและโรคปริทันต์ ซึ่งโรคดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม และคุณภาพชีวิต ของผู้สูงอายุ แม้ว่าผู้สูงอายุจะมีสิทธิ์รับบริการด้านสุขภาพช่องปาก ทั้งด้านส่งเสริมป้องกัน รักษา และฟื้นฟู แต่ปัญหาคือไม่สามารถเข้าถึงบริการ เพราะเดินทางลำบาก ไม่มีคนพาไป รอคิวนาน”นางภรณี กล่าวและว่า นอกจากนี้ช่วงที่ผ่านมา สสส.ร่วมกับมส.ผส.จัดทำคู่มือการดูแลผู้สูงวัย ช่องปากสุขี สำหรับผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (care manager) ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เพื่อให้ทราบถึงวิธีการดูแลช่องปากของผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านกับกลุ่มติดเตียงซึ่งต่างมีเงื่อนไขเฉพาะตัว และสามารถเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมในการดูแลผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มได้
ด้านทพญ.ชื่นตา วิชชาวุธ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่จังหวัดเชียงใหม่ และนครศรีธรรมราชว่า ชมรมผู้สูงอายุหรือโรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นสถานที่ที่ผู้ติดสังคมมาเข้าร่วมกิจกรรมหลายแห่งมีการให้ความรู้เรื่องสุขภาพช่องปาก มีทันตาภิบาลเป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษา รวมทั้งออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุติดเตียง รพ.สต.บางแห่ง มีทันตแพทย์หมุนเวียนไปปฏิบัติงาน แต่เน้นการรักษาไม่ใช่ป้องกัน โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้มีฟันดี 20 ซี่ ในวัย 80 ปี มีดังนี้ 1.เร่งผลิตทันตาภิบาล/นักวิชาการสาธารณสุขด้านทันตสาธารณสุข ลงไปใน รพ.สต.เพิ่มปีละกว่า 1,500 คน เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอในระดับตำบล 2.เพิ่มการเข้าถึงบริการโดยระบบบริการรัฐร่วมเอกชน ให้ผู้สูงอายุรับบริการจากคลินิกได้ตามสิทธิที่ยังขาดการบริการ ได้แก่ อุด ขูด ถอน ใส่ฟันเทียม รากฟันเทียม โดยไม่ต้องร่วมจ่าย 3.ทันตแพทยสภา กระทรวงอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ในเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
4. กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองท้องถิ่น รวมถึงกรุงเทพมหานคร พัฒนาระบบบริการทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุทุกกลุ่ม ตั้งแต่บริการทันตสาธารณะสุขในชุมชนที่สามารถค้นหาภาวะผิดปกติและส่งต่อไปยังระบบที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างชุมชน ไปยัง รพ.สต., โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ เป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง 5.กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนงบประมาณเพื่อประเมินผลติดตามสถานการณ์เรื่องทันตสุขภาพของประชาชนไทยกลุ่มต่างๆ ทุก 2 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในการวางแผนการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการทันตสุขภาพ