ก่อนบ.แม่โดนคดีสินบน! ไมโครซอฟท์THAIโชว์รายได้พันล.-ยันรัฐบาลไทยไม่เกี่ยวข้อง
"....ไมโครซอฟท์ขอยืนยันว่า "รัฐบาลไทยรวมถึงเจ้าหน้าที่ของไทยไม่เกี่ยวข้อง" ในกรณี ดังกล่าวแต่ยอมรับว่ามีพนักงานไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ร่วมกับพาร์ทเนอร์เอกชนได้นำเงินไปใช้ในการดำเนินการผิดประเภท ซึ่งปัจจุบันพนักงานคนดังกล่าวไม่ได้ ทำงานอยู่กับไมโครซอฟท์ประเทศไทยแล้ว..."
บริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ป ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยินยอมจ่ายเงินจำนวน 26 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งค่าปรับในคดีอาญา เพื่อแลกกับการยุติการสอบสวนเรื่องการติดสินบนในประเทศฮังการี ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และไทย
โดยในส่วนของซาอุดิอาระเบีย และไทย นั้น ทางบริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ป เปิดเผยข้อมูลเป็นทางการว่า บริษัทสาขาของไมโครซอฟท์ในซาอุดิอาระเบียและไทย ได้กระทำการมอบ ของขวัญและจ่ายค่าเดินทางให้กับลูกค้าทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลและพนักงานบริษัทเอกชนโดยไม่เหมาะสม ด้วยเงินทุนที่บริหารจัดการโดยคู่ค้าและตัวแทนจำหน่ายของไมโครซอฟท์
ขณะที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org "ยังไม่ได้รับรายงานข้อมูลเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูในรายละเอียดว่า ถ้าเกิดกรณีการขายซอฟต์แวร์ลดราคา แล้วปรากฏว่ามีการอัพราคามากกว่าที่ควรจะเป็นเกิดขึ้นในประเทศไทย หน่วยงานที่ใช้ซอฟแวร์ดังกล่าวจะเป็นหน่วยงานใดบ้าง ถ้าหากเป็นหน่วยงานภาครัฐ ก็เป็นหน้าที่ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะต้องไปติดตามตรวจสอบ แต่ถ้าหากเป็นเอกชน ตรงนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของทางกระทรวงพาณิชย์จะไปดูแล"
คือ ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว (อ่านประกอบ : เสียใจ-ยอมจ่ายค่าปรับ! เปิดคำแถลงไมโครซอฟท์ คดีสินบนข้ามชาติ 4 ปท., เปิดปมไมโครซอฟท์ จ่ายสินบนไทย -'พุทธิพงษ์' ขอดูรายละเอียดก่อน ราชการหรือเอกชน เอี่ยว?)
ล่าสุดในช่วงเช้าวันที่ 26 ก.ค.2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจ่ายสินบนในไทยเพิ่มเติม
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่บริษัทฯ ได้แจ้งให้สำนักข่าวอิศรา ส่งอีเมลติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารเป็นทางการ พร้อมคำถามประกอบการสัมภาษณ์ เข้าไปให้พิจารณาล่วงหน้าก่อน
อย่างไรก็ดี สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 ทุนปัจจุบัน 34,400,000 บาท สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 87/2 ชั้น 37 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการทางการตลาดแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันและให้บริการเกี่ยวกับซอฟต์แวร์
ปรากฎชื่อ นายคีธ แรนเจอร์ โดลลิเวอร์ นายเบนจามิน โอเว่น โอร์นดอร์ฟ นางลี แอนน์ คิเวียท นางสุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์ นางสาวชุติมา สีบำรุงสาสน์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 22 พฤศจิกายน 2561 ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น สัญชาติอเมริกัน ถือหุ้นใหญ่สุด 99.9999% อเมริกัน มูลค่า 34,399,960 บาท หุ้นที่เหลือกระจายอยู่ในชื่อ ไมโครซอฟท์ เวนเจอร์ อิงค์ สัญชาติอเมริกัน, ยูเอ็นเอช 1 คัมปะนี , ยูเอ็นเอช 2 คัมปะนี และ เอ็มเอสเอชซี แอลแอลซี แห่งละ 1 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ถืออยู่แห่งละ 10 บาท
นำส่งข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจล่าสุด ณ 30 มิถุนายน 2561 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 1,028,002,976 บาท รายได้อื่น 1,839,219 บาท รวมรายได้ 1,029,842,195 บาท มีรายจ่ายรวม 941,616,476 บาท กำไรสุทธิ 67,073,396 บาท
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกแถลงการณ์การ ชี้แจงถึงกรณีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ สหรัฐ หรือ SEC แถลงว่า ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ยินยอมจ่ายเงินมูลค่ากว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อยอมความกรณีละเมิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตข้ามชาติ (Foreign Corrupt Practices Act - FCPA) จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของพนักงานบริษัทสาขาใน 4 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ที่ถูกระบุว่ามีรัฐบาลไทยเกี่ยวข้อง
ไมโครซอฟท์ขอยืนยันว่า "รัฐบาลไทยรวมถึงเจ้าหน้าที่ของไทยไม่เกี่ยวข้อง" ในกรณี ดังกล่าวแต่ยอมรับว่ามีพนักงานไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ร่วมกับพาร์ทเนอร์เอกชนได้นำเงินไปใช้ในการดำเนินการผิดประเภท ซึ่งปัจจุบันพนักงานคนดังกล่าวไม่ได้ ทำงานอยู่กับไมโครซอฟท์ประเทศไทยแล้ว
ขณะที่ ไมโครซอฟท์ ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐ เพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ที่อาจเกิดขึ้นจากพนักงานของทั้ง 4 ประเทศ ในช่วงปี 2012-2015 โดยการประพฤติมิชอบในครั้งนี้ นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถยอมรับได้ เราได้เริ่มการสอบสวนทันทีหลังจากที่ได้รับทราบเหตุการณ์ดังกล่าว และได้ให้ข้อมูลกับรัฐบาลสหรัฐ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ สำหรับในประเทศฮังการี ที่เกิดเหตุร้ายแรงที่สุดนั้น ไมโครซอฟท์ได้ปลดพนักงานออกทั้งหมด 4 คน และยุติการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ ได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เมื่อหลายปีก่อน บริษัทรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก และหวังว่ามาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการแก้ไขไป รวมถึงการจ่ายค่าปรับในครั้งนี้ จะถือเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนักแน่นถึงจุดยืนของเราในฐานะขององค์กร และไมโครซอฟท์จะไม่ยอมให้พนักงานและพันธมิตรกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์และโปร่งใสของบริษัท
หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ไมโครซอฟท์ ได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงแก้ไข สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ไมโครซอฟท์ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาความไว้วางใจกับลูกค้า พันธมิตร และภาครัฐของเราทั่ว ทุกมุมโลก โดยบริษัทจะเรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ที่เกิดขึ้น และพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของพนักงานบริษัทสาขาของไมโครซอฟท์ใน 4 ประเทศ ตามคำแถลงของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สหรัฐ พบว่า บริษัทสาขาของไมโครซอฟท์ในประเทศฮังการีได้เสนอส่วนลดค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แก่ผู้แทนจำหน่าย ผู้จัดจำหน่าย และบุคคลที่สามอีกจำนวนหนึ่ง แต่ยอดส่วนลดกลับถูกนำไปใช้เป็นค่าตอบแทน ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติอย่างไม่เหมาะสม ในการขายซอฟต์แวร์ แทนที่จะเป็นการให้ส่วนลดแก่รัฐบาลผู้เป็นลูกค้าของไมโครซอฟท์
ส่วนอีกกรณี SEC พบว่า บริษัทสาขาของไมโครซอฟท์ในประเทศซาอุดีอาระเบีย และประเทศไทยได้มอบของขวัญและ จ่ายค่าเดินทางให้กับลูกค้าทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ รัฐบาลและพนักงานบริษัทเอกชน โดยไม่เหมาะสม ด้วยเงินทุนที่บริหาร จัดการโดยคู่ค้าและตัวแทนจำหน่าย ของไมโครซอฟท์
นอกจากนี้ SEC ยังพบว่า บริษัทสาขาของไมโครซอฟท์ในตุรกีได้เสนอส่วนลดค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในมูลค่าที่สูงผิดปกติให้กับบุคคลที่สามที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่มีการระบุรายละเอียดการให้บริการใดๆ ในบันทึกเอกสารของไมโครซอฟท์เอง
ทั้งนี้ SEC ระบุว่าไมโครซอฟท์ได้ละเมิดข้อกำหนดด้านการควบคุมเอกสารและบันทึกทางการบัญชีและระบบการบัญชีภายในองค์กรตามมาตรา 13(b)(2)(A) และ 13(b)(2)(B) ในกฎหมาย หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปี ค.ศ.1934 โดยไมโครซอฟท์ยินยอมปฏิบัติ ตามคำสั่งงดเว้นการกระทำ และตกลงชดใช้เงินกลับเป็นมูลค่า 13,780,733 เหรียญสหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยมูลค่า 2,784,418 เหรียญสหรัฐ
ส่วนไมโครซอฟท์ ฮังการี ก็ยินยอมจ่ายค่าปรับทางอาญาเป็นเงิน 8,751,795 เหรียญสหรัฐ ตามข้อตกลงยุติคดีความ กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ เกี่ยวกับการละเมิดข้อบังคับด้านเอกสารและบันทึกทางการบัญชีในกฎหมายต่อต้านการทุจริตข้ามชาติ (อ้างอิงข้อมูลส่วนนี้จากhttps://www.bangkokbiznews.com/news/detail/841823)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/