วชช.โต้ ศอฉ.ฟันมั่ว 95 สถานีรับประชุมจีบีซี เตรียมร่างจรรยาบรรณวิทยุชุมชน
สหพันธ์วิทยุชุมชน และ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อออกโรงโต้ ศอฉ. ฟันมั่วข้อหาโคมลอยสร้างสังคมแตกแยก-จาบจ้วงเบื้องสูง แต่จับด้วยกฎหมายจิ๊บจ๊อยเครื่องส่งผิดระเบียบ เตรียมร่างจรรยาบรรณวิทยุชุมชนคุมกันเอง
จากกรณีที่เมื่อเร็วๆนี้ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ออกมาระบุว่าที่ประชุม ศอฉ.ได้มีการพิจารณาถึงแผนรักษาความปลอดภัยในการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา(จีบีซี)ครั้งที่ 7 ที่พัทยา และได้มีการสรุปความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมทั้งสั่งตรวจสอบวิทยุชุมชน 95 แห่งที่ไม่ได้ยื่นหลักฐานขออนุญาตจัดตั้ง และจำนวนนี้มีสถานีที่เข้าข่ายสร้างความแตกแยกให้สังคมและจาบจ้วงสถาบัน ซึ่งจะให้ตำรวจลงไปจัดการอย่างจริงจัง
วันที่ 30 ต.ค. นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวสถาบันอิศราว่า สัปดาห์ที่แล้วมีวิทยุชุมชนโดนจับ 2 แห่งที่ จ.ขอนแก่น และในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามี 8 แห่งที่นครศรีธรรมราช ทั้งที่ได้ใบเหลือง(ใบอนุญาตทดลองออกอากาศ 300วัน) คือผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)แล้ว แต่กลับถูกจับ แสดงถึงความไม่มีมาตรฐานของ กทช.และ ศอฉ. ซึ่งตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นการขู่วิทยุชุมชนที่ต้องการสื่อสารเรื่องการเมืองกับสังคม โดยกล่าวหาว่าละเมิดสถาบัน สร้างความแตกแยกในสังคม แต่เวลาลงไปจับกลับใช้ข้อหาครอบครองเครื่องส่งผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน และหากใช้เกณฑ์นี้ก็จับได้เกือบทั้งประเทศ
“สหพันธ์ฯ และ คพส.(คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ)ก็ไม่เห็นด้วยกับวิทยุที่สร้างความแตกแยกให้สังคมและละเมิดสถาบัน แต่ที่ต้องออกโรงค้านเพราะเราไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจรัฐโดยไม่มีหลักฐานตามข้อกล่าวหา และถามว่าวิทยุชุมชนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ตั้งคำถามวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมั้ย เรื่องพวกนี้สื่ออื่นๆก็ทำกัน”
นายวิชาญ ยังยกตัวอย่างวิทยุชุมชนแปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ฯ เคยถูกคนร้องเรียนว่าถ่ายทอดสัญญาณการชุมนุมเสื้อแดง ทั้งๆที่ยังด้อยเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตก็ไม่มีใช้ แต่โดนสั่งปิด ทีหลังจึงรู้ว่าจับผิด แต่ ศอฉ.ก็ทำได้แค่เอาเงินไปมอบให้ชาวบ้านสู้คดีในศาล แสดงว่าที่ผ่านมามีแต่ข้อกล่าวหา ไม่เคยมีการลงไปพิจารณาในรายละเอียด นายวิชาญยังกล่าวว่าขณะที่สื่อประเภทอื่นมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ขณะนี้สมาพันธ์ฯก็กำลังร่างจรรยาบรรณวิทยุชุมชนเช่นกัน
ด้าน นายไพศาล ภิโลคำ ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า การกระทำของ ศอฉ.เป็นการปิดกั้นเสรีภาพสื่อซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับประเทศประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญระบุว่าคลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติที่ทุกคนเข้าถึงได้ และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางการเมืองก็เป็นอำนาจที่สื่อทำได้ แต่ในกรณีวิทยุหมิ่นเบื้องสูงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตรงนี้วิทยุชุมชนควรเข้าใจด้วย
“ตอนนี้มีวิทยุชุมชนที่สนับสนุนทางการเมืองพยามยามยื่นขออนุญาตประกอบกิจการชั่วคราวกันมาก ศอฉ.คงต้องการจัดการวิทยุกลุ่มนี้ แต่ลืมไปว่าตัวเองกำลังใช้อำนาจพิเศษที่ประกาศหลัง รธน.เหมือนใช้อำนาจปฏิวัติมาเลือกปฏิบัติกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับอำนาจรัฐ”
ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชน จ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า กทช.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลวิทยุชุมชน ตาม พ.ร.บ.กิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ต้องออกมาแสดงบทบาทให้ชัดเจนในเรื่องนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ ศอฉ.ใช้อำนาจปฏิวัติมาดำเนินการ และการตรวจสอบก็ต้องทำกับวิทยุทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะวิทยุการเมืองหรือวิทยุพาณิชย์ ที่สำคัญคืออย่าเหมารวมว่าสถานีนั้นเป็นเหลืองหรือแดง ต้องมีหลักฐานชัดเจนและพิจารณาให้รอบคอบ บางแห่งเป็นปัญหาที่นักจัดรายการบางคนเอียงซ้ายเอียงขวา ไม่ใช่ทั้งสถานี เพราะวิทยุมีประโยชน์กับประชาชน การปิดสถานีหรือยึดเครื่องส่งไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง มีวิทยุชุมชนถูกปิดไปแล้ว 40-50 แห่งในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ปัจจุบันมีวิทยุชุมชนทั้งหมด 6,531 สถานีที่เปิดดำเนินการ จำนวนนี้ที่นักวิชาการและคนทำงานด้านสื่อวิทยุชุมชนระบุว่าเป็นวิทยุชุมชนแท้ๆ คือไม่มีโฆษณา และไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพียงแค่ 200 กว่าแห่ง .