เปิดปมไมโครซอฟท์ จ่ายสินบนไทย -'พุทธิพงษ์' ขอดูรายละเอียดก่อน ราชการหรือเอกชน เอี่ยว?
"....การทำข้อตกลงของบริษัทไมโครซอฟท์นั้น จะทำให้มีการเพิกถอนข้อกล่าวหาจากทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯที่กล่าวหาว่าบริษัทไมโครซอฟท์ได้ดำเนินการอย่างเลินเล่อในการกำกับดูแลการซื้อขาย รวมไปถึงกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศไทย จนเป็นเหตุให้เกิดทั้งกรณีการให้สินบน และกรณีการให้ส่วนลดที่อธิบายไม่ได้ในกระบวนการทางธุรกรรม ซึ่งกรณีการทำธุรกรรมแล้วปรากฎว่ามีส่วนลดที่อธิบายไม่ได้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทไมโครซอฟท์ที่ประเทศตุรกีด้วย..."
การยินยอมจ่ายเงินจำนวน 26 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งค่าปรับในคดีอาญา เพื่อแลกกับการยุติการสอบสวนเรื่องการติดสินบน ของ บริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ป ในประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังถูกจับตามองในประเทศไทย
เนื่องจากปรากฎข้อมูลว่า บริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ป มีการจ่ายเงินสินบนให้กับประเทศไทยด้วย
โดยข้อมูลเรื่องการจ่ายเงินสินบนในประเทศไทยดังกล่าว ปรากฎในรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศว่า ไมโครซอฟท์ตกลงที่จะจ่ายเงินราว 16.6 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีซึ่งบริษัทถูกกล่าวหาจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (ก.ล.ต.สหรัฐ) ว่า บริษัทได้จ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสมต่อรัฐบาลไทย ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และฮังการี โดยบริษัทไม่ต้องยอมรับผิดในคดีดังกล่าว
ก.ล.ต.สหรัฐ ยังระบุว่า ไมโครซอฟท์ได้มอบของขวัญ และเสนอแพคเกจเดินทางท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสมต่อเจ้าหน้าที่ไทย และซาอุดีอาระเบีย ผ่านทางกองทุนลับที่มีการจัดตั้งขึ้นโดยบุคคลที่ 3
ขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ ฮังการี จะจ่ายเงิน 8.75 ล้านดอลลาร์เป็นค่าปรับทางคดีอาญา เพื่อรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพนักงาน ( อ้างอิงข่าวส่วนนี้ จาก https://www.nationtv.tv/main/content/378727401/?qz=)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า วอชิงตันโพสต์ สื่อชื่อดังในสหรัฐ ได้เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ว่า ทางบริษัทไมโครซอฟท์นั้นจะมีการจ่ายเงินเป็นจำนวนเกือบ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (803,270,000 บาท) เพื่อแก้ปัญหากรณีเจ้าหน้าที่บริษัทถูกตั้งข้อหาว่าได้ให้สินบนกับทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลฮังการี
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า นายแบรด สมิธ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของบริษัทไมโครซอฟท์ ยังได้ส่งอีเมล์ถึงพนักงานระบุถ้อยคำว่า กรณีมีพนักงานที่ไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทุจริตแบบนี้นั้น เป็นเรื่องที่รับไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง
วอชิงตันโพสต์ ยังระบุด้วยว่า แม้ทางบริษัทไมโครซอฟท์ จะมีการจ่ายเงินเพื่อยุติการดำเนินคดีดังกล่าว แต่ทางบริษัทไมโครซอฟท์ ก็ไม่ได้ออกมายอมรับหรือปฏิเสธว่าได้กระทำความผิดในกรณีนี้แต่อย่างใด
สำหรับ ที่ไปที่มาของการจ่ายเงินเพื่อยุติการดำเนินคดีนั้น จากการตรวจสอบพบว่า เกิดขึ้นในช่วงปี 2561 หลังจากที่สำนักข่าววอลสตรีท เจอร์นัล ของสหรัฐฯ ได้รายงานว่ากระทรวงยุติธรรมและ ก.ล.ต.สหรัฐ ได้ดำเนินการสอบสวนกรณีที่บริษัทไมโครซอฟท์ได้ขายซอฟแวร์ลดราคาให้คนกลางจากประเทศฮังการี
ก่อนที่คนกลางคนดังกล่าว จะนำซอฟแวร์ลดราคาไปขายต่อให้กับรัฐบาลฮังการีในราคาที่สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงตั้งแต่ปี 2556-2558
ทั้งนี้ มีรายงานว่า คนกลางคนดังกล่าว ยังได้นำเอาเงินที่ได้มาโดยมิชอบไปใช้ในการจ่ายเป็นสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยเช่นกัน
วอชิงตันโพสต์ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก.ล.ค.สหรัฐ ได้ส่งเอกสารยืนยันไปยังศาลว่า บริษัทไมโครซอฟท์เองก็ไม่มีมาตรการที่เหมาะสมเพียงพอ จะป้องกันพฤติการณ์การก่ออาชญากรรมดังกล่าว
ขณะที่ ในปี 2557 มีรายงานจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ เพิ่มเติมว่า ลูกจ้างของบริษัทไมโครซอฟท์อังการีนั้น ได้รับซอฟแวร์ซึ่งลดราคาไปประมาณ 27.85 เปอร์เซ็นต์จากราคาเต็ม เพื่อขายให้กับหลายงานด้วยภาษีของประเทศฮังการี แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่บริษัทชาวฮังการี กลับไม่ได้ขายซอฟแวร์ในราคาส่วนลดแต่อย่างใด แต่ใช้ส่วนต่างราคาดังกล่าวจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลฮังการี
เบื้องต้น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ ยังได้ระบุต่อไปด้วยว่า บริษัทไมโครซอฟท์นั้น ได้ให้ความร่วมมือกับการสอบสวนในกรณีนี้อย่างเต็มที่ และบริษัทเองก็ยังได้ยอมรับว่าไม่ได้มีมาตรการตรวจสอบเพียงพอว่าซอฟแวร์ราคาส่วนลดที่ถูกขายมีความถูกต้องด้านราคาหรือไม่ และยังไม่มีการตรวจสอบว่าซอฟแวร์ที่ถูกลดราคาไปนั้นได้ไปถึงมือลูกค้าอย่างแท้จริงหรือไม่เช่นกัน
โดยข้อมูลจากทางกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ มีการระบุว่าบริษัทไมโครซอฟท์นั้นต้องจ่ายเงินให้กับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯไปแล้วในกรณีประเทศฮังการีทั้งสิ้น 16,565,151 ล้านดอลลารห์สหรัฐ หรือประมาณ 511,896,296 บาท จากข้อผิดพลาดในประเทศฮังการี
ส่วนทางบริษัทไมโครซอฟท์ของประเทศฮังการีเอง ก็ได้พยายามที่จะบรรลุข้อตกลงเพื่อจะไม่ให้มีการดำเนินคดีจากทางกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา โดยแลกกับเงื่อนไขว่าบริษัทจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 8.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 270,287,500 บาท
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าวนี้ ว่า การทำข้อตกลงของบริษัทไมโครซอฟท์นั้น จะทำให้มีการเพิกถอนข้อกล่าวหาจากทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯที่กล่าวหาว่าบริษัทไมโครซอฟท์ได้ดำเนินการอย่างเลินเล่อในการกำกับดูแลการซื้อขาย รวมไปถึงกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศไทย จนเป็นเหตุให้เกิดทั้งกรณีการให้สินบน และกรณีการให้ส่วนลดที่อธิบายไม่ได้ในกระบวนการทางธุรกรรม ซึ่งกรณีการทำธุรกรรมแล้วปรากฎว่ามีส่วนลดที่อธิบายไม่ได้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทไมโครซอฟท์ที่ประเทศตุรกีด้วย
“แม้ว่าบริษัทไมโครซอฟท์ฮังการีจะไม่ได้ออกมายอมรับในข้อผิดพลาดแบบเต็มใจนัก แต่บริษัทไมโครซอฟท์ฮังการีเองก็ได้รับการยอมรับและชื่นชมในฐานะที่พยายามจะจ่ายเงินเพื่อที่จะชดเชยกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับความร่วมมือกับบริษัทแม่ไมโครซอฟท์และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ในการสืบสวนสอบสวนและออกมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก” จากข้อความตอนหนึ่งในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริการะบุ
ล่าสุด มีรายงานว่า นายแบรด สมิธ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของบริษัทไมโครซอฟท์ ออกมาเปิดเผยว่า ทางบริษัทไมโครซอฟท์ได้ไล่พนักงานจำนวน 4 ราย ที่อยู่ในแผนกฮังการีออกจากตำแหน่ง และพยายามที่จะตัดความสัมพันธ์กับทางผู้ค้าคนกลางในฮังการีทุกกรณีในปี 2559 แต่ว่าทางผู้ค้าคนกลางก็พยายามจะไปฟ้องร้องต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศฮังการี ส่วนตัวลูกจ้างที่ถูกไล่ออกนั้นก็ได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อบริษัทไมโครซอฟท์
นายแบรดกล่าวต่อว่า "เขาต้องขอขอบคุณหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายและศาลในประเทศฮังการีด้วยที่ตัดสินคดีที่เป็นคุณ กับความพยายามของบริษัทไมโครซอฟท์ที่จะตัดความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ค้าคนกลางทั้งหมด และขอขอบคุณไปยังกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาและก.ล.ต.สหรัฐ ที่เข้าใจเจตนารมณ์การดำเนินการของบริษัทไมโครซอฟท์ด้วย"
เรียบเรียงจาก: https://gizmodo.com/microsoft-will-pay-out-26-million-in-settlement-over-h-1836619826, https://www.justice.gov/opa/pr/hungary-subsidiary-microsoft-corporation-agrees-pay-87-million-criminal-penalties-resolve
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อสอบถามข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติม
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า "ยังไม่ได้รับรายงานข้อมูลเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูในรายละเอียดว่า ถ้าเกิดกรณีการขายซอฟต์แวร์ลดราคา แล้วปรากฏว่ามีการอัพราคามากกว่าที่ควรจะเป็นเกิดขึ้นในประเทศไทย หน่วยงานที่ใช้ซอฟแวร์ดังกล่าวจะเป็นหน่วยงานใดบ้าง ถ้าหากเป็นหน่วยงานภาครัฐ ก็เป็นหน้าที่ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะต้องไปติดตามตรวจสอบ แต่ถ้าหากเป็นเอกชน ตรงนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของทางกระทรวงพาณิชย์จะไปดูแล"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2562 ที่ผ่านมา บริษัทไมโครซอฟท์ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า บริษัทสาขาของไมโครซอฟท์ในซาอุดิอาระเบียและไทย ได้กระทำการมอบ ของขวัญและจ่ายค่าเดินทางให้กับลูกค้าทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลและพนักงานบริษัทเอกชนโดยไม่เหมาะสม ด้วยเงินทุนที่บริหารจัดการโดยคู่ค้าและตัวแทนจำหน่ายของไมโครซอฟท์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/