3 แกนนำฝ่ายค้านชำแหละนโยบาย รบ. เลื่อนลอย-ครึ่งเผด็จการ-ใจกลางปัญหาคือ รธน.?
“โดยสรุปคือไม่เห็นว่ารัฐบาลนี้มีประสิทธิภาพเพียงนำเอานโยบายมาเรียนต่อที่ประชุมให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างจริงจัง การเข้าสู่อำนาจขาดความชอบธรรม ใช้รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาโดยพวกพ้อง เอื้อประโยชน์ในการสืบทอด ผลักดันคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่ง ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ เมินเฉยต่อการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น บิดเบือนกลไกกฎหมายเอื้อพวกผ้อง อันนี้อาจแรงไปที่บอกว่า โกหกประชาชนและนานาชาติ แต่เป็นข้อเท็จจริงคือ ท่านบอกพี่น้องประชาชน ต่างชาติว่า จะนำเข้าสู่ประชาธิปไตย แต่ขณะนี้เป็นประชาธิปไตยอะไร มันเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม หรือครึ่งเผด็จการเท่านั้นเอง”
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 เป็นอีกวันสำคัญทางการเมืองของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากต้องนำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
อย่างที่หลายคนทราบไปแล้ว ช่วงเช้าเกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เพราะ ‘บิ๊กตู่’ อ่าน ‘นอกบท’ ขยายความจากเอกสารแถลงนโยบายที่แจกต่อรัฐสภาไปก่อนหน้านี้ ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน ต้องประท้วงขอให้พูดในประเด็น แม้แต่ ‘นายหัวชวน’ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ถึงกับต้องขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ อ่านตามเอกสาร
หลังจากใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงเศษ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จสิ้น นายชวน จึงเปิดโอกาสให้ ส.ส. อภิปรายนโยบายดังกล่าว โดยเริ่มต้นจาก 3 หัวหน้า-เลขาธิการพรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่
ทั้ง 3 ราย อภิปรายด้วยความดุเดือด วาทะเชือดเฉือนกรีดไปยัง ‘บิ๊กตู่-เพื่อนพ้องน้องพี่’ ไว้น่าสนใจ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ : รบ.ขาดความชอบธรรม-ประชาธิปไตยครึ่งเผด็จการ
ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในวันนี้ ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการรับรู้แนวทางนโยบายของรัฐบาล มีหลายนโยบายที่ส่งผลต่อสภาพชีวิตของประชาชน และการอภิปรายจะเป็นประโยชน์อย่ายิ่ง
ภายใต้โลกาภิวัตน์มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีความท้าทายในสงครามการค้า ต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ ภัยแล้ง ปัญหาสังคม ปัญหาที่ถดถอยในอุปสรรคการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน และปัญหาการท่องเที่ยว คงทราบว่าปัญหาการท่องเที่ยวลดลงถึง 30% ปัญหารัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นอีกปัญหาหนึ่ง สภาพรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการต่าง ๆ รับมือความท้าทาย
“ดังนั้น เรียนด้วยความเคารพไม่มีความมั่นใจว่า รัฐบาลจะนำนโยบายไปแก้ไขปฏิบัติต่าง ๆ ให้กับประเทศได้”
เรียนด้วยความเคารพว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาโดยเฉพาะรัฐบาลที่แล้ว หลายส่วนที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือตัวนายกรัฐมนตรี ต่อมาคือด้านรัฐมนตรีต่าง ๆ ที่สำคัญคือ รัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แกนนำสำคัญของรัฐธรรมนูญชุดนี้ มีความสำคัญต่อสาธารณชนอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามในความเห็นตนจากการติดตามการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ จากผู้คนในสื่อมวลชน ในบ้านเมืองได้พูดจากันต่าง ๆ ไม่ใช่ในไทย แต่ต่างประเทศด้วย ค่อนข้างมั่นใจว่า ประชาชนทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ไม่ได้ให้ความเชื่อมั่นรัฐบาลชุดนี้เลยแม้แต่น้อย
“ความเชื่อมั่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนนี้ กับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนเดิม หน้าเดิม ๆ จะสามารถแก้ปัญหาให้กับประเทศ การที่รัฐบาลชุดใหม่ยืนยันใช้บุคลากรคนเดียว ที่ล้มเหลวใน 5 ปีที่ผ่านมา มีแต่นำประเทศไปสู่หายนะ มืดมน และเป็นอันตรายที่สุดต่อประชาชนชาวไทย และประเทศไทย”
การตั้งรัฐบาลในลักษณะดังกล่าว ขาดความสง่า ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมาย ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม รัฐมนตรีแต่ละคน มาจากนายกรัฐมนตรี คือแต่งตั้งให้รัฐมนตรีของตัวเองตั้งพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ชื่อตามนโยบายของรัฐบาล ต่อมาวันดีคืนดี ตัวรัฐมนตรีกลับมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีก ก็อยู่ในพรรคการเมืองนั้น ก่อนเลือกตั้งไม่นาน ดำเนินการ อยากเรียนว่าเป็นการซื้อเสียงด้วยซ้ำไป ท่านอนุมัติงบกลางใส่บัตรคนจนครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นการเพิ่มเติมค่าตอบแทนให้บุคคลเหล่านั้น แต่ที่ร้ายที่สุด โอนงบประมาณจำนวนหนึ่งให้กับ อสม. เพียง 2 วันก่อนจะมีการเลือกตั้ง เรียนด้วยความเคารพว่า เป็นรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม และไม่สง่างามเลย
อีกประการหนึ่ง คุณสมบัติผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีเป็นเรื่องสำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มคุณสมบัติรัฐมนตรีไว้อย่างเข้มข้น ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง 2 ประโยค ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ มีรัฐมนตรีหลายคนที่มีคดีความผิดติดตัวอยู่ ทั้งคดีกล่าวหาร้ายแรง บางท่านเป็นคดียาเสพติด แต่รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ออกมาแก้ต่างว่า ความผิดที่เกิดในต่างประเทศ ไม่ได้เกิดในไทย ห้ามไม่ให้คดียาเสพติดมาเล่นการเมืองตลอดชีวิต นี่เป็นสิ่งที่อยากเรียนผ่านไปนายกฯ จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ทำเหมือนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิรูปเลย เช่น พี่เป็นรัฐมนตรีไม่ได้เอาน้องมา เป็นต้น
“มันไม่สวยงาม พิลึกกึกกือยิ่งกว่านอมีนีด้วยซ้ำ อย่างนี้เหรอเป็นการปฏิรูปการเมือง ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน”
คราวนี้มาดูปัญหาคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีบ้าง ท่านมีคำสั่งมามากให้คนปฏิบัติ ใครไม่ทำกำลังดำเนินคดี ได้รับโทษฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน หากไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่พูดต่อไป เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ในดุลพินิจของศาล
กล่าวโดยสรุป ปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมาในรัฐบาลที่แล้ว ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มีสโลแกนออกมาว่า ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ เศรษฐกิจของพ่อค้าวาณิชย์ที่เป็นเศรษฐีทั้งหลายนั้นดีวันดีคืน แต่พ่อค้ารายย่อยลำเค็ญ ทุ่มเทงบประมาณไม่ค่อยจะเหมาะสมนัก ให้เกิดภาวการณ์ขาดดุล การขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นทุกครั้งในทุกปี สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากไปยังรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจคือ หนี้ครัวเรือนที่ขณะนี้กราบเรียนด้วยความเคารพว่า เป็นหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ขณะนี้ เศรษฐกิจยุคที่เราผ่านกันมานี้ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง อยู่ระดับท้าย ๆ ของอาเซียนเลย ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นอดีตผู้นำมาหลายปี และเป็นมาประจำ แต่กระทั่งขณะนี้มีหนังสือพิมพ์ต่างชาติบ้าง ขนานนามไทยว่า Sick Man of Asia หรือผู้ป่วยแห่งเอเชีย เป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างยิ่ง
ความล้มเหลวในการใช้งบประมาณมุ่งเน้นที่กองทัพ เข้าใจว่ากองทัพจำเป็นอย่างยิ่งใช้งบประมาณเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ แต่อยากให้มีการพิจารณาลักษณะที่ว่า อย่าให้มันมากจนเกินไป เพราะไทยยังมีความต้องการเป็นอย่างอื่นอีกเยอะ โดยเฉพาะปัญหาปากท้องประชาชน อยากให้คิดอันนี้ตลอดเวลา บางทีใส่งบประมาณไปมากในกองทัพ แต่ยังไม่มีสงครามเกิดขึ้น สะสมไว้แต่ไม่ได้ใช้ มันมากเกินขอบเขต
“โดยสรุปคือไม่เห็นว่ารัฐบาลนี้มีประสิทธิภาพเพียงนำเอานโยบายมาเรียนต่อที่ประชุมให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างจริงจัง การเข้าสู่อำนาจขาดความชอบธรรม ใช้รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาโดยพวกพ้อง เอื้อประโยชน์ในการสืบทอด ผลักดันคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่ง ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ เมินเฉยต่อการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น บิดเบือนกลไกกฎหมายเอื้อพวกผ้อง อันนี้อาจแรงไปที่บอกว่า โกหกประชาชนและนานาชาติ แต่เป็นข้อเท็จจริงคือ ท่านบอกพี่น้องประชาชน ต่างชาติว่า จะนำเข้าสู่ประชาธิปไตย แต่ขณะนี้เป็นประชาธิปไตยอะไร มันเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม หรือครึ่งเผด็จการเท่านั้นเอง รวมถึงขาดความเหมาะสมตั้งใจที่ทำ รวมถึงนโยบายเหล่านี้เกี่ยวกับงบประมาณ ท่านจะทำนู่นทำนี่อะไรต่าง ๆ แต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ต้องชี้แจงว่า ท่านนำเม็ดเงินนี้มาจากตรงไหน อย่างไร ที่จะทำได้ ไม่เห็นในนโยบายไม่เห็นตัวเลขอะไรเลย”
@นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา : นโยบายเรื่อยเปื่อย-แก้ไขปัญหาชายแดนใต้ล้มเหลว
นโยบายนี้เลื่อนลอย เรื่อยเปื่อย อ่านแล้วจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แม้แต่นายกฯเอง เป็นคนแถลงนโยบายยังมีความรู้สึกว่าไม่อยากจะอ่าน อ่านข้าม ๆ ไปมา เพราะมันไม่จูงใจให้อ่าน ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตรงไหนเลย ติดตามผลยาก และการตรวจสอบจากภาคประชาชนยาก
“นโยบายนี้แม้จะมี 35 หน้า แต่ไม่ได้เห็นว่า เป็นนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ พูดง่าย ๆ คือ หาวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนไม่ได้ เป็นนโยบายที่ยากของการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชน และผู้ประกอบการนักลงทุนที่จะเชื่อมั่นและมาลงทุน เพราะมันไม่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจะทำเมื่อไหร่ จะเริ่มอย่างไร และจะวัดได้อย่างไร”
เป็นนโยบายที่คนเขียนเก่ง แต่เขียนหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ นโยบายรัฐบาลไม่ใช่ประกวดเรียงความ ไม่ควรเลี่ยง คือทำก็ได้ พูดไว้ลอย ๆ เวลาทักท้วงไม่ได้บอกไว้ว่าจะทำเมื่อไหร่ อย่างไร เป็นนโยบายที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ นโยบายต้องมีความรับผิดชอบสูง กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ประมวลจริยธรรมเขียนชัดเจนว่าต้องมีความเป็นผู้นำ รับผิดชอบสูง
ไม่ได้บอกว่านโยบายทั้ง 12 ด้านที่เป็นหลัก แต่ที่บอกว่านโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ ไม่ได้บอกว่าเร่งด่วนจะทำเมื่อไหร่ คำว่าเร่งด่วน พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าน่าจะภายใน 6 เดือน-2 ปี แต่นโยบายหลักกรอบเต็มที่ 4 ปี นโยบายหลักดูแล้ว 4 ปียังยากที่จะจบ นโยบายเร่งด่วนไม่ได้บอกว่า ด่วนมันจะจบเมื่อไหร่
คนเคยทำรัฐประหารซ้ำซาก อย่างน้อยก็ 2 ครั้งแล้วบอกว่ายึดในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร คนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต้องเคารพต่อรัฐสภา ต่อประชาชน และต้องยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ ท่านนายกฯที่จะเป็นผู้นำรัฐบาล เขียนได้อย่างไรว่า ยึดมั่นในการปกครองประชาธิปไตย เขียนได้ เขียนดี และต้องเขียน แต่สิ่งที่บอกว่าไม่เชื่อมั่นผู้ปฏิบัติ เพราะท่านทำรัฐประหาร ประชาธิปไตยอย่างไร และฉีกรัฐธรรมนูญ ความจริงข้อกฎหมายฉีกรัฐธรรมนูญก็ผิดอย่างแรงอยู่แล้ว ก็ขบถอยู่แล้ว
“ไม่น่าเชื่อว่า ข้อความอันนี้ เกิดจากคนที่เคยรัฐประหารแล้วมาพูดกับพวกเราว่า จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ถ้าเขียนแปลงคำพูดเป็นอย่างอื่นที่ได้ยินมาว่า จะยึดมั่นในระบบเผด็จการประชาธิปไตย อย่างนี้มันพอไปได้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ถ้าบอกยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยยากที่จะเชื่อ และจะทำได้สำเร็จ”
อีกประเด็นไม่พูดเรื่องนี้คงไม่ได้ การแก้ไขปัญหายาเสพติด และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมกับทุกภคส่วน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ปัญหายาเสพติดความจริงไม่ได้เป็นปัญหาที่ภาคใต้นั้น แต่เป็นปัญหาทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่แสดงความสามารถในการจับรายใหญ่ ๆ ของประเทศ คราวละ 5-6 ล้านเม็ด เห็นด้วย ควรกระทำ ชื่นชมรองนายกฯประวิตรด้วย แต่ปัญหาของประชาชนไม่ใช่อยู่ที่รายใหญ่ แต่อยู่ที่รายย่อย รายกลาง กระจายไปอยู่ตามอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน แต่ในชายแดนใต้เจ้าหน้าที่อ้างว่า ไม่สงบ ไม่อยากเข้าพื้นที่
เรียนท่านนายกฯ ท่านรองนายกฯ ปัญหาชายแดนภาคใต้มีส่วนเรื่องยาเสพติดมาก เชื่อหรือไม่ว่า บางตำบลต้องการ อส. แค่ 12 คน มีคนสมัครหลายร้อยคน แต่กำหนดว่า คนที่จะเป็น อส. นั้น ต้องไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตรวจปัสสาวะ ปรากฏว่าทั้งตำบล หาคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่ถึง 5 คน เป็นไปได้อย่างไร และอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้กฎหมายที่ใช้บังคับ ไม่เท่าเทียมกันทั่วประเทศ ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านจึงร่วมกันแถลงว่า ควรเลิกกฎหมายไม่เป็นธรรม กฎหมายอัยการศึก กฎหมายความมั่นคง ใช้ 10 กว่าปี งบประมาณ 3 หมื่นกว่าล้าน ไม่ได้ดีขึ้น แต่วันนี้รุนแรงขึ้น ประเด็นที่เป็นปัญหา ถ้าไม่เชื่อถาม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐรายหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ท่านเป็นทนายคดีความมั่นคงเป็น 100 คดี ทำไมคนเหล่านี้ถูกจับแล้วติดคุกติดตะราง เป็นข้อเท็จจริง ส่วนใหญ่ไม่ใช่ทั้งหมด ต้องสารภาพ เพราะมีการนำถุงดำคลุมหน้าผู้ต้องหา เขาเลยขอสารภาพดีกว่า บางครั้งให้นอนในห้องแอร์ เปิดเย็นสุด ให้ถอดเสื้อ ไม่ให้ผ้าห่ม อย่าว่าแต่คืนหนึ่งเลย ชั่วโมงเดียวก็ไม่ไหว
“อย่าไปเชื่อเจ้าหน้าที่มากนัก แม้เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นคนดี อยากให้นายกฯดูแลเจ้าหน้าที่ให้ดี ให้สวัสดิการเต็มที่ อย่าให้ตั้งอยู่ในความประมาท นี่คือความจำเป็นที่ต้องพูดปัญหาภาคใต้”
@ปิยบุตร แสงกนกกุล : นโยบายเลื่อนลอย-โลเล-หลอกลวง ใจกลางปัญหาอยู่ที่ รธน.
นโยบายของรัฐบาลมีลักษณะเด่น 3 ประการ ได้แก่
1.นโยบายเลื่อนลอย เพราะเขียนกระจัดกระจาย ไม่มีรูปธรรม ไม่ได้เน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตัวนโยบายว่าไปอย่างยาวเลย ไม่ได้บอกวิธีการว่าทำอย่างไร การบริหารเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกชุดอยู่แล้ว แต่ที่อยากทราบและวิพากษ์วิจารณ์ถูกคือ ทำอย่างไรต่างหาก
นโยบายเร่งด่วน มีการผสมผสานย้อนแยงแต่เอามาจับอยู่รวมกัน เช่น นโยบายการแก้ไขปัญหาเสพติดและการสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ไม่รู้ว่าเกี่ยวเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ทำไมไม่แยกออกจากกัน เขียนติดกัน จะเข้าใจผิดว่ายาเสพติดอยู่ในชายแดนใต้หรือไม่อย่างไร
แม้แต่การช่วยเหลือเกษตรกร มีระบุ การแก้ไขปัญหาข้าวครบวงจร ไม่ได้บอกว่าทำอย่างไร การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจสู่อนาคต เช่นเดียวกัน ไม่ได้บอกว่า จะทำให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่อย่างไร ทั้งหลายทั้งปวงเขียนขัดแย้งกันเองอยู่ เช่นขับเคลื่อนเชิงรุก ส่งเสริมบทบาทของชุมชน แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไร เป็นต้น
2.นโยบายโลเล ไม่แน่ใจว่าต้องการอะไรกันแน่ เขียนซับซ้อนซ่อนเงื่อนขัดแย้งกันไปมา ยกตัวอย่าง จะเร่งคืนพื้นที่ผืนป่า แต่ก็ระบุด้วยว่า จะจัดการให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่าได้ ตกลงแล้วนโยบายทวงคืนผืนป่า มีชาวบ้านเดือดร้อนถูกดำเนินคดีติดคุกจริง แล้วเอาป่ามาอยู่ร่วมกับชุมชนได้ สุดท้ายประสานเข้าหากันได้อย่างไร เช่นเดียวกันเรื่องการเกษตร นโยบายหลักระบุว่ารักษาเสถียรภาพราคา แต่ดันบอกว่าจะประกันรายได้เกษตรกรด้วย ตกลงนโยบายชุดนี้ทำอย่างไรกันแน่ จะประกันราคา หรือประกันรายได้ จะอุดหนุนตามพืชรายตัวหรือไม่ อย่างไร อีกกรณีจะลดความเหลื่อมล้ำ แต่ให้กู้ยืม สุดท้ายจะลดเหลื่อมล้ำ หรือให้กู้ยืมกันแน่ เรื่องเหล่านี้คือโลเลไม่รู้ว่าเอาแบบไหนกันแน่ เขียนปนเปกันไปหมด
3.นโยบายหลอกลวง การเลือกตั้งที่ผ่านมา จำได้ดีเลยว่า การรณรงค์หาเสียงวันที่ 24 มี.ค. 2562 คึกคักอย่างยิ่ง แต่ละพรรคได้นำเสนอนโยบายก้าวหน้าสร้างสรรค์จำนวนมาก บางพรรคขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร การนำกัญชามาใช้อย่างถูกกฎหมาย หลายพรรคเข้าสู่รัฐบาลชุดนี้ ได้สำรวจว่านโยบายได้ระบุตามที่หาเสียงหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วใช้แต่เพียงหาเสียง พอประชาชนเลือกมา เมื่อได้เป็นรัฐบาลไม่ได้บรรจุ
ยกตัวอย่าง นโยบายเร่งด่วน ตอนที่พรรคพลังประชารัฐแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หาเสียงเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท มีเรื่องปริญญาตรีจบแล้วเงินเดือน 20,000 บาท จบอาชีวะเงินเดือน 18,000 บาท นโยบายเด็กจบใหม่ได้รับการยกเว้นภาษี 5 ปี ลดภาษี 10% บุคคลธรรมดา เป็นต้น แต่ไม่ปรากฏอยู่ในนโยบายของ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
พรรคประชาธิปัตย์ ตอนหาเสียงเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ปรากฏในนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน พรรคภูมิใจไทยได้รณรงค์กัญชาใช้ทางการแพทย์ ปลูกบ้านละ 6 ต้น ในนโยบายเร่งด่วนเขียนแต่เพียงแค่ให้นำมาศึกษา ทดลองดูว่าจะอนุญาตให้ใช้กัญชง และกัญชาได้เพียงไร ไม่ได้บอกว่าจะทำหรือไม่
ลักษณะเด่น 3 ประการเลื่อนลอย โลเล หลอกลวง ทบทวนลองอ่านนโยบาย คณะรัฐมนตรีชุดก่อน ๆ เอานโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ชุดที่แล้วปี 2557 เขียนได้ดีกว่าตอนนี้อีก นี่ให้ความเป็นธรรมตัวท่านนายกฯ มาลองพิเคราะห์ดูว่าทำไมการเขียนนโยบายชุดนี้มันเลื่อนลอย โลเล หลอกลวง แบบนี้ ไม่ได้โทษโกรธท่าน แต่โทษที่ระบบ ระบบรัฐธรรมนูญชุดนี้ที่ออกแบบมา บีบบังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องเขียนนโยบายแบบนี้ ยิ่งไปกว่านั้นดูองค์ประกอบ คณะรัฐมนตรีมี 19 พรรค มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รวม 19 พรรค แต่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเป็นปริ่มน้ำ เป็นเพราะระบบรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมา
วุฒิสภาชุดแรก 250 คน การเลือกของ คสช. และวุฒิสภาชุดแรกมีมติเลือกนายกฯ และได้เลือก พล.อ.ประยุทธ์ ให้กลับมารับตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง เมื่อพิจารณาดูแล้ว พบว่า กลไกที่กำหนด ส.ว. 250 คน ทำให้การตัดสินใจพรรคการเมืองต่าง ๆ บิดเบือน กติกาเช่นนี้กำหนดพฤติกรรมพรรคการเมืองแต่ละพรรค ถ้าไม่มี ส.ว. 250 คน พบว่าพรรคที่ตั้งรัฐบาลอันดับ 1 ตั้งเสร็จเรียบร้อย ทำไมพรรคอันดับ 2 ถึงกล้าจัดตั้งรัฐบาล เพราะทราบดีว่ามี 250 คน
เช่นเดียวพรรคลำดับ 3-4 ที่ตอนหาเสียงบอกจะไม่ร่วมสืบทอดอำนาจ แต่หลังเลือกตั้งทำไมต้องร่วม เพราะรู้ดีว่ามาอยู่ข้างนี้ (ข้างฝ่ายค้าน) จะเป็นรัฐบาลยาก รัฐธรรมนูญแบบนี้จึงบิดเบือนพฤติกรรมของทุกพรรคไปหมด หลายท่านไปร่วมด้วยความจำใจ หลายท่านยอมลดหย่อน นี่เป็นที่มาเขียนนโยบายสับสน มีแต่น้ำ หาเนื้อไม่เจอ หาเสียงเอาไว้ไม่ได้เอามาเขียนด้วย
ไม่ได้อยากจะโทษท่าน แต่อยากโทษรัฐธรรมนูญ ก็คือเป็นความสืบเนื่องมาว่า ออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้เพราะต้องการสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ เปลี่ยนจากนายกฯยึดอำนาจ มาเป็นนายกฯจากการเลือกตั้ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
'สมพงษ์'ถามเอางบจากไหนทำนโยบาย-'วันนอร์'อ้าง'บิ๊กตู่'เตรียมการ 3 ปีก่อนรัฐประหาร
น้อมนําพระปฐมบรมราชโองการร.10 บริหารปท.! นโยบายรบ.'บิ๊กตู่'เสร็จแล้ว มุ่งปราบทุจริตด้วย
โชว์ 12 นโยบายด่วน‘รบ.บิ๊กตู่’ หนุนแก้ รธน.-ยกเครื่องระบบยุติธรรม-สางปัญหาทุจริต