สทนช.ถก 4 หน่วยงาน ลดระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ป้องกันภัยเเล้ง
เลขาฯ สทนช. หารือ ชป. กฟผ. กรมส่งเสริมการเกษตร GISTDA เคาะแผนปรับลดการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาลงไม่น้อยกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. ลดเสี่ยงแล้งหน้า ยื่นไม้ต่อ ก.เกษตรฯ เร่งสำรวจความเสียหาย พิกัดพื้นที่ชัดเจนเพื่อเสริมมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ผลจากการคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์น้ำร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนในเดือน ส.ค.–ต.ค. ปริมาณฝนจะมีค่าใกล้เคียงกับค่าปกติ แต่ยังคงมีบางพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ซึ่งกระทบกับปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากที่สุด โดยเฉพาะภาคเกษตรที่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผน
สทนช. จึงได้ประชุมหารือด่วนร่วมกับ 4 หน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการสร้างสมดุลน้ำใน 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผนในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ในช่วงเวลาฤดูฝนที่เหลือยังคงมีความต้องการน้ำสุทธิจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวม 2,066 ล้าน ลบ.ม. และมีความจำเป็นต้องสำรองน้ำไว้ใช้อย่างน้อยเพื่อการอุปโภค–บริโภค และรักษาระบบนิเวศตลอดฤดูแล้งที่จะถึง และช่วงต้นฤดูฝนปีถัดไปอีกไม่น้อยกว่า 5,000 ล้าน ลบ.ม.
เมื่อประเมินน้ำฝนที่ตกลงมาแล้ว พบว่า มีความจำเป็นต้องปรับลดแผนการระบายน้ำ หรือประหยัดการใช้น้ำตลอดฤดูฝนที่เหลือมากกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. และต้องวางแผนการปลูกพืชในฤดูแล้งถัดมาให้ชัดเจน หากไม่มีฝนตกมาในปริมาณมากหรือไม่มีพายุเข้าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนตามที่คาดการณ์ ในฤดูแล้งหน้าที่อาจจะไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 62/63 ซึ่งที่ประชุมได้หารือร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เร่งทำการสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการลดการระบายน้ำในครั้งนี้ และกำหนดมาตรการเยียวยาพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวด้านท้ายน้ำที่คาดว่าจะเสียหายสิ้นเชิง พื้นที่เลี้ยงปลาในกระชัง เป็นต้น
“สทนช.จะมีการติดตามตรวจสอบการคาดการณ์ฝน ปริมาณน้ำไหลเข้า และการระบายน้ำ ใน 4เขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงการส่งน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเป็นรายวัน ตั้งแต่ 16 ก.ค. - 31 ส.ค. เพื่อพิจารณาปรับแผนการปรับสมดุลน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง รวมถึงพิจารณาวางแผนลักษณะเดียวกัน ในลุ่มน้ำหลักอื่นๆ ด้วย เช่น ลุ่มน้ำชี-มูล และลุ่มน้ำภาคตะวันออก เป็นต้น” นายสมเกียรติ กล่าว
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดำเนินการเชิงป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากน้ำ สทนช. ได้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ” โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 (4) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และมีสถานที่ปฏิบัติงาน ณ ชั้น 2 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างจากเดิมที่เป็น “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ” เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำ โดยบูรณาการข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนข้อมูลและเชื่อมโยงระบบสารสนเทศ ในการอำนวยการวิเคราะห์ติดตามแนวโน้ม และกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีเอกภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม เป็นต้น ในการเชื่อมโยงข้อมูลจากศูนย์ฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน บรรเทาผลกระทบโดยเร่งต่อไปด้วย.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/