ตาย2หมื่น วัยรุ่นมากสุด! สอจร.เปิดสถิติอุบัติเหตุถนนปี61 ยื่น บิ๊กตู่ บรรจุนโยบายรบ.
“...จำนวนผู้เสียชีวิต พ.ศ. 2561 รวมทั้งหมด 20,169 ราย อัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน คิดเป็น 29.9 ลดลงจากปี 2559 (34.9) และ 2560 (32.6) โดยจังหวัดที่อัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ระยอง (65.5) ชลบุรี (49.6) จันทบุรี (49.0) สระบุรี (48.1) และ ฉะเชิงเทรา (47.6) และน้อยที่สุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน (13.1) กรุงเทพฯ (13.5) ยะลา (15.2) ปัตตานี (15.6) และ นราธิวาส (15.8) (ดูภาพ) ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้ง 20,169 ราย 3 ใน 4 กล่าวเป็น เพศชาย และผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่งคือ กลุ่มคนช่วงอายุ 15-24 ปี โดยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 94% คือ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 70% รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 14% และคนเดินเท้า 10%...”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2562 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สนับสนุนแผนงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Foundation) และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด จัดงานแถลงข่าว “เปิดผลรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย พ.ศ. 2561” ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ถนนรัชดาภิเษก-พระราม 9 กรุงเทพฯ
นายปรีดา จาตุรพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะคณะทำงานจัดทำรายงานสถาการความปลอดภัยทางถนนประเทศไทย พ.ศ. 2561 ให้ข้อมูลว่า สถิติอัตราการเสียชีวิตต่อ 100,000 ประชากร ปี 2554 คือ 35.7 ปี 2555 คือ 36.6 ปี 2556 คือ 34.0 ปี 2557 คือ 32.9 ปี 2558 คือ 29.6 ปี 2559 คือ 34.9 ปี 2560 คือ 32.6 และล่าสุดปี 2561 คือ 29.9 โดยตั้งเป้าหมายให้เหลือ 17.9 ภายในปี 2563 ซึ่งรายงานดังกล่าวนี้ เป็นการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุทางถนนในระดับประเทศจากข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุ 3 ฐานข้อมูลหลัก (ข้อมูล 3 ฐาน) จากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
จำนวนผู้เสียชีวิต พ.ศ. 2561 รวมทั้งหมด 20,169 ราย อัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน คิดเป็น 29.9 ลดลงจากปี 2559 (34.9) และ 2560 (32.6) โดยจังหวัดที่อัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ระยอง (65.5) ชลบุรี (49.6) จันทบุรี (49.0) สระบุรี (48.1) และ ฉะเชิงเทรา (47.6) และน้อยที่สุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน (13.1) กรุงเทพฯ (13.5) ยะลา (15.2) ปัตตานี (15.6) และ นราธิวาส (15.8) (ดูภาพ) ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้ง 20,169 ราย 3 ใน 4 กล่าวเป็น เพศชาย และผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่งคือ กลุ่มคนช่วงอายุ 15-24 ปี โดยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 94% คือ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 70% รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 14% และคนเดินเท้า 10%
ขณะที่ข้อมูลการเพิ่มขึ้นและลดลงของอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรเทียบกับ พ.ศ. 2559 จำนวน 66 จังหวัดมีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง มากที่สุด 5 จังหวัดแรกคือ สระแก้ว (-23.09) นครนายก (-13.19) ลพบุรี (13.17) เพชรบุรี (-12.05) และ ตาก (-11.54) และลดลงน้อยที่สุด 5 จังหวัดแรก คือ ชุมพร (-0.01) ฉะเชิงเทรา (-0.32) พิษณุโลก (-0.40) กรุงเทพฯ (-0.83) และ ระนอง (-1.10) ทั้งนี้ มีเพียง 10 จังหวัด ที่มีอัตราการตายเพิ่มขึ้นคือ สุโขทัย (6.31) อำนาจเจริญ (5.16) กาฬสินธุ์ (4.55) แพร่ (3.77) พิจิตร (3.42) น่าน (3.29) อุทัยธานี (2.79) ศรีสะเกษ (1.29) ภูเก็ต (1.03) สตูล (0.95) และ ชัยภูมิ (0.06) (ดูภาพ)
ส่วนข้อมูลอัตราการเสียชีวิตต่อรถจดทะเบียน 10,000 คัน พ.ศ. 2561 ทั้งประเทศไทยอยู่ที่ 5.0 โดยมากที่สุด 5 จังหวัดแรก คือ ปทุมธานี (21.4) สมุทรปราการ (20.1) นนทบุรี (13.7) สระแก้ว (10.7) และ กาฬสินธุ์ (9.6) และน้อยที่สุด 5 จังหวัดแรกคือ (ดูภาพ)
นายปรีดา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งประเทศ 20,169 ราย ซึ่ง 3 ใน 4 ของจำนวนดังกล่าวเป็น เพศชาย และผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่งคือ คนช่วงอายุ 15-24 ปี โดยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 94% คือ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 70% รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 14% และคนเดินเท้า 10%
นายวิทยา ชาญบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก และโรงพยาบาลขอนแก่น ในฐานะประธานสนับสนุนแผนงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) เปิดเผยว่า แม้ตัวเลขการเสียชีวิตในปี 2561 จะลดลงและเป็นลักษณะไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่อุบัติเหตุและการสูญเสียทางถนนในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาสำคัญต่อเนื่องยาวนาน เฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยยังคงสูงเป็นอันดับ 1 และยังห่างไกลเป้าหมาย ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนในปี 2563 ที่ตั้งเป้าลดการตายลงครึ่งหนึ่งให้เหลือน้อยกว่า 20 รายต่อแสนประชากร ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการบังคับใช้กฎหมาย
นายวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดแม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดแผนนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน ที่สอดประสานกันระหว่างระบบการเตือนภัย การช่วยเหลือกู้ภัยและการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่มีความชัดเจนและจริงจังมากนัก ดังนั้น ภาคีเครือข่าย องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเดินหน้าช่วยกันผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดขึ้นจริง คือ 1. มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมีหน่วยงานหลัก รับผิดชอบในการกำหนดทิศวางแผนยุทธศาสตร์ การดำเนินงานอย่างเป็นระบบตามหลักการสากล ประสานการดำเนินงาน กำกับ และติดตามผล 2. รัฐบาลจะต้องจริงจังในการยกระดับการบังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขันมีประสิทธิภาพและทั่วถึงทุกพื้นที่ และ 3. ทุกภาคส่วนต้องมีมาตรการภายในองค์กรเรื่องความปลอดภัยทางถนน
ทั้งนี้ หลังจากการแถลงผลรายงานดังกล่าวแล้ว คณะทำงานนำโดย นายวิทยา ชาญบัญชาชัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และนายวิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองประธานสนับสนุนแผนงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ในฐานะผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผ่านสื่อมวลชน เรื่อง เสนอให้รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยมีข้อเสนอ 3 ประการ ดังนี้
1. ให้การป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นหนึ่งในแผนแม่บทของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580)
2. มอบหมายให้มีการศึกษาทางเลือกต่างๆ ในการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและการลดอุบัติเหตุทางถนน ปี พ.ศ. 2554 เพื่อให้ระบบบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. มีนโยบายและแผนเพิ่มการลงทุนเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของถนนที่ชัดเจนและวัดผลได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/