ถก “ปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว” ถ้ายังสอนคนขายแรงงาน อนาคตอันตราย
(ข่าว) ผู้บริหารสื่อมองปฏิรูปการศึกษารอบแรกล้มเหลว สังคมต้องช่วยอย่าปล่อยรัฐกำหนด นักธุรกิจจี้จุดยังสอนคนขายแรงงานอนาคตอันตราย นายกฯอบจ.แจงจรรยาบรรณครูด้อยลง นักการศึกษาติงเป้าหมายไม่ชัดจับทุกเรื่องมาปฏิรูปมั่ว เสนอท้องถิ่นสร้างนวัตกรรมเอง จะเกิดคนเก่งทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ
วันที่ 28 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เครือข่ายปฏิรูปการศึกษา จัดเสวนา“การบริหารจัดการใหม่ เงื่อนไขความสำเร็จปฏิรูปรอบ 2” โดย นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ ที่ปรึกษาบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งแรกยังไม่เกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการแบ่งโครงสร้างหรือบูรณาการการศึกษา การแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาก็ยังชี้วัดไม่ได้ว่าเกิดคุณภาพหรือไม่ รวมทั้งการกระจายอำนาจการศึกษาไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ก็ยังไม่ปรากฏผล เพิ่งรับโอนไปจัดการได้แค่ 44 โรงเรียนเท่านั้น จึงต้องสรุปบทเรียนความล้มเหลวที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในการประชุมคณะอนุกรรมการรวม 6 ชุดของคณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (กนป.) ของรัฐบาล ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29 ต.ค. ทางเครือข่ายจะมอบเอกสารสรุปการเสวนาระดมความคิดเห็นทั้งเรื่องการปฏิรูปครู ปฏิรูปประเทศไทยจากหลายเวทีที่ผ่านมาต่อที่ประชุมด้วย
“การปฏิรูปการศึกษาต่อจากนี้เป็นเรื่องท้าทาย จะปล่อยให้ภาครัฐกำหนดลงมาไม่ได้ คนที่อยู่ข้างนอกต้องช่วยเสนอแนวคิด และขับเคลื่อนด้วย”
นายดิเรก พรสีมา ประธา่นคณะกรรมการคุรุสภา กล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งแรกไม่สำเร็จ เพราะคุณภาพครูและผู้บริหารสถานศึกษา โดยผู้ที่ทำให้คุณภาพครูตกต่ำคือหน่วยผลิตครูอย่างคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันแย่งกันเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพบัณฑิตแต่ไม่มีคุณภาพ ครูจึงไม่มีคุณภาพคิดไม่เป็น กระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงนักเรียน ขณะนี้คุรุสภาพยายามแก้ไขโดยกำหนดมาตรฐานการผลิตครูของแต่ละระดับแต่ละวิชา และต้องมาสอบข้อสอบของคุรุสภาก่อนจึงได้ใบอนุญาตสอน
ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ทำเพื่อใคร ปลายทางที่ต้องการให้การศึกษาเป็นกลไกปฏิรูปสังคมยังไม่ชัดเจน เป็นการจับทุกเรื่องมาปฏิรูปโดยไม่รู้ว่าประเด็นหลักคืออะไร ทำให้ยุทธศาสตร์กระจัดกระจายไม่สามารถทำให้สังคมสะเทือน ที่ผ่านมาการให้ความสำคัญเชิงโครงสร้างล้มเหลว วันนี้พูดถึงระบบการจัดการโดยมีคณะกรรมการชุดต่างๆเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งไม่ได้ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นเลย ทั้งนี้ระบบที่เป็นอยู่ปัจจุบันวัดความสำเร็จที่ตัวครูเป็นใหญ่ หากไม่ปฏิรูประบบครูการพัฒนาก็เป็นไปได้ยาก และแม้จะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ก็ต้องออกแบบระบบบริหารจัดการไปพร้อมกันด้วย อาจถึงเวลาที่นักการศึกษาทุกคนต้องวางกระบวนวิธีการใหม่ โดยไม่วิ่งตามใครแต่เป็นการสร้างคนภายใต้วัฒนธรรมของตนเอง
นายณรงค์ โชควัฒนา นักวิชาการและนักธุรกิจ กล่าวว่าวันนี้การศึกษาไทยไม่สอนให้คนคิดเป็นทำเป็น ยังแก้ปัญหาของตนเอง ชุมชน ท้องถิ่น ประเทศไม่ได้ เพราะยังสอนด้วยคำถามให้นักเรียนท่องจำโดยใช้ความรู้เก่าๆซึ่งไม่ใช่คำตอบการแก้ปัญหาในอนาคต ทั้งที่อีก 20 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงและมีประเด็นปัญหาใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการจัดการแบบใหม่
“เราสอนให้คนไทยเป็นลูกจ้าง ขายนาขายแรงงาน แต่ในโลกความจริงคนไม่มีทางสู้สัตว์หรือเครื่องจักร ความคาดหวังจากมนุษย์คือสติปัญญาที่เหนือกว่าเครื่องจักร ถ้ายังสอนแบบนี้ต่อไปอันตรายมาก”
ขณะที่ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธา่นกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คิดว่าเป้าหมายในการปฏิรูปรอบ 2 ชัดแล้ว มีพิมพ์เขียวกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมถึงมีกระบวนการซึ่งแยกเป็นระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ แต่ที่ขาดคือการทำความเข้าใจกับสังคมให้รับรู้ในวงกว้าง ซึ่งถ้าทุกคนยอมรับในพิมพ์เขียวนี้ ก็ควรร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดควา่มต่อเนื่องโดยเฉพาะระดับนโยบายและการเมืองที่ผู้บริหารต้องประกาศเจตจำนงให้ชัด เพื่อว่าเมื่อการเมืองเปลี่ยนจะได้ไม่กระทบต่อการปฏิรูปกา่รศึกษา
ด้าน พ.ต.อ.ดร.ธงชัย เย็นประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กล่าวถึงการจัดการศึกษาโดย อปท.ว่า ปัญหาใหญ่คือโรงเรียนใหญ่ๆ มักบีบและสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับโรงเรียนเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเก่ง รวย มีโอกาสทางการศึกษามากกว่าเด็กยากจน ขณะที่ระเบียบวินัยและจรรยาบรรณความเป็นครูบางแห่งลดลงเรื่อยๆ
“ผอ.บางคนสัปดาห์หนึ่งมาโรงเรียนครั้งเดียว เสร็จแล้วบอกว่าโรงเรียนก้าวหน้าไม่ได้เพราะขาดอุปกรณ์ ทั้งที่ อปท.ให้งบอุดหนุน แต่โรงเรียนยังไปจ้างบริษัทเอาคอมพิวเตอร์มาลง เก็บค่าเล่าเรียนจากเด็ก นี่คือการเอาเด็กเป็นตัวประกันให้ตัวเองได้ประโยชน์ ถ้า ผอ.ห่วยสักคนเด็กพันคนเสียโอกาส”
สำหรับข้อเสนอต่อการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศน์และชุมชน กล่าวว่าหากบอกว่าการปฏิรูปการศึกษาคือทำให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ต้องตั้งคำถามก่อนว่าในสังคมที่ซับซ้อนปัจจุบัน เป้าหมายคือใครบ้าง คนทั้งหมด คนส่วนใหญ่ หรือชนบท ซึ่งถ้าเป้าหมายยังไม่ชัดว่าจะเติมเต็มอะไร ให้ใครบ้าง ก็ยากที่จะมาพูดกันเรื่องกระบวนการ ทั้งนี้เสนอว่าท้องถิ่นควรสร้างนวัตกรรมการศึกษาของตน เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพและโอกาสที่ต่างกัน ขณะนี้มีชุมชนทั้งหมด 80,000 แห่ง มีโรงเรียนมากถึง 30,000 โรงเรียน หากลองให้เด็กไปสำรวจอาชีพในฝันของชุมชนว่าแต่ละแห่งมีอะไร แทนที่จะกลับไปอยู่หน้าจอโทรทัศน์ เด็กจะมีโอกาสเดินไปหารากเหง้าของตัวเองมากขึ้น
“วิธีนี้คือการปฏิรูปโดยทำให้เด็กภูมิใจในรากเหง้า แล้วเชื่อมโยงได้ว่าต่อไปตัวเองจะไปให้ถึงอาชีพในฝันได้อย่างไร นี่คือการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะทำให้เกิดช่างฝีมือ เกษตรกร เต็มไปหมดทุกพื้นที่ ตรงกับเป้าหมายสุดท้ายที่เป็นหัวใจการศึกษาคือการทำให้คุณภาพชีวิตดี มีสัมมาชีพ และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ไม่ใช่เรียนแค่ให้ได้ใบเบิกทางใบเดียวไปสมัครงาน เพราะการศึกษาต้องทำให้คนภาคภูมิใจ” ดร.ประทีป กล่าว .
ภาพประกอบจาก : http://www.asamedia.org/2010/06/2623/