SACICT นำศิลปหัตถรรมไทย ลุยตลาดญี่ปุ่น ในงาน Interior Lifestyle, TOKYO
SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) นำงานคราฟท์ไทย ที่เกี่ยวข้องกับ ไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน อาทิ สิ่งทอ เครื่องจักสาน เสื่อผ้า เครื่องแต่งกาย เซรามิก พร้อมโชว์ศักยภาพงานหัตถศิลป์ของไทย ในงาน Interior Lifestyle, TOKYO ประเทศญี่ปุ่น 17-19 กรกฏาคม 2562 เพื่อเชื่อมโยงงานหัตถศิลป์ เข้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ด้วยบทบาทและหน้าที่ของ SACICT ที่มีหน้าที่ในการต่อยอดภูมิปัญญาและส่งเสริมด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการผลักดัน พัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน โดยใช้ภูมิปัญญา และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เข้าไปสู่ชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบัน รอบตัว จึงได้นำงานหัตกรรมไทย ของสมาชิก ครูศิลป์ ครูช่าง ทายาท และสมาชิกกลุ่มงานหัตถกรรม เข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ สร้างการรับรู้ และขยายตลาดในต่างประเทศ ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่นิยมงานหัตถกรรม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ เป็นตลาดที่ให้คุณค่ากับงานฝีมือ รู้จักและคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมของไทยดี SACICT จึงคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่เชื่อว่าตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์จักสาน เซรามิก ของใช้ในชีวิตประจำวันที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ถาดทำจากกาบกล้วย เพื่อทดสอบตลาด รับคำสั่งซื้อ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและเสียงตอบรับของตลาดที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของสมาชิก โดย SACICT จะเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สมาชิกในขั้นตอนเจรจาธุรกิจเพื่อสร้างการเรียนรู้ และประสบการณ์ เตรียมความพร้อมของผู้ผลิตรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน การเข้าร่วมงานนี้ ยังเป็นการศึกษาวิจัยตลาดควบคู่กันไป ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจะนำไปประมวล เป็นข้อแนะนำ เช่น การปรับปรุงรูปแบบ หรือการกำหนดราคาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น งาน Interior Lifestyle, Tokyo ครั้งนี้พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจและตอบรับอย่างดี ก็เป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันทั้งเครื่องจักสาน กระเป๋า ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย อาทิ ผ้าพันคอ หมวก เป็นต้น
นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว SACICT ยังมีความร่วมมือ (MOU) กับ สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวัน และ ฝรั่งเศส เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และขยายตลาดงานศิลปะหัตกรรมระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้นำศิลปะทั้งที่เป็นของดั้งเดิม และศิลปะที่มีการพัฒนาให้มีความร่วมสมัย มีการเผยแพร่ข้อมูลสร้างการรับรู้ ส่งเสริมงานงานศิลปหัตถกรรม ไปสู่ตลาดอีกระดับหนึ่ง โดยกลุ่มของแกเลอรี่ต่างๆ เพื่อให้งานศิลปหัตกรรม ตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศในทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มที่รับรู้ในคุณค่าของงานศิลปะ ที่มีความสากลมากขึ้น ส่วนในแง่ของการตลาดต่างประเทศกลุ่มที่ซื้อสินค้าจากเรามากที่สุดคือ กลุ่มจีน รองลงมาคือกลุ่มอเมริกา กลุ่มยุโรป ฝรั่งเศส อิตาลี เกาหลี ญี่ปุ่น
นางอัมพวัน กล่าวเพิ่มเติมว่า “งานศิลปหัตถกรรม เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ไม่ว่าจะผลิตที่ประเทศไหน ซึ่งประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน คือ การทำงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้วัตถุดิบ ในท้องถิ่น และมีความเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และปัจจุบัน การผลิตของผู้ประกอบการไทย มีความเป็นสากลมากขึ้น ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ ทั้งในด้าน วัตถุดิบ ทักษะ แนวคิดจากภูมิปัญญา ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ เป็นคุณค่าของ ศิลปะ ทำให้ต่างชาติ ได้รับรู้ ได้เห็นและสื่อถึง เรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ดังนั้นจึงการต่อยอดภูมิปัญญาไทย และเชื่อว่าเราสามารถตอบโจทย์ ตลาด ในเรื่องการนำงานศิลปะหัตกรรมเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันในประเทศต่างๆได้เป็นอย่างดี”