นักวิชาการ ม.มหิดล แนะจับตาความเสี่ยงแผ่นดินไหวรอยเลื่อนแม่จัน
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล แนะแนวทางการรับมือความเสี่ยงแผ่นดินไหว รอยเลื่อนแม่จัน ด้านธรณีวิทยา ควรศึกษารอยเลื่อนแม่จันเพิ่มขึ้น เพื่อทำนายอายุการเกิดแผ่นดินไหวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้านวิศวกรรม เตรียมความพร้อม พัฒนาเมืองที่คงทนยืดหยุ่น ฟื้นตัวง่าย ทั้งระบบการกู้ภัย การฟื้นฟูเมืองหลังแผ่นดินไหว ให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับการเอาตัวรอด และควรมี “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ทุกคนสามารถมาพักพิงได้
วันที่ 18 ก.ค. 2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานแถลงข่าว เรื่อง “ความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เมืองโบราณเชียงแสนบนรอยเลื่อนแม่จัน จังหวัดเชียงราย” ณ ห้องอินโนจีเนียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยการแถลงครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยผลวิจัยพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เมืองโบราณเชียงแสนบนรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งมีพลังและยาวที่สุดในประเทศไทย ชี้การเตรียมตัวและพัฒนาเมือวให้ยืดหยุ่นรองรับแผ่นดินไหวเป็นทางออกที่ยั่งยืน
ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แผ่นดินไหว คือภัยธรรมชาติที่มนุษย์ยังไม่สามารถรู้ล่วงหน้าเกินกว่า 4 วินาที แม้แต่ชาวญี่ปุ่นซึ่งเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์กับแผ่นดินไหวมายาวนาน การเตือนภัยแผ่นดินไหวเป็นเรื่องคาดการณ์ได้ยาก ดังนั้น งานวิจัยและพัฒนาเพื่อคลี่ความเร้นลับในรอยเลื่อนที่มีพลัง เช่น แม่จัน มาเป็นองค์ความรู้แก่คนไทย สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา การบริหารจัดการและมาตรการต่าง ๆ กลไกการเกิดแผ่นดินไหว ผลกระทบที่จะตามมา การใช้นวัตกรรมและการฟื้นฟูเมือง รวมถึงการกำหนดเกณฑ์ปลอดภัยในการก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อันจะช่วยลดการสูญเสียจากภัยแผ่นดินไหว
ดร.วศพร เตชะพีรพานิช หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เมืองโบราณเชียงแสนบนรอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย แนวโน้มและความเป็นไปได้ของการเกิดเหตุแผ่นดินไหว เพื่อทำการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของแผ่นดินไหว ธรรมชาติของแผ่นดินไหว เพื่อไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนรับมือและเตรียมพร้อมกับภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวต่อไป
ผศ.ดร. ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รอยเลื่อนแม่จัน จ. เชียงราย เป็นหนึ่งใน 13 รอยเลื่อนในประเทศไทย ที่มีพลังและยาวที่สุด เคลื่อนตัวตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้าย พาดผ่านตั้งแต่ อ. ฝาง จ.เชียงใหม่ อ.แม่จัน อ.เชียงแสน จ. เชียงราย เข้าสู่ประเทศลาว ระยะทางกว่า 185 กิโลเมตร หรือสังเกตได้จากแนวเส้นทางหลวงหมายเลข 1089 ในอดีตมีความเชื่อว่า รอยเลื่อนแม่จันเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหว เมื่อ 1500 ปีก่อน ประมาณปี พ.ศ. 1003 ทำให้อาณาจักรโยนกนาคนครล่มสลายและน้ำท่วมเมืองจมหายไป ต่อมาใน ปี พ.ศ.1868 ในยุคต้นของอาณาจักรล้านนา พระเจ้าแสนภูได้สร้างเชียงแสน เป็นเมืองเอกในอาณาจักรล้านนา มีอายุเก่าแก่ประมาณ 600 - 700 ปี และยังคงมีเจดีย์โบราณกว่า 100 แห่ง ที่ยังปรากฏอยู่มาถึงปัจจุบัน
“พื้นที่ อ.เชียงแสน ซึ่งตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่จัน ในอดีตเป็นท่าเรือสำคัญที่ทำการค้าขายกับอาณาจักรเพื่อนบ้าน นับตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองเชียงแสน เมื่อ 600 - 700 ปีมาแล้วกลับไม่เคยมีประวัติความเสียหายจากแผ่นดินไหวใหญ่ โดยโบราณสถานเหล่านี้ ยังคงอยู่ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ในช่วง 600 - 700 ปีที่ผ่านมาแม้จะเกิดแผ่นดินไหวบ้างในช่วงที่ผ่านมาแต่ก็ไม่รุนแรงถึงขนาดที่ทำให้โบราณสถานเหล่านี้เกิดการพังทลาย จึงมีความเป็นไปได้ที่รอยเลื่อนแม่จันยังคงสะสมพลังงานอยู่และทำให้เกิดแผ่นดินไหว ที่อาจสร้างความเสียหายได้”
ผศ.ดร. ธีรพันธ์ วิเคราะห์ต่อถึงความเป็นไปได้ เนื่องจาก 1. พื้นที่รอยเลื่อนโดยรอบ อ.เชียงแสน ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้วทั้งหมด เหลือเพียงรอยเลื่อนแม่จัน ที่ยังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมากว่า 600 - 700 ปี แล้ว 2. ความยาวของรอยเลื่อนแม่จัน ที่มีความยาวถึง 180 กว่ากิโลเมตร 3. ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และโบราณสถานต่าง ๆ ซึ่งได้รับความเสียหายน้อยมากจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีตในช่วง 600 - 700 ปีที่ผ่านมา การคงอยู่ของโบราณสถานเมืองเชียงแสนตลอด 600 - 700 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นสิ่งยืนยันว่าในบริเวณนี้ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวอีกเลยในช่วงเวลานั้น
ผศ.ดร. ธีรพันธ์ ได้กล่าวถึงวิธีการทำวิจัย คือการวิจัยโดยใช้แบบจำลองแผ่นดินไหว ของ 5 รอยเลื่อน ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งแปรผันไปตามระยะห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว Rrup (km) กับขนาดแผ่นดินไหว พบว่า หากรอยเลื่อนทั้ง 5 รอยนี้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ ในระดับ 6.8 - 7.1 (ตัวอย่าง ข้อ 1) ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโบราณสถานเมืองเชียงแสนค่อนข้างสอดคล้องกับความเสียหายที่พบเนื่องจากแผ่นดินไหวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ทว่าหากแผ่นดินไหวมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น มีขนาดมากกว่า 7.5 (ตัวอย่าง ข้อ 2 และ 3) เนื่องจากรอยเลื่อนต่าง ๆ รอบเมืองเชียงแสน โบราณสถานต่างๆในเมืองเชียงแสนควรจะได้รับความเสียหายมากกว่าที่พบเห็นในปัจจุบัน แต่หาก รอยเลื่อนแม่จัน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ ในระดับ 6.8 (ตัวอย่าง ข้อ 1) ความเสียหายควรจะมากเพียงพอจนโบราณสถานเหล่านี้ไม่น่าจะคงอยู่ได้ในลักษณะสมบูรณ์ เช่นดังปัจจุบันจึงเชื่อได้ว่า รอยเลื่อนแม่จันยังคงเป็น บริเวณที่มีแนวโน้มสูงในการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต (Seismic Gap)
พร้อมกันนี้ คณะวิจัย มีข้อเสนอแนะถึงแนวทางการรับมือ ในด้านธรณีวิทยา ควรศึกษารอยเลื่อนแม่จันเพิ่มขึ้นเพื่อทำนายอายุคาบการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนแม่จันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในด้านวิศวกรรมควรเตรียมความพร้อม พัฒนาเมืองที่คงทนยืดหยุ่นและฟื้นตัวง่าย (Resilient City) เช่น การให้ความรู้การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวตามหลักวิศวกรรม ระบบการกู้ภัยแผ่นดินไหว การฟื้นฟูเมืองหลังแผ่นดินไหว ให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับการเอาตัวรอดในภาวะ การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โรงพยาบาล สะพาน เพื่อให้สามารถทำงานภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ และควรมี “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ทุกคนสามารถมาพักพิงได้โดยอาคารเหล่านี้จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมจากแผ่นดินไหวได้
ด้านโบราณคดีจะมีการอนุรักษ์โบราณสถานอันเก่าแก่ซึ่งเป็นมรดกชาติและมรดกโลกไว้อย่างไร ให้ยืนยาว ทีมวิจัยเสนอว่า ต้องร่วมศึกษาถึงกรรมวิธีก่อสร้างและวัสดุโบราณ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาผสมผสานอย่างเหมาะสมเพื่อให้มั่นคงแข็งแรง แต่ยังคงมิติคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และศิลปะความงามดั้งเดิมไว้ หากมีการบูรณะซ่อมแซม ควรคำนึงถึงผลกระทบของรูปลักษณ์ที่จะขัดต่อความเป็นมรดกโลกด้วย อีกทั้งเน้นย้ำว่าไม่ให้ตื่นตระหนกเพราะแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติ แต่ควรเตรียมการรับมือไว้เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายที่มากขึ้น