จาก “กองทุนหมู่บ้าน” ถึง “ธนาคารชุมชน” ปัจจัยสำเร็จ-ล้มเหลว?
ย้อนไป 10 กว่าปีก่อน รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ให้กำเนิดนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่กำลังชะลอตัวภายใต้ชื่อ “โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ”
ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งทางบวกและลบตั้งแต่ยังไม่เป็นรูปร่าง เพราะรูปแบบการมอบเงิน 1 ล้านบาทกระจายไปทุกหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 7 หมื่นแห่งเพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนภายในชุมชน ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นการทุ่มงบแบบไม่อั้นเกือบแสนล้านบาทเพื่อประชานิยมทางการเมือง
มองลึกไปถึงตัวโครงการ ทุกหมู่บ้านต้องคัดสรรคณะกรรมการมาทำหน้าที่บริหารจัดการเงิน 1 ล้านบาทที่ได้สู่ชาวบ้าน มองแง่ดีนโยบายนี้ทำให้เกิดแหล่งเงินหมุนเวียนเกิดแก่คนในท้องถิ่นให้ไม่ต้องหวังพึ่งพาหรือฝากชีวิตไว้กับแหล่งเงินกู้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยแพงกว่าหลายสิบเท่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับรากหญ้า
หลายปีผ่านไป พบว่ามีเพียงหมู่บ้านไม่ถึงครึ่งที่ประสบความสำเร็จ สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เกิดการลงทุนสร้างงานสร้างรายได้ภายในท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่อีกกว่าครึ่งลุ่มๆดอนๆเพราะขาดการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เงินกองทุนมีขั้นตอนอนุมัติง่าย ถูกนำไปใช้ผิดประเภท กู้ไปซื้อความฟุ่มเฟือย ทำให้ชาวบ้านเสียวินัยทางการเงิน แถมผู้อนุมัติเงินก็ไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงกับหนี้ที่กำลังจะสูญหรือสูญไปแล้ว เพราะระบบการบริหารภายในที่ยังคงรูปแบบพวกพ้อง ไร้การตรวจสอบ ประกอบกับรัฐเองก็ไม่อาจเข้าไปดูแลได้อย่างทั่วถึงทั้ง 7 หมื่นหมู่บ้าน
ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เสนอรัฐบาลให้รื้อฟื้นการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ ทั่วประเทศให้กลับมาเข้มแข็ง เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง ข้อมูลจาก สทบ.แจงว่าตลอด 10 ปี กองทุนหมู่บ้านมีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบมากกว่า 1 แสน 3 หมื่นล้านบาท หากนำมาหมุนเวียนเพียง 5 รอบ เท่ากับว่าจะมีเงินมากกว่า 5 แสนล้านบาท ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจง่ายขึ้น
สอดรับกับความเคลื่อนไหวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เตรียมแผนยกระดับกองทุนหมู่บ้านให้เป็น “ธนาคารของชุมชน” โดยวางเงื่อนไขว่าจะต้องคัดเลือกกองทุนหมู่บ้านที่ธนาคารดูแลอยู่กว่า 2-3 หมื่นกองทุนที่มีความเข้มแข็งมีการบริหารจัดการดี พร้อมวางระบบการชำระหนี้และวงเงินการกู้ยืมแบบใหม่
ความพยายามผลักดันจาก “กองทุนหมู่บ้าน” ขึ้นไปเป็นนิติบุคคลในนาม “ธนาคารชุมชน” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คือการปัดฝุ่นรื้อนโยบายในลักษณะเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่เพียงปรับแต่งกลิ่นรส ซึ่ง อ.ธนวรรษ พลวิชัย มุมมองของผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า มองว่าเป็นหลักการที่ดีในแง่ของแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงประชาชนในท้องถิ่นได้เร็วที่สุด ไม่ต่างไปจากงบประมาณที่จัดสรรสำหรับพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“เราเคยทำวิจัยเรื่องการปรับจากกองทุนหมู่บ้านไปเป็นธนาคารหมู่บ้าน ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่การมีผู้บริหารที่ดี มีหลักการและหลักปฏิบัติที่ดี และอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจวัตถุประสงค์ได้ว่าตรงนี้จะเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ และคือการทำให้ท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งทุนได้เร็วที่สุด” ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ระบุ
และเพื่อให้นโยบายเหล่านี้เดินถูกต้องตามหลักการ ยกระดับไปสู่ธนาคารชุมชนได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ถูกมองว่าเป็นแค่ประชานิยม ทุกฝ่ายควรคำนึงถึงความพร้อมของชาวบ้าน โดยเฉพาะคณะกรรมการหมู่บ้านที่จะต้องมีความรู้ แนวคิดและทัศนคติของการบริหารเงินกองทุนที่ดี
พอมีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ในภาคอิสาน จ.สุรินทร์ น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีที่สุด มีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกว่า 2,100 กองทุนได้รับงบจากรัฐบาลกว่า 2.6 ล้านบาท ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเกือบทั้งหมด มีเงินทุนหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท
ภาคกลางที่ชลบุรี เป็นอีกพื้นที่กำลังยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชน จากการประเมินผลพบว่ากองทุนหมู่บ้านที่สามารถนำร่องยกระดับได้ มีเพียง 4 กองทุนจากทั้งหมด 700 กว่ากองทุน
ภาคใต้ที่โดดเด่นน่าจะเป็น สถาบันการเงินชุมชนบ้านบางโหนด อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เทศบาลคูเต่า ที่เพิ่งยกระดับจากกองทุนหมู่บ้านเมื่อกลางปี 2555 หลังชุมชนมีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันการเงิน ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิก 101 คน มีหุ้นในกองทุนหมู่บ้านรวม 740,000 บาท เงินฝากหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
สุรินทร์ จุลนวล ประธานสถาบันการเงินชุมชนบ้านบางโหนด มองว่าความเข้าใจของคณะกรรมการหมู่บ้านคือส่วนสำคัญที่เป็นผลสำเร็จของการบริหารงาน เป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะประชาสัมพันธ์บอกกล่าวไปยังชาวบ้านให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ ระเบียบขั้นตอนของการกู้ยืมเงิน ที่สำคัญจะไม่เกิดหนี้สูญในระบบของชุมชนอีกด้วย
“ธกส.และเครือข่ายจังหวัดเคยมาดูความพร้อมของเรา ทั้งเรื่องคณะกรรมการ สถานที่ อุปกรณ์ แล้วจึงสรุปว่าเราพร้อมจะยกระดับจากกองทุนเป็นสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้สามารถขยายไปได้ทั้งตำบล เราจึงเปิดทำการ
ข้อดีที่แตกต่างระหว่างกองทุนหมู่บ้านกับการเป็นธนาคารชุมชน คือคณะกรรมการมีอำนาจและอิสระในการบริหารงานเต็มที่ไม่ต้องถูกจำกัดด้วยข้อบังคับตามกฏหมาย กทบ. เช่นเมื่อก่อนจะกู้กัน 2 หมื่นก็ต้องมานั่งประชุมสมาชิก”
นี่เป็นเพียงบางส่วนของความสำเร็จที่มีให้เห็นน้อยมากสำหรับสำหรับชุมชนที่มีความพร้อมยกระดับจากกองทุนหมู่บ้าน ไปเป็นสถาบันการเงินโดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
…………………………………
นโยบายเหล่านี้แม้จะหลักการที่ดี แต่ผลชี้วัดคงไม่พ้นจำนวนชุมชนที่ประสบความสำเร็จว่าจะมีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับงบมหาศาลที่ลงทุนไปหรือไม่ คือบททดสอบว่าการการยกระดับจากกองทุนหมู่บ้านสู่สถาบันการเงินชุมชนในนาม “ธนาคารชุมชน” สอบผ่านจริงหรือ? .