สกว.ชี้ กม.แก้เหลื่อมล้ำไม่ได้ ต้องจุดระเบิดปัญญาฐานล่างเคลื่อนประเทศ
รอง ผอ.สกว.เสนอเคลื่อนประเทศจาก “โมเดลบัญชีครัวเรือน” ติงแก้จนไม่ใช่เอาภาษีคนทั้งประเทศไปอุด ต้องหนุนชุมชนช่วยตัวเองก่อน รัฐมีหน้าที่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกินกำลังชาวบ้าน ชี้มีไม่กี่เรื่องที่ต้องแก้กฏหมาย แต่พลังความรู้จุดระเบิดจากภายใน-เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ให้ชนบทจัดการตัวเองได้
ดร.ลีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า จากประสบการณ์ทำงานวิจัยกับชาวบ้าน พบว่า งานชุมชนต้องให้ความสำคัญกับคนมาก่อน ส่วนมิติสังคม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร อาชีพ การศึกษา สุขภาพ การเมืองตามมาทีหลัง และพบว่าปัจจัยที่กดทับชุมชนให้อ่อนแอคือ “ความไม่รู้” แก้ได้ด้วยการเสริมสร้างการเรียนรู้ของชุมชน ส่วนที่ชาวบ้านเรียนรู้และจัดการตนเองได้เอง เช่น สวัสดิการชุมชน ออมทรัพย์ ส่วนการศึกษาพอได้ในระดับต้นๆ สุขภาพได้บ้าง เช่น แพทย์พื้นบ้าน การเกษตรทำได้เยอะเพราะอยู่ในวิถีชีวิตเขา ส่วนอีกปัจจัยกดทับที่มาจาก “นโยบายต่างๆ” เช่น ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ การจัดการที่ดิน แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินกำลังที่ชาวบ้านจะจัดการได้เอง เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย งบประมาณ โครงการพัฒนา ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐ
“ชาวบ้านที่ทำเกษตรเองแล้วไปรอดมากกว่าทำตามนโยบายกระทรวงเกษตรฯ แต่มันไม่เหมือนกับปัญหาที่ดินในเขตอนุรักษ์ที่เกี่ยวกับกฏหมาย หรือขาดน้ำที่กรมชลฯต้องลงไปจัดสรรทรัพยากร พื้นที่การทำงานของภาคประชาชนอยู่แถวๆเรื่องพวกนี้ระดับครัวเรือนหรือขึ้นมาระดับตำบล พอเลยนั้นแล้วพื้นที่มันคาบเกี่ยวกันเยอะ เช่น เป็นลุ่มน้ำ มันต้องไปแงะนโยบาย”
ดร.สีลาภรณ์ กล่าวว่า นักพัฒนาชอบตั้งหลักว่าต้องแก้กฎหมายนโยบายจึงจะแก้ปัญหาต่างๆได้ ต้องรบกับรัฐจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าวิเคราะห์ดีๆมีไม่กี่เรื่องในประเทศที่ยังต้องแก้ด้วยการเปลี่ยนกฏหมาย เช่น ขีดกติกาไม่ให้เอกชนเอาเปรียบชาวบ้าน แต่การเปลี่ยนแปลงดีๆส่วนใหญ่ไม่ต้องการกฏหมายอีกแล้ว ยุคนี้พื้นที่ใช้อำนาจสั่งการและเงินได้ผลน้อย เอาชนะกันที่การเรียนรู้ ความสามารถของเกษตรกรสั่งให้เกิดไม่ได้ แต่มีปัจจัยการผลิตที่เป็นทุนพื้นฐานในมือ ถ้าส่งเสริมให้เรียนรู้ จะช่วยตัวเองได้ พ้นจากการเป็นเบี้ยล่างธุรกิจการเกษตร เป็นทั้งโอกาสและเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ
“การเรียนรู้คือการจุดระเบิดจากภายในคือได้คิด และจะคิดได้ก็ต้องเริ่มจากข้อมูล พอระเบิดจากภายในก็มีผลเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ถ้าจะปฏิรูปประเทศไทย ทำเรื่องการเรียนรู้ของเกษตรกร แล้วขึ้นต้นจากความสามารถในการจัดครัวเรือนจัดการไร่นา เครื่องมือมีแล้วคือบัญชีครัวเรือน โมเดลมีแล้ว ขยับจากตรงนี้เคลื่อนฐานล่างได้เลย ล้อหมุนรถเคลื่อนออกจากที่”
รอง ผอ.สกว.ยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ว่าเป็นการเอางบประมาณที่มาจากเงินภาษีคนทั้งประเทศจำนวนมากลงไปใช้โดยไม่แยกแยะ และไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ทั้งนี้ตั้งสมมุติฐานว่าปัญหาความยากจนมากกว่าครึ่งมีสาเหตุมาจากเจ้าตัว ซึ่งถ้าชาวบ้านเริ่มแก้เองจะคลี่คลายไปได้ครึ่งหนึ่ง ที่เหลือรัฐค่อยตามลงไปช่วยแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง
“การใช้เงินไม่ถูก ฟุ้งเฟือย เล่นการพนัน คุณเป็นคนสร้าง ต้องแก้เอง จะเอาเงินของรัฐซึ่งเป็นภาษีคนส่วนใหญ่ไปแก้ก็ไม่ถูก แต่ถ้าเป็นปัญหาราคาผลผลิต น้ำท่วม ความเสียเปรียบ ความด้อยโอกาส เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบ รัฐต้องลงไปแก้”
ดร.สีลาภรณ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินที่ถาวรคือแก้การสะสมหนี้แก้ต้นเหตุของหนี้ ควรทำเรื่องการเรียนรู้ให้ชาวบ้านคิดเป็น ถึงจุดนั้นแรงระเบิดจะตีกลับได้หมด เช่น เรื่องกองทุนหมู่บ้าน ก็เอาข้อมูมาดูและวิเคราะห์ว่ากู้แล้วเอาไปเพื่ออาชีพหรือทำอะไร ผลตอบแทนเป็นอย่างไร PL หรือ NPL นอกจากจะเกิดการจัดการกองทุนหมู่บ้านที่ดีแล้ว ยังเกิดแผนพัฒนาตำบล แก้ปัญหาได้จริงทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน .