ก.ล.ต.จับมือ ปปง.-ดีเอสไอ ยกระดับความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมาย
ก.ล.ต. ยกระดับความร่วมมือโดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงทวิภาคี 2 ฉบับ กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและการป้องปรามการกระทำผิดในตลาดทุน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้บรรลุข้อตกลงในการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) แบบทวิภาคี จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ บันทึกข้อตกลงระหว่าง ก.ล.ต. กับ ปปง. ว่าด้วยการประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ประสานความร่วมมือโดยใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งจะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และเป็นการป้องกันการใช้ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือสนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ในขณะที่บันทึกข้อตกลงระหว่าง ก.ล.ต. กับ ดีเอสไอ จะเป็นการประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีความรวดเร็วและรัดกุมยิ่งขึ้น อีกทั้งครอบคลุมการให้ความร่วมมือด้านการสนับสนุนด้านบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ระหว่างกัน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในคดีพิเศษเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้สืบเนื่องจากการหารือระหว่าง ก.ล.ต. กับ ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 และระหว่าง ก.ล.ต. กับ ปปง. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การลงนามใน MOU ทั้งสองฉบับถือเป็นมิติใหม่ของ ก.ล.ต. ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องปรามการกระทำผิด ยกระดับความคุ้มครองผู้ลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน โดยเป็นการขยายขอบเขตความร่วมมือจากข้อตกลงฉบับเดิมที่จัดทำขึ้นกับ ปปง. และดีเอสไอในปี 2559 และ 2548 ตามลำดับ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมในลักษณะบูรณาการที่ครอบคลุม สอดคล้องกับบริบทของกฎหมายในปัจจุบัน และแนวโน้มการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยี”
พลตำรวจตรีปรีชา เจริญสหายานนท์ รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กล่าวว่า “ในปัจจุบันโลกได้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ผลิตภัณฑ์ในด้านการเงินการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยให้การทำธุรกรรมมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวก็เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน เพราะอาชญากรเองได้มีพัฒนาการในการเรียนรู้การใช้ช่องโหว่ของเทคโนโลยีในการกระทำความผิดมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ปปง. และ ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานผู้กำกับดูแลจำเป็นต้องมีข้อมูลและความรู้เท่าทันกับอาชญากรดังกล่าว จึงต้องยกระดับความร่วมมือและการประสานงานกันระหว่างสองหน่วยงานอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของประเทศมีความเข้มแข็งและได้รับการยอมรับมาตรฐานสากล”
พันตำรวจเอกไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ที่ทั้งสองหน่วยงานได้ปฏิบัติงานร่วมกัน ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ฯ รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและประชาชนจำนวนมาก ภายใต้กรอบบันทึกข้อตกลงการประสานความร่วมมือฉบับปี 2548 โดยภายใต้กรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับปรับปรุงนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะให้ความสำคัญในเรื่องของวิธีปฏิบัติในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด โดยเน้นการปฏิบัติงานเชิงรุกในทุกประเภทความผิดที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ให้มากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลและการหารือระหว่างกันตั้งแต่ในชั้นก่อนที่จะเป็นคดีจนกระทั่งคดีถึงที่สุด เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในตลาดทุนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป”