‘ไทย ไรซ์ นามา’ ปลูกข้าวลดโลกร้อน เพิ่มรายได้เกษตรกร
‘ไทย ไรซ์ นามา’ โครงการชาวนารักษ์โลก หนุนปลูกข้าวลดโลกร้อน เพิ่มรายได้เกษตรกร นำร่อง 100,000 ครัวเรือน ในเขตพื้นที่ชลประทาน 6 จังหวัด ชัยนาท อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี อยุธยา สุพรรณบุรี รวมถึงลุ่มน้ำใกล้เคียงครอบคลุมพื้นที่ 2.8 ล้านไร่
ภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญพร้อมกันและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย ทำให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้นจากการขยายตัวทางความร้อนของน้ำในมหาสมุทร ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมามหาศาลจากชั้นดินเยือกแข็งและป่าที่กำลังตาย
เกษตรกรรมเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนี้ หนึ่งในนั้น คือ ข้าว ซึ่งเป็นผลผลิตส่วนใหญ่ที่มีการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรกรรมประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย
ทั้งนี้ ในการผลิตข้าวเขตชลประทาน พบว่าการเกิดน้ำท่วมในนาข้าวทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนขึ้นสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า ซึ่งเกษตรกรรมเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย
ในขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
การผลิตข้าวในประเทศไทยจึงไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเกือบร้อยละ 60 จากกิจกรรมทางการเกษตร แต่ยังนับเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน
โดยข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2537 - 2556 ระบุไทยจัดเป็นประเทศอันดับที่ 11 ที่ได้รับผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ด้วยการให้สัตยาบันต่อข้อตกลงปารีสในเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2559
จากปัญหาภาวะโลกร้อนและการทำเกษตรกรรม กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้างและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUB) และกระทรวงธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม (BEIS) แห่งสหราชอาณาจักร ร่วมกันจัดตั้ง NAMA Facility เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในการบรรเทาผลกระทบต่อภูมิอากาศอย่างสำคัญในระดับประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions หรือ NAMA)
โดยโครงการข้าวไทย NAMA จากความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ GIZ ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 โครงการ จากทั้งหมด 77 โครงการทั่วโลก ที่ได้รับเงินสนับสนุนในการจัดเตรียมข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ (Full Proposal) โดยมอบเงินทุนจำนวน 14.9 ล้านยูโร หรือ 576 ล้านบาทในการดำเนินโครงการ ระยะเวลา 5 ปี ตั้งสิงหาคม 2561 – สิงหาคม 2566
โครงการฯ มุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ และยกระดับการผลิตข้าวยั่งยืนให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตลาด ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวนาที่ร่วมโครงการสามารถผลิตข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนที่
การทำงานครั้งนี้ร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 100,000 ครัวเรือน ในเขตพื้นที่ชลประทาน 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี อยุธยา และสุพรรณบุรี และลุ่มน้ำใกล้เคียงครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 2.8 ล้านไร่ เเละมีการเปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวไม้ซุง ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ระบุว่าในขณะนี้โลกประสบปัญหาภาวะโลกร้อน ทุกคนทั่วโลกต่างเผชิญภายใต้สถานการณ์เดียวกัน เกษตรกรเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อการผลิตและในขณะเดียวกันเกษตรกรก็สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้
อย่างไรก็ตาม มีความยินดีที่ทุกคนร่วมมือกันหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาภายใต้โครงการ Thai Rice NAMA ที่จะช่วยดูแลรักษาธรรมชาติ อีกทั้งเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินการโครงการนี้จะมุ่งเน้นให้เกษตรกรรายย่อย มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาแบบปัจจุบันไปสู่การทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีเฉพาะที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งการปรับพื้นที่ให้เสมอกัน การปลูกแบบเปียกสลับแห้ง การใส่ปุ๋ยตาม ค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการฟางและตอซังเพื่อลดการเผา และอื่นๆ ซึ่งจะประหยัดน้ำและลดน้ำท่วมในแปลงลง โดยโครงการจะมีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน และให้การฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยี การผลิตข้าวที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โครงการได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการปล่อยสินเชื่อสีเขียวโดยเกษตรกรสามารถผ่อนชำระคืนภายหลังได้ในช่วงระยะเวลา 3 ฤดูปลูก ให้แก่ ผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อเครื่องจักรกลมาใช้ในกิจกรรมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ โครงการจะให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ในการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ รวมทั้ง การพัฒนามาตรฐาน Thai Rice GAP++ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดและห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงการขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป
ขณะที่นายสุริยัน วิจิตรเลขาการ รองผู้อำนวยการโครงการเกษตรกรรมและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมและมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกษตรกรผลิตข้าวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย มี 4 วิธี ได้แก่ การปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์ ซึ่งการปรับระดับพื้นดินในแปลงให้เรียบระนาบทั้งแปลงสูง - ต่ำ จะช่วยให้ง่ายต่อการจัดการน้ำ ที่จะนำน้ำเข้า – ออกจากแปลงนาและส่งผลถึงการควบคุมวัชพืช ผลผลิตสม่ำเสมอ และเพิ่มคุณภาพของเมล็ดพืช ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรสามารถประหยัดค่าสูบน้ำมากถึงร้อยละ 50
การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ที่จะสนับสนุนการบริหารการจัดการน้ำที่ช่วยให้ระบบรากข้าว การแตกกอ และความสมบูรณ์ของข้าวดีขึ้น
การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อลดต้นทุนการใช้ปริมาณปุ๋ยที่มากเกินจำเป็น และช่วยรักษาแร่ธาตุในดิน ทำให้ดินสมบูรณ์มากขึ้น เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต มีรายได้ที่มากขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การจัดการฟางข้าวและตอซัง ช่วยในเรื่องเพิ่มแร่ธาตุในดิน และยังเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรไม่เผาตอซังที่เพิ่มฝุ่นละอองและหมอกควัน ในขณะเดียวกันก็สามารถนำฟางข้าวไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้
การใช้เทคนิคเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนในการปลูกข้าวแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวและได้ข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้น โดยโครงการไม่ใช่โครงการที่ประกันราคาข้าวว่าเกษตรกรจะขายข้าวได้ราคามากขึ้น แต่จะมีรายได้มากขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ลดลง อีกทั้งยังมีการสนับสนุนการเข้าถึงตลาดจากภาคธุรกิจจากความร่วมมือกับบริษัทผู้ส่งออกข้าวหลายบริษัท, ผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีก ทำงานร่วมกันส่งเสริมการตลาดข้าวไทยและให้คนไทยได้บริโภคข้าวรักโลกและจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทยต่อไปในอนาคต
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/