TIJ จับมือ 5 พันธมิตร เชื่อมองค์ความรู้พัฒนาจริยธรรม-จิตวิทยาพิทักษ์สิทธิเด็ก
TIJ จับมือ 5 องค์กรพันธมิตร เชื่อมองค์ความรู้พัฒนาจริยธรรมและจิตวิทยาพิทักษ์สิทธิเด็ก
ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กเป็นปัญหาที่สังคมระหว่างประเทศ อาเซียน และประเทศไทยตระหนักดีว่ามีความซับซ้อนและทวีความรุนแรง รายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ในปี พ.ศ. 2559 ระบุว่า โดยเฉลี่ยทั่วโลกแล้ว ในเด็ก 10 คน อาจมีถึง 6 คน ที่เคยผ่านประสบการณ์ความรุนแรงทางกายภาพ ซึ่งรวมถึงความรุนแรงจากการถูกทำโทษที่รุนแรงเกินสมควรจากครูหรือผู้ปกครอง และมีเด็กหญิงถึง 1 ใน 10 คน ที่อาจเคยถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ นอกจากนี้ ข้อมูลในรายงานวิจัยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ของ TIJ และ UNODC พบว่ายังมีเด็กจำนวนมากจากประเทศกัมพูชา ประเทศลาว และประเทศพม่า ถูกนำมายังประเทศไทยเพื่อจุดประสงค์ในการค้ามนุษย์ ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการแสวงประโยชน์ทางเพศ อีกทั้งยังมีรายงานการละเมิดทางเพศต่อเด็กบนโลกออนไลน์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ
“ความรุนแรงต่อเด็กไม่เพียงส่งผลกระทบในเชิงลบต่อตัวเด็กเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว สังคม และประเทศ เป็นการทำลายการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศ” เอกอัครราชทูต
อดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวโดยอ้างอิงรายงานของ UNICEF ระบุว่า “ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกสูญเสียไปเนื่องจากความรุนแรงต่อเด็กมีจำนวนถึง 209 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เทียบเป็นเงินถึง 6.43 ล้านล้านบาทโดยประมาณ”
เด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง การล่วงละเมิด การละเลย และการแสวงประโยชน์อาจจะได้รับผลกระทบเชิงลบในด้านพัฒนาการและการเจริญเติบโตไปตลอดชีวิต ทั้งในด้านความสามารถในการเรียนรู้ การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การทำงาน และการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเด็ก โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่สอบปากคำทั้งเด็กในฐานะผู้เสียหาย พยานเด็ก และผู้กระทำความผิดเด็ก จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สำคัญในกระบวนการดังกล่าวเพราะนอกจากจะปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมแล้ว บุคคลดังกล่าวยังต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้าใจถึงสิทธิเด็ก และความละเอียดอ่อนต่างๆ หากผู้บังคับใช้กฎหมายขาดความเข้าใจทั้งในระดับจริยธรรมและจิตวิทยา เด็กที่ตกเป็นเหยื่ออาจต้องเผชิญกับการถูกละเมิดซ้ำซ้อนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ด้วยตระหนักถึงปัญหาสิทธิเด็กและการบังคับใช้กฎหมายกับเด็กในฐานะกลุ่มเปราะบางในกระบวนการยุติธรรมด้วยความเข้าใจและมีประสิทธิภาพ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “มาตรฐานจริยธรรมด้านสิทธิเด็กและการวิเคราะห์จิตวิทยาสำหรับผู้ใช้บังคับกฎหมาย” ขึ้น ระหว่างวันที่ 1-5 ก.ค. 2562 เพื่อส่งเสริมบทบาทของเจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก สร้างความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่และระบบการทำงานแบบ
สหวิชาชีพ และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและแนวปฏิบัติที่ดี ภายใต้กรอบแนวคิดของสิทธิเด็ก ให้เข้าใจถึงมาตรฐานจริยธรรมและมุมมองทางด้านจิตวิทยาของเด็กซึ่งเป็นผู้เสียหาย นอกจากนี้ TIJ ยังมุ่งหวังที่จะสร้างเครือข่ายผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อร่วมกับนานาประเทศในการยุติการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กอีกด้วย
การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ TIJ ได้ร่วมมือกับ 5 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หน่วยปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหราชอาณาจักร (NCA) องค์การเพื่อยุติการค้าประเวณีเด็ก สื่อลามกเด็ก และการค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ (ECPAT) มูลนิธิเอ-ทเวนตี้วัน (A21 Foundation) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาลเยอรมัน-อุษาคเนย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CPG)
“ลำพังเพียงการปรับปรุงกฎหมาย ก็ไม่อาจรับรองให้เด็กมีความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมทางอาญาได้” เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ ชี้ว่าความรุนแรงต่อเด็กเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน “การแก้ไขปัญหาต้องกระทำควบคู่กันระหว่างการปรับปรุงกฎหมายและนโยบาย พร้อมกับการสร้างความเชี่ยวชาญและการเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในระบบยุติธรรมทางอาญา อีกทั้งมีการทำงานแบบบูรณาการระหว่างระบบยุติธรรมทางอาญาและสหวิชาชีพ
มีการสนับสนุนโดยหน่วยงานทางวิชาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของระบบยุติธรรมทางอาญาและการป้องกันอาชญากรรม และจะต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ”
เอกอัครราชทูต อดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า “ที่ผ่านมาประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ. 2557 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ซึ่งในขณะนั้นทรงเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียนนา ได้ทรงมีบทบาทสำคัญในการร่างและนำเสนอยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในสาขาการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Children in the Field of Crime Prevention and Criminal Justice หรือ “ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ” ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญ คือ การกำหนดกลไกที่เป็นมิตรกับเด็กและส่งเสริมการคุ้มครอง ช่วยเหลือ และป้องกันเด็กที่เป็นผู้เสียหายและพยานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อซ้ำสองเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา”
TIJ ยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อผลักดันและสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เช่น การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดเด็กและมาตรการที่เหมาะสม การหารือระหว่างหน่วยงานไทยหรือการจัดประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ เชิงนโยบายให้สามารถนำมาแก้ปัญหาในสังคมไทยได้ การทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children—ACWC) รวมถึงการจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการเสริมสร้างขีดความสามารถในการต่อต้านอาชญากรรมต่อเด็ก เป็นต้น
TIJ ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมองค์ความรู้จากองค์กรหลากหลายภาคส่วน หวังว่าผลจากความร่วมมือในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะสามารถพัฒนาจนกลายเป็นหลักสูตร เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญสำหรับเจ้าหน้าที่และเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี อีกทั้งพัฒนาเป็นประมวลจริยธรรมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยต่อไป