สถิติเหตุร้าย มิ.ย.55 พุ่งสูงสุดในรอบ 8 เดือน สูญเสียหนักสุดรอบ 3 เดือน
ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รายงานสถิติเหตุรุนแรงในรอบเดือน มิ.ย.2555 ระบุว่า มีเหตุร้ายเกิดขึ้นทั้งสิ้น 78 ครั้ง สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย.2554 เป็นต้นมา หรือสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน
ข้อมูลของ ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แยกแยะเหตุรุนแรงจำนวน 78 ครั้ง พบว่าเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 57 ครั้ง ลอบวางระเบิด 12 ครั้ง วางเพลิง 8 ครั้ง ก่อกวน 1 ครั้ง ที่เหลืออีก 21 ครั้งสรุปทางคดีเบื้องต้นว่าเป็นเหตุขัดแย้งส่วนตัว ไม่ใช่เหตุความมั่นคง
แม้จะหักเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีมูลเหตุจากความขัดแย้งส่วนตัวออกไปแล้ว แต่สถิติการก่อเหตุในรอบเดือน มิ.ย.2555 ก็ยังสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย.2554 อยู่ดี ยกเว้นเดือน ธ.ค.2554 เท่านั้นที่มีเหตุความมั่นคงสูงกว่า สรุปตัวเลขได้ดังนี้
เดือน พ.ย.2554 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 63 ครั้ง เป็นเหตุส่วนตัว 7 ครั้ง คงเหลือเหตุความมั่นคง 56 ครั้ง
เดือน ธ.ค.2554 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 71 ครั้ง ไม่มีเหตุส่วนตัว คงเหลือเหตุความมั่นคง 71 ครั้ง
เดือน ม.ค.2555 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 55 ครั้ง เป็นเหตุส่วนตัว 23 ครั้ง คงเหลือเหตุความมั่นคง 32 ครั้ง
เดือน ก.พ.2555 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 64 ครั้ง เป็นเหตุส่วนตัว 17 ครั้ง คงเหลือเหตุความมั่นคง 47 ครั้ง
เดือน มี.ค.2555 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 71 ครั้ง เป็นเหตุส่วนตัว 19 ครั้ง คงเหลือเหตุความมั่นคง 52 ครั้ง
เดือน เม.ย.2555 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 62 ครั้ง เป็นเหตุส่วนตัว 15 ครั้ง คงเหลือเหตุความมั่นคง 47 ครั้ง
เดือน พ.ค.2555 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 57 ครั้ง เป็นเหตุส่วนตัว 8 ครั้ง คงเหลือเหตุความมั่นคง 49 ครั้ง
เดือน มิ.ย.2555 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 78 ครั้ง เป็นเหตุส่วนตัว 21 ครั้ง คงเหลือเหตุความมั่นคง 57 ครั้ง
ปัตตานีอ่วมเหตุร้ายชุก-เปิดชื่อ 8 อำเภอไร้ป่วน
เมื่อแยกดูสถิติการเกิดเหตุรุนแรงรายจังหวัดในรอบเดือน มิ.ย.2555 พบว่า จ.ยะลา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 17 ครั้ง จ.ปัตตานี 37 ครั้ง จ.นราธิวาส 21 ครั้ง และสี่อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี 3 ครั้ง
หากพิจารณาข้อมูลลึกลงไปในระดับอำเภอ พบว่าอำเภอที่ติดกลุ่มมีสถิติการก่อเหตุรุนแรงสูงเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ อ.รามัน จ.ยะลา 5 ครั้ง อ.ยะรัง กับ อ.เมืองปัตตานี อำเภอละ 7 ครั้ง อ.มายอ จ.ปัตตานี 5 ครั้ง และ อ.ยี่งอ กับ อ.เมืองนราธิวาส อำเภอละ 4 ครั้ง
ส่วนอำเภอที่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลยตลอดเดือน มิ.ย.2555 ได้แก่ อ.กาบัง อ.เบตง จ.ยะลา, อ.แม่ลาน อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี, อ.เจาะไอร้อง อ.แว้ง จ.นราธิวาส และ อ.สะบ้าย้อย กับ อ.นาทวี จ.สงขลา
ชาวบ้านยังเป็นเหยื่อความรุนแรงกลุ่มใหญ่สุด
ทางด้านสถิติความสูญเสียในรอบเดือน มิ.ย.2555 แยกตามกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
ทหาร เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 35 นาย
ตำรวจ เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 9 นาย
ประชาชน เสียชีวิต 37 ราย บาดเจ็บ 38 ราย
อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 4 นาย
อาสารักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 3 นาย
ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 2 ราย
ผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 1 ราย
สรุปยอดผู้เสียชีวิต 51 ราย บาดเจ็บ 91 ราย รวมผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 142 ราย นับว่าสูงที่สุดตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา (หรือในรอบ 3 เดือน) โดยในเดือน เม.ย.2555 มียอดความสูญเสีย 84 ราย แยกเป็นเสียชีวิต 33 ราย บาดเจ็บ 51 ราย และเดือน พ.ค.มียอดความสูญเสีย 97 ราย แยกเป็นเสียชีวิต 37 ราย และบาดเจ็บ 60 ส่วนเดือน มี.ค.2555 ที่มียอดความสูญเสียสูงมาก เนื่องจากเกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.
สำหรับยอดรวมผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.2555 มียอดผู้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 4,780 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 2,010 ราย ศาสนาอิสลาม 2,641 ราย ไม่ระบุศาสนา 129 ราย บาดเจ็บทั้งสิ้น 8,615 ราย แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 5,409 ราย ศาสนาอิสลาม 2,704 ราย ไม่ระบุศาสนา 502 ราย