เปรียบสูตรน้ำมันกัญชา อย.เหลื่อมล้ำรับรอง รพ.อภัยภูเบศร -ยื้อหมอพื้นบ้าน อ.เดชา
อย.ยื้อรับรองสูตรน้ำมันกัญชา ‘เดชา ศิริภัทร’ 12 องค์กรภาคประชาสังคม แถลงจี้รมว.สธ. คนใหม่ ใช้อำนาจสั่งเร่งรัด ให้ปชช.พึ่งตนเองได้ เปรียบกับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผ่านภายใน 6 วัน
ปัจจุบันสูตรน้ำมันกัญชาของหมอพื้นบ้าน ‘เดชา ศิริภัทร’ ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ผ่านการรับรองของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดขั้นตอนการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจนถึงขณะนี้เป็นเวลาร่วม 4 เดือนแล้ว ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้
ขณะที่การขออนุมัติของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ใช้เวลาผ่านกระบวนการขออนุมัติทั้งหมดภายใน 6 วันเท่านั้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่รร.รามาการ์เด้น กรุงเทพฯ ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง กัญชาเสรีเพื่อการเเพทย์ ซึ่งจัดโดยพรรคภูมิใจไทย 12 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิข้าวขวัญ จึงออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ใช้อำนาจบริหารในการสั่งการให้ อย. ผ่านสูตรน้ำมันกัญชาของหมอพื้นบ้าน ‘เดชา ศิริภัทร’
รวมถึงให้ใช้อำนาจบริหารระหว่างที่ยังไม่ได้แก้ไขกฎหมาย เพื่อเปิดทางให้แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านที่ผ่านการอบรมความรู้กัญชาจากกรมการแพทย์แผนไทยฯ แล้ว ให้สามารถปลูกและผลิตยากัญชาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยตามหลักธรรมจรรยาได้โดยไม่ชักช้า
(อ่านประกอบ:ภาคประชาสังคมจี้ 'อนุทิน' สั่ง อย. ผ่านหลักสูตรน้ำมันกัญชาหมอพื้นบ้าน 'อ.เดชา')
“นายอนุทินระบุต้องการเปิดให้การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ไม่ให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง แต่เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นหลักการที่เครือข่ายฯ เรียกร้องให้ปฏิบัติและให้สธ. ไม่ว่าจะเป็นปลัดสธ. และอย.โปรดเอื้ออำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาได้โดยรวดเร็ว” น.ส.รสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค ตอกย้ำในข้อเรียกร้อง
เธอกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีการประชุมคณะกรรมการ 2 คณะ และได้ผ่านตำรับยาของหมอพื้นบ้าน ‘เดชา ศิริภัทร’ เพียงแต่เวลานี้ติดที่ อย. ตั้งคำถามหลายสิบข้อให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ต้องตอบ ขณะที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร สามารผ่านกระบวนการขอรับอนุญาตทั้งหมดได้ภายใน 6 วัน ซึ่งอย.ผ่านการรับรองให้ ทำให้สามารถขอรับของกลางกัญชาจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 662 กิโลกรัม นำไปทำยาได้
แตกต่างจากกรณีของหมอพื้นบ้าน ‘เดชา ศิริภัทร’ วันนี้เวลาผ่านมา 4 เดือนแล้ว อย.ยังกักไว้อยู่ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า นี่เป็นกระบวนการถ่ายโอนการผูกขาดให้เอกชนใช่หรือไม่ เนื่องจากการที่จะให้รพ.ผลิตยาได้เองนั้น รพ.ต้องมี GMP อาเซียน หรือมาตรฐานอื่น ๆ ซึ่งเวลานี้ รพ.ทั่วประเทศ เข้ามาตรฐานน้อยมาก แต่อย. กลับประกาศว่าให้รพ.สามารถทำเรื่องขอครอบครองกัญชาได้ภายใน 20 ก.ค. 2562
น.ส.รสนา ตีความหมายว่า แม้ไม่ให้รพ.ผลิต แต่ให้รพ.ซื้อ เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่ามีการประกาศก่อนหน้านี้ในการโฆษณากัญชาให้กับรพ. และให้รพ.ครอบครองได้ คือ ตั้งใจนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศมาแจกจ่ายให้รพ.ใช่หรือไม่ ด้วยเหตุนี้การทำยาโดยธรรมจรรยาของ ‘เดชา ศิริภัทร’ ที่แจกฟรีจะขัดผลประโยชน์กลุ่มทุน รวมทั้งบริษัทที่มีสิทธิบัตร อย.จึงได้สกัดอย่างหนาแน่นขนาดนี้
“ขอเรียกร้องไปยังนายอนุทิน จะต้องสั่งการให้อย. ควรผ่าน เนื่องจากกรมการแพย์แผนไทยฯ ได้ผ่านตำรับยาแล้ว แต่ติดที่อย. ขณะที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ไม่จำเป็นต้องขอขึ้นทะเบียนตำรับยา ทั้งที่เป็นตำรับเดียวกัน เพียงแต่คนหนึ่งใช้น้ำมันมะกอก ส่วนหมอพื้นบ้าน ‘เดชา ศิริภัทร’ ใช้น้ำมันมะพร้าว จึงน่าสงสัยว่า อย.รับคำสั่งจากใคร ที่มาสกัดการพึ่งตนเองของประชาชน”
พร้อมกับเปรียบเทียบการทำน้ำมันกัญชาเหมือนการหุงข้าว ประชาชนหุงข้าวด้วยฟืนและถ่านได้ แต่เวลานี้กำลังทำกระบวนการซับซ้อน จะต้องหุงข้าวด้วยเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ฉะนั้นชาวบ้านจะไม่สามารถหุงข้าวกินได้ จะต้องซื้อข้าวจากกลุ่มทุนที่ทำมาตรฐานเท่านั้นใช่หรือไม่ ขณะที่รพ.ของรัฐยังทำไม่ได้ ฉะนั้นใช้หลักเกณฑ์มัดคอตัวเองไม่ให้พึงตนเอง จึงต้องได้รับการแก้ไข
นอกจากนี้กลุ่มทุนพลังงานจะสร้างโรงงานผลิตยากลั่นน้ำมันกัญชา เพื่อให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เช่า ซึ่งคิดว่ารมว.สธ.ควรนำเรื่องนี้มาพิจารณาว่า ยารักษามะเร็งมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท/ปี นำเข้าประมาณ 1 แสนล้าน/ปี ขณะที่การสร้างโรงงานผลิตยาทดแทนใช้เงินแค่ 1 พันล้าน หรือเท่ากับ 0.01% เราไม่มีความสามารถในการลงทุน จึงต้องให้กลุ่มทุนใหญ่ลงทุนให้อภ.เช่า แล้วทำให้ยาถึงประชาชนมีราคาแพงขึ้น สิ่งเหล่านี้ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง
“รมว.สธ. ต้องไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหญ่มาลงทุนล้วงตับหาประโยชน์ แต่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนผลิตยาเอง เหมือนหุงข้าวเองได้” นักรณรงค์ด้านสุขภาพ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต ระบุกรณีของหมอพื้นบ้าน ‘เดชา ศิริภัทร’ ค่อนข้างชัดเจน โดยพบปริมาณที่ใช้ยาค่อนข้างต่ำมากเพียง 2% ในขณะที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีปริมาณมากกว่า ซึ่งในเรื่องความปลอดภัยแล้วน่าจะอยู่ในเกณฑ์ความปลอดภัยอยู่แล้ว เหตุผลเพราะสาร THC ซึ่งออกฤทธิ์ทางจิตประสาทและเมา ใช้ต่ำกว่ายาใช้จริงในต่างประเทศ ไม่ว่าในยุโรป อเมริกา แคนาดา ย่อมถือว่าปริมาณยาต่ำ
ถ้าใช้หลักเกณฑ์ที่ว่านี้กับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในขณะนี้ใช้ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ซึ่งไม่เคยใช้ในมนุษย์ หนูทดลอง แล้วสามารถใช้ในมนุษย์ได้เลย ส่วนสูตรของหมอพื้นบ้านใช้ในมนุษย์มาแล้ว สมควรแก่เหตุผลหรือไม่ จีงเรียกร้องให้มอบของกลางกัญชาให้เพื่อวิจัยต่อเนื่องทันที
“ถ้าเทียบบรรทัดฐานเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า สมควรแก่เวลาแล้วหรือไม่ ที่จะมอบกัญชาของกลางให้หมอพื้นบ้าน ‘เดชา ศิริภัทร’ เพื่อช่วยผู้ป่วยและวิจัยในคราวเดียวกัน”
ในแง่ปริมาณใช้ในขณะนี้ นักวิชาการม.รังสิต ชี้ให้เห็นว่า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จำกัดโรคไว้แค่ 2 โรค ขณะที่สูตรหมอพื้นบ้านใช้ได้หลายโรค การเก็บข้อมูลนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ของไทยโดยรวมและชัดเจนว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับสิทธิบัตรต่างชาติ ซึ่งได้ยื่นคำขอมาแล้วนับร้อยสิทธิบัตร ถ้าประเทศไทยจะนับหนึ่งในการวิจัยในหลอดทดลอง สัตว์ทดอง และมนุษย์ เราจะไล่ไม่ทันสิทธิบัตรต่างชาติเลย
ขณะที่การพูดว่าปลดล็อกการแพทย์แผนไทย 16 ตำรับ ในความเป็นจริง ไทยอนุมัติการปลูกน้อยมาก แม้จะอนุมัติแล้ว เครื่องยาอื่น ๆ ที่ต้องผสมกัญชา ยังไม่มีการส่งเสริมการปลูกอย่างเป็นระบบ ในขณะที่ 16 ตำรับนั้น มีการเข้ากัญชาแค่กว่า10% ถามว่าพืชสัดส่วนอีก 80-90% ใครปลูกและปลูกทันหรือไม่ เนื่องจากใช้เวลานานกว่ากัญชาที่ใช้เวลาไม่กี่เดือน สามารถเก็บเกี่ยวใช้ได้เลย
นายปานเทพ กล่าวย้ำโอกาสเดียวที่จะลัดขั้นตอนได้เร็วที่สุด คือ ตำรับยาหมอพื้นบ้าน อย่างสูตรของ ‘เดชา ศิริภัทร’ ซึ่งใช้ในมนุษย์มาแล้วนับพันราย เราต้องรีบรับรองส่งเสริมและเริ่มกระบวนการเก็บวิจัยอย่างเป็นระบบ จึงจะเรียกว่า ใช้การเก็บข้อมูลเดินหน้า จากข้อมูลที่เก็บมาแล้วในอดีต
“ถ้ารพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรทำได้ หมอพื้นบ้าน ‘เดชา ศิริภัทร’ ก็ต้องทำได้ เราจึงสนับสนุนให้มีการรีบอำนวยความสะดวกใช้ในสูตรตำรับยานี้” เขากล่าวในที่สุด
******************************
มูลนิธิข้าวขวัญ ระบุปัจจุบันมีผู้ป่วยยื่นลงทะเบียนอ่านทางออนไลน์และเอกสารโดยตรงเพื่อขอรับสารสกัดน้ำมันกัญชาไม่ต่ำกว่า 40,000 ราย ขณะที่บางรายไม่ได้รับยาต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนรอยต่อนี้ ทำให้ต้องเสียชีวิต เฉลี่ย 1 ราย/วัน
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ อย.ต้องออกมาตอบคำถามแล้วว่า มีเหตุผลใดจึงไม่ผ่านการรับรองสูตรน้ำมันกัญชาของหมอพื้นบ้านที่ชื่อ ‘เดชา ศิริภัทร’ สังคมกำลังรอฟังอยู่! .
อ่านประกอบ:คิกออฟ! ‘อนุทิน’ ดันนำร่อง อสม.ปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ใช้ทางการแพทย์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/