ตามดูระบบบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ จากเวียนนา-เอสเพน ประเทศออสเตรีย
รูปแบบการสร้างเมือง Aspern นี้ ใช้ที่ดินของรัฐ การลงทุนและการบริหารงานโดยรัฐร่วมกับเอกชนด้วยเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท มีจุดเด่นในการจัดสรรพื้นที่แบบ Mixed-use quarters ลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สนับสนุนให้มีการเดินทางโดยใช้รถสาธารณะ ทางเท้า และจักรยาน
เวียนนา (Vienna หรือ Wien) เมืองหลวงออสเตรีย ถือเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ตัวเลขประชากรของมหานครแห่งนี้ ในปี 2019 พบว่า
- มีคนอาศัยอยู่กว่า 1.9 ล้านคน
- 50% มีภูมิหลังอพยพเข้ามา (migration background )
- มีถึง 181 สัญชาติ
- 50% ของพื้นที่: พื้นที่สีเขียว
กรุงเวียนนา นอกจากได้รับสมญานามว่า เป็นนครแห่งเสียงดนตรี เพราะมีนักแต่งเพลงคลาสสิก ไม่ว่าจะเป็น บีโธเฟ่น โสสาร์ท โยฮัน สเตราส ล้วนแล้วแต่มาจากที่นี่ทั้งนั้น กรุงเวียนนา ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2010-2019 โดย Mercer สถาบันที่ปรึกษาการบริหารที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ Roland Berger ก็ยกให้กรุงเวียนนา ติดอันดับ 1 เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตั้งแต่ปี 2017-2019
คำว่า เมืองอัจฉริยะในยุคแรก ๆ ของกรุงเวียนนา ดร.ยูจิน แอนโทลอฟกี้ (Dr. Eugen Antalovsky) กรรมการผู้จัดการ Urban Innovation Vienna ชี้ว่า เกิดขึ้นช่วงที่มหานครแห่งนี้ ประสบอุทกภัยน้ำท่วมมาตลอด 20 ปี (1950-1970) จึงมีการคิดระบบป้องกันน้ำท่วมเมือง ที่เรียกว่า The Vienna Danube Island เกิดเป็นเกาะและมีชายหาดเมืองความยาว 42 กิโลเมตร
Danube Island หน้าที่หลักเป็นระบบป้องกันน้ำท่วมเมือง ตัวเกาะเองได้กลายเป็นพื้นที่สันทนาการของประชาชน ทั้งการเล่นกีฬา เดินเล่น วิ่ง ปั่นจักรยาน และโรลเลอร์สเกต รวมถึงพื้นที่ปิกนิก มีทุ่งหญ้าสนามเด็กเล่น สนามเทนนิสแยกต่างหาก รวมไปถึงวอลเลย์บอลชายหาด เรียกว่า สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
ที่สำคัญ Danube Island ได้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งที่ 2 ไปแล้ว และยังเป็นพื้นที่ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และโรงเรียนลอยน้ำอีกด้วย
ปัจจุบันกรุงเวียนนา ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้
เมืองที่ได้ชื่อว่า “Smart City” ยังมียุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่มุ่งสู่ปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า (Smart City Vienna Framework) โดยเน้น 1.คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม 2.การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ แหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในอาคาร รวมถึงระบบคมนาคมอัจฉริยะ และ 3.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนพื้นฐานนวัตกรรม การวิจัยระดับนานาชาติ การกำกับดูแล / ความเป็นผู้นำแบบมีส่วนร่วม
และหัวใจสำคัญที่เป็นสิ่งจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน ก็คือ ระบบขนส่งสาธารณะนั่นเอง
จากสถิตการเก็บข้อมูล จะเห็นกราฟการใช้บริการขนส่งสาธรณะของคนที่นี่ 'พุ่ง' แซงกราฟการใช้รถยนต์ส่วนตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในอนาคตจะมีการลงทุนเพิ่มเติมในระบบขนส่งสาธารณะ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน หรือทางจักรยาน โดยมุ่งหวังให้ผู้คนลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง ท้ายสุดไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเลย (or without a car)
นอกจากยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองระยะยาวแล้ว กรุงเวียนนายังมีแผนพัฒนาเมืองระยะสั้น ปี 2025 ประกอบด้วย 1.Vienna setting the stage 2.Vienna building the future 3.Vienna reaching beyond its borders 4.Vienna networking the city กับสโลแกน "Living Vienna Working in Europe"
พร้อมกันนี้ยังกำหนดโซนพื้นที่พัฒนา แบ่งเป็นตัวเมือง และเขตชานเมือง
ตัวเมืองกันพื้นที่สร้าง New Main Railway Station ส่วนชานเมือง เช่น เมืองเอสเพน (Aspern) อยู่ห่างจากกรุงเวียนนา 15 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ 1,500 ไร่ แนวคิดในการพัฒนา Transit Orientated Development (TOD) ออกแบบพื้นที่การใช้สอยและระบบคมนาคม โดยเป้าหมายของโครงการพัฒนาให้เป็นเขตเมืองใหม่ รองรับประชากรได้มากกว่า 2 แสนคน มีแผนพัฒนารวมระยะเวลา 22 ปี ตั้งแต่ปี 2550- 2572 ให้เป็นทั้งที่อยู่อาศัย สำนักงานให้บริการทางธุรกิจ การศึกษา และวิจัย
รูปแบบการสร้างเมือง Aspern นี้ ใช้ที่ดินของรัฐ การลงทุนและการบริหารงานโดยรัฐร่วมกับเอกชนด้วยเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท มีจุดเด่นในการจัดสรรพื้นที่แบบ Mixed-use quarters ลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สนับสนุนให้มีการเดินทางโดยใช้รถสาธารณะ ทางเท้า และจักรยาน
นอกจากนี้ยังเน้นด้านคุณภาพชีวิต การมีส่วนร่วมทางสังคม และการจัดการชุมชนที่เน้นการมีส่วนร่วมและความเป็นมิตรในชุมชน
"หงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ" ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระหว่างไปศึกษาดูงานเมืองอัจฉริยะที่ประเทศออสเตรียว่า Aspern ถือเป็นโมเดล Smart City อีกแห่งหนึ่ง หน้าตาคล้ายๆ บางซื่อของไทย แต่ที่นี่สร้างเมืองโดยอาศัยระบบขนส่งสาธารณะในการดึงผู้คนเข้ามา และจัดพื้นที่แบบ Mixed-use แบ่งสัดส่วนพื้นที่สันทนาการ และพื้นที่สาธารณะ 50% ที่สำคัญ มีบริษัทเอกชน Siemens เป็นผู้นำพัฒนาด้านนวัตกรรมสร้างศูนย์ Smart City Research
สร้างเมืองใหม่
ที่มาภาพ:https://smartcity.wien.gv.at/site/en/aspern-smart-city-research/
'
คณะผู้บริหาร ปตท. นำสื่อมวลชนศึกษาดูงาน Smart City ณ ประเทศออสเตรีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต" ฉายภาพ ปตท.กับการออกแบบ New Business S-curve
ปตท.เล็งถอดโมเดล Grenoble เมืองอัจฉริยะ ฝรั่งเศส ปรับใช้ EECI ที่ระยอง
EECI-เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจ ปตท.คาดภายใน 5 ปีเกิดจุดสตาร์ท