นักการศึกษาชี้เด็กชนบท 3 ล้านถูกผลักออกนอกระบบ หวังครู กศน.เยียวยาด่วน
รบ.ยกสถานภาพครู กศน.เป็นพนักงานราชการ 8,672 คน นายกฯให้ 5 แนวทางเรียนรู้ตลอดชีวิต รมว.ศธ.เน้นความรู้ให้ชนบททันการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ-สังคม นักพัฒนาเตือนครูอย่าทิ้งจุดยืน "เช้าชามเย็นชาม"แบบราชการ
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดสัมมนา “กศน.ตำบล: ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตลอดชีวิต” โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กศน.ตำบล เป็นกลไกในการพัฒนาตนเอง ครอบครัวและชุมชนให้มีคุณภาพ เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการนำกรอบทิศทางปฏิรูปการศึกษาสู่การปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 31 ส.ค. อนุมัติให้ปรับสถานภาพครู กศน. เป็นพนักงานราชการจำนวน 8,672 คน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำหน้าที่มอบโอกาสทางการศึกษาแก่คนในทุกพื้นที่อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการพัฒนา กศน.ตำบลว่า 1.ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ทุกคนในชุมชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการศึกษาตลอดชีวิต 2. สร้างระบบเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้และสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมี ครู กศน.เป็นกลไกเชื่อมโยงเครือข่ายครอบคลุมทุกชุมชนทั่วประเทศ 3.ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ทั้งนี้ทุกปีงบประมาณจะต้องมีข้อเสนอจากชุมชนทำเป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชน โดย ครู กศน. ต้องเป็นผู้ประสานและอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการอย่างซื่อสัตย์สุจริต
4.สร้างชุมชนให้มีศักยภาพในการจัดการความรู้ เกิดชุมชนนักปฏิบัติในด้านต่างๆ อย่างจริงจังและจริงใจ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สร้างสรรค์กิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยครู กศน.ทุกคนต้องมีแผนการจัดการความรู้ของชุมชนในด้านต่างๆ ที่สามารถวัดและประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และ 5. ครู กศน. ทุกคนต้องศึกษาให้รู้จักชุมชนอย่างถ่องแท้ จัดสภาพแวดล้อมในชุมชนให้เสมือนเป็นห้องของสมาชิกทุกคน รู้จักใช้สถานการณ์ต่างๆมาเป็นเนื้อหาในการเรียนรู้ที่ก่อประโยชน์ต่อชุมชนและเสริมประสบการณ์เรียนรู้ตลอดชีวิต
“ชินวรณ์” มอบ 4 ภารกิจ พัฒนาคุณภาพการศึกษา กศน.ตำบล
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวว่า ศธ.มีนโยบายพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ กศน.ตำบล ตามแนวทางขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 มุ่งเน้นที่การพัฒนาบุคลากร ซึ่งการยกระดับครูเป็นพนักงานราชการจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างแรงจูงใจในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการต่อมาคือการเพิ่มพูนความรู้ให้ประชาชนในชนบททันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้ฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน
“ประการที่สามที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้อย่างทั่วถึงคือการทำให้เทคโนโลยีและสารสนเทศลงไปถึงฐานรากให้ได้ ตรงนี้ ศธ. กำลังเร่งจัดตั้งคอมพิวเตอร์ให้ได้อย่างน้อย กศน.ตำบลละ1 เครื่อง สุดท้ายคือการสร้างประชาธิปไตยและส่งเสริมความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับชุมชน”
นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากภารกิจหลัก 4 ประการข้าต้นแล้ว ในอนาคตยังต้องการให้เพิ่มแหล่งเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา โดยขณะนี้ ศธ.ได้เตรียมขอมติ ครม.ให้อนุมัติจัดตั้งศูนย์ดาราศาสตร์เพิ่มอีก 4 ศูนย์ เพื่อให้ชุมชนได้มีแหล่งเรียนรู้ใหม่โดยใช้ กศน.ตำบลเป็นเครือข่ายเชื่อมโยง
นายอภิชาต จิระวุฒิ เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า ครู กศน. มีภาระงานที่กว้างมาก อีกทั้งการศึกษาในระบบยังเบียดบังเรื่องงบประมาณการใช้จ่าย
ทั้งนี้ มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัด กศน.ตำบล แหล่งเรียนรู้ชุมชน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และกรมส่งเสริมการปกครอง โดย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า กศน.ตำบลเป็นโครงการที่สอดคล้องกับโครงการศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนอยู่แล้วจึงสามารถเชื่อมโยงและบูรณาการร่วมกันได้ โดยกระทรวงฯจะเข้าไปสนับสนุนสื่อและองค์ความรู้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านไอซีทีเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาและพัฒนาอาชีพของประชาชนในชุมชนต่อไป
สังคมหวัง กศน.ตำบล ไม่ตกเป็นเครื่องมือราชการ
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาเรื่อง “ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อครู กศน.” โดย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เด็กที่ถูกผลักจากการศึกษาในระบบออกมานอกระบบมีมากถึง 3 ล้านคน จุดนี้ย่อมส่งผลถึงภาระงานของ กศน.ตำบลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่เพียงแต่ต้องแบกรับด้านปริมาณ แต่ยังต้องเยียวยาที่เกิดจากความแตกต่างหลากหลายที่มาด้วย
“แต่ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งคือ กศน.ตำบล คือความใกล้ชิดชุมชน หากสามารถซื้อความรู้สึกและความต้องการของของเด็กเหล่านั้นได้ ครูก็คือผู้กุมหัวใจชุมชนได้ไม่ยาก"
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากภารกิจการเยียวยา ครู กศน.ควรทำงานด้านการพัฒนาในลักษณะฝังตัวให้แนบเนียนไปกับชุมชน แล้วหาอัตลักษณ์ตัวเองให้ได้ว่าจะให้ กศน.ตำบลของตนมีจุดเด่นเรื่องใด โดยใช้ฐานวิถีชีวิตที่มีเป็นกลไกขับเคลื่อน
นายวัลลภ ดั่งคณานุรักษ์ ประธานมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า ภารกิจของครู กศน.ตำบลนอกเหนือจากให้ความรู้แล้ว ยังต้องทำหน้าที่ในการฟื้นคนคืนสู่ชุมชน จึงจำเป็นต้องเข้าใจบริบทของชุมชน นำปัญหามาถก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และอยู่รอดได้ในสังคม กศน.จึงเป็นเหมือนเอ็นจีโอ ที่ต้องคิดแบบนอกระบบ ทำงานแบบราชการไม่ได้
“คนที่อยู่ในระบบเหมือนสามเหลี่ยมที่อยู่ในสี่เหลี่ยมอีกที คนที่หลุดออกจากสามเหลี่ยมเหล่านั้นคือลูกค้าของ กศน.ทั้งหมด ดังนั้นการทำงานของครู กศน.จึงต้องไม่อยู่เฉยๆ หรือเดินแบบทางเดียว ต้องรู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไรบ้าง เพราะเราไม่ใช่แค่คนเก็บตกทางความรู้ แต่มีบทบาทในฐานะสะพานที่เชื่อมต่อความรู้กับชุมชน”
นายนภดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาท้องถิ่นขาดโอกาสในการเรียนรู้ เนื่องจากระบบราชการไม่สนองต่อความต้องการของชุมชน หาก กศน.ตำบลเกิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้ชาวบ้าน ส่วนที่ต้องการเติมเต็มก็คือจะทำอย่างไรให้ทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต โดยไม่จำกัดเพศ วัย ซึ่งหน้าที่ตรงนี้ครู กศน. อาจต้องนำไปคิดเป็นโจทย์เพิ่มเติมว่าจะจัดกระบวนการอย่างไร.