เอ็นไอเอ ติวเข้ม 16 สตาร์ทอัพเกษตรก่อนประชัน Agtech Battle 2019
นางสาวมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (ABC center) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า คนมักเข้าใจว่า “สตาร์ทอัพ”หมายถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือนักศึกษา แต่ความจริงแล้ว สตาร์ทอัพ เป็นแนวทางทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ที่ทำซ้ำได้ สามารถขยายขนาด หรือมีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และสตาร์ทอัพเองต้องรู้ว่า สิ่งที่จะทำนั้นไปแก้ปัญหาอะไร เช่น สตาร์ทอัพเกษตร ล้วนมุ่งแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในเรื่องการเกษตรต่าง ๆ และอีกลักษณะหนึ่งของสตาร์ทอัพคือ เป็นคนมีไอเดียและสามารถนำไอเดียไปเสนอนักลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจต่อไปได้ หากนักลงทุนพิจารณาว่าไอเดียนั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาได้และมีโอกาสเติบโตได้ก็อาจเสนอการร่วมทุนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การเงินลงทุน ร่วมลงทุน หรือให้ไปทดลองทำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักมองว่าส ตาร์ทอัพส่วนใหญ่ 95% จะล้มหรือไปไม่รอด แต่ที่สำคัญคือเมื่อล้มแล้วต้องลุกให้เร็ว การลองทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องลุกให้ไวแล้วปรับธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์ที่ชัดเจน อย่างสตาร์ทอัพสายเกษตร ซึ่งมีความเสี่ยงสูงอยู่กับปัจจัยความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้า อากาศ แต่ก็มีสตาร์ทอัพที่สามารถสร้าง/ใช้เครื่องมือ/เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการเกษตร เพื่อควบคุมหรือลดข้อจำกัดในการทำเกษตรที่พัฒนาขึ้น
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยศูนย์ ABC center จึงทำโครงการ Agtech Battle ขึ้น หัวใจของโครงการนี้ ไม่ใช่แค่ประลองไอเดียแต่เป็นการสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพไปอีกขั้นสำหรับสตาร์ทอัพเกษตรที่พร้อมจะเติบโต เป็นสตาร์ทอัพที่ทำจริงมาระยะหนึ่งแล้วและพิสูจน์แล้วว่า ไอเดียนั้นสามารถทำจริงได้ ต้องการเสริมสร้างให้เติบโต สร้างตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสามารถที่จะหาแหล่งทุนหรือความร่วมมือในการลงทุนได้อย่างเข้าใจ พร้อมการทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ที่จะช่วยสนับสนุนกันในลักษณะ win-win โดยเปิดรับสตาร์ทอัพเกษตรที่เสนอไอเดียมาประชันกันใน 3 ประเด็นสำคัญด้านการเกษตรคือ 1. แนวทางในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร 2. แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. การหารูปแบบตลาดใหม่ ๆ
ผลการคัดเลือกรอบแรกได้สตาร์ทอัพเกษตรสายเกษตร 16 ทีม มาเข้าสู่กระบวนการเสริมศักยภาพด้วยกิจกรรมเวิร์คชอปเข้มข้น ทั้งความรู้ในการปรับรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและวิธีการในการร่วมมือกับภาคธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนตัวจริง และสิ่งสำคัญคือสามารถตีมูลค่าของบริษัทตัวเองเพื่อนำไปสู่การระดมทุนจากนักลงทุนได้ และยังเสริมด้วยบริการให้คำปรึกษาแบบ 1 ต่อ 1 เสริมจุดแข็ง ปรับจุดอ่อน ก่อนจะขึ้นสู่เวทีประชันไอเดีย AgTech Battle ในงาน STARTUP THAILAND 2019
สำหรับ 16 สตาร์ทเกษตรที่ผ่านรอบคัดเลือก ได้แก่ ทีม SOG Farming, Eden Agritech, Algaeba, Smart Farm Thailand , BioMatLink , Gaorai ,Farmbook ,Tevada Corp,Taladapp,MeZ, GetZTrac ,FARMTO, Nature Food Products And Marketing nature, Folkrice และทีม Green up โดยมี โมเดลธุรกิจที่น่าสนใจในการมาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเกษตรได้ ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่มากพอรองรับทั้งในประเทศและตลาดโลก อาทิ โมเดลธุรกิจที่นำ AI มาเรียนรู้ให้เกิดระบบโรงปลูกพืชที่เหมาะสมกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น สามารถปลูกพืชได้อย่างง่ายขึ้นเหมาะกับทุกคน อีกโมเดลที่น่าสนใจที่เป็นแพลตฟอร์มที่ประกอบด้วยเซนเซอร์ตรวจวัดพืชและสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก มาช่วยเหลือเกษตรกรในการทำไร่ทำนาที่ทราบการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ ทำให้ลดการสูญเสียและเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และการนำบล็อกเชนมาช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และความปลอดภัยของผลิตผลทางการเกษตร ตลอดจนโมเดลธุรกิจในการรักษาความสดของผลไม้ตกแต่งด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ ให้สามารถขยายระยะเวลาการขายสินค้าได้ยาวนานขึ้น
โดยรูปแบบธุรกิจของสตาร์ทอัพนี้สามารถตอบโจทย์การเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเมื่อเพิ่มศักยภาพในโครงการ AgTech Battlle ให้มีความพร้อมด้านรูปแบบธุรกิจที่ชัดเจนและแผนการเงินเพื่อนำมาเสนอและเจรจากับนักลงทุน ให้เกิดความพร้อมต่อการระดมทุนได้อย่างตรงความต้องการและขยายธุรกิจตามเป้าหมาย