นักนิเทศศาสตร์ ชี้ไทยยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลข่าวลวง
ผศ.พิจิตรา ระบุแพลทฟอร์มใหญ่ระดับนานาชาติ มีเครื่องมือจัดการข้อมูลที่ไม่เหมาะสม Facebook มี FB fact checking program ,community standard policy, Google มี Google news Initiative แม้กระทั่งไลน์ในไต้หวันมี Co-fact checking ส่วนอียูถึงขั้นตั้งผู้เชี่ยวชาญมาดูแลโดยเฉพาะ หันมาดูที่ไทยยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลข่าวลวงอย่างจริงจัง
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบัน Change Fusion, ASEAN Digital Policy Governance Center และ Center for Humanitarian Dialogue จัดงานเสวนานักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum #2 แพลทฟอร์มสื่อดิจิทัลกับการรับมือข่าวลวง ความเกลียดชังและด้านมืดในโลกออนไลน์ What Digital Platforms should do in handling Fake News, Hate Speech & Dark Side of Online World? ณ ชั้น 2 ห้องประชุม 201 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.กล่าวว่า ปัญหาสื่อปัจจุบันคือ การจัดการกับข่าวลวง (Fake News) จากกรณีศึกษาของต่างประเทศ เช่น ประเทศไต้หวัน จะเป็นประโยชน์ในการออกแบบกลไกและเครื่องมือที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย
ศาสตราจารย์ อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งศูนย์นโยบายดิจิทัลอาเซียน กล่าวว่า ด้านมืดของโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบ ไม่เฉพาะประเทศหนึ่งประเทศใด ดังนั้นการเท่าทันของผู้รับข่าวสารจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องมีการการกำกับดูแลทีดีในเชิงนโยบาย
“ปัจจุบัน ข่าวลวง ข่าวปลอม (Fake News) มีอยู่มากและกระจายอย่างกว้างขวาง ที่ผ่านมาแม้จะมีมาตรการกำกับแต่ปัญหาคือ คนไม่ไว้วางใจ หน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแลว่าตัดสินใจด้วยฐานความคิดว่าเพื่อประโยชน์ความมั่นคงและมั่งคั่งของใคร จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันติดตามและตรวจสอบการทำงานของหน่วยกำกับฯเหล่านี้”
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีคนเข้าไปใช้แพลทฟอร์ม นั้นๆเพิ่มขึ้นเจ้าของพื้นที่ก็จะขยายประเภทธุรกิจไปมากกว่าการเป็นพื้นที่สื่อสาร คนใช้สื่อออนไลน์มีทั้งแบบที่เป็นข้อมูลการสนทนาส่วนตัวเฉพาะกลุ่มและเปิดเผยต่อสาธารณะหรือติดตามข่าวสารและความบันเทิง ข่าวลวงหรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเหล่านี้ก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วยทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางและต้องมีการกำกับดูแล
ผศ.พิจิตรา กล่าวว่า ส่วนตัวอยากจะใช้คำว่า information disorder มากกว่า fake news เพราะข่าวนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริง ผิดไม่ได้ ส่วนข้อมูลลวงนั้นมีหลายระดับ ส่วนที่จะเป็นปัญหามากคือ ข้อมูลที่จะทำให้เกิดอันตราย (harmful)
“งานวิจัยพบว่าข้อมูลลวงนั้นมักจะมาจากแหล่งข้อมูลหรือเวปไซต์เล็กๆ ที่คนไม่รู้จักมากนัก ไม่ได้เป็นสื่อกระแสหลักจึงเกิดคำถามในเชิงการบริหารจัดการว่า จำเป็นเร่งด่วนแค่ไหนในการจัดการข้อมูลเหล่านี้ ในต่างประเทศจะเลือกจัดการข้อมูลที่เสี่ยงจะทำให้เกิดอันตรายหรือส่งผลกระทบด้านลบต่อสังคมก่อน”
ผศ.พิจิตรา กล่าวถึงแพลทฟอร์มใหญ่ระดับนานาชาติ มีเครื่องมือเพื่อดำเนินการกับข้อมูลที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้อยู่บ้างแล้ว อาทิ Facebook มี FB fact checking program ,community standard policy และเครื่องมือเพื่อสืบค้นจัดการกับข่าวลวง เอาออกจากพื้นที่ ลดความถี่การมองเห็นและการแจ้งเตือน Google มี Google news Initiative หรือ LINE มี digital literacy program, หรือไลน์ในไต้หวันมี Co-fact checking ส่วนในสหภาพยุโรป มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญมาดูแลโดยเฉพาะโฆษณา ต้องแสดงความโปร่งใสว่า ใครอยู่เบื้องหลังเนื้อหา ใครเป็นคนจ่ายเงินโปรโมทข้อมูล แต่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลข่าวลวงนี้อย่างจริงจัง สิ่งที่ต้องทำให้เกิดคือให้ประชาชนมีความเข้มแข็งและเท่าทันข่าวสาร รวมทั้งต้องส่งเสริมงานศึกษาวิจัยเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย
ด้าน นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion กล่าวว่า เคยมีงานวิจัยพบว่า คนที่เคยได้รับข้อมูลลวง แม้จะมีข่าวสารที่ถูกต้องมายืนยันอีกครั้งแต่ก็มีแนวโน้มที่อาจลังเลหรือไม่เชื่อข้อมูลจริง ดังนั้นหากคนที่ได้รับข่าวสารใช้เวลาชะลอช้าลงก่อนกดแชร์ส่งต่อ แม้แค่ครึ่งนาทีก็จะมีผลอย่างมากเพื่อให้คิดได้รอบด้านขึ้น
“ข่าวลวงนั้นมีวงจรชีวิตสั้นยาว ต่างกัน ในต่างประเทศมีเครื่องมือหลายแบบที่จะช่วยกรองได้ เช่น chat bot ในไต้หวัน การมีเครือข่าย Fact checking หรือใช้เกมเพื่อให้เด็กในโรงเรียนได้เล่น เป็นต้น”
ในเมื่อข่าวลวงเป็นไวรัส ทางสังคมที่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการระบาดทางความคิด นายสุนิตย์ กล่าวว่า ในสหรัฐและอังกฤษมีงานวิจัยพบว่า ข่าวลวงนี้ แพร่กระจายได้ลึก กว้างและเร็วกว่าข่าวปกติ ซึ่งจะทำให้ภูมิต้านทานของผู้รับข่าวสารลดต่ำลง มีแนวโน้มจะเชื่อข้อมูลที่ได้รับง่ายโดยไม่ตรวจสอบ แม้จะมีเครื่องมือ fact checking แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น หลายครั้งที่ส่งรายงานปัญหาแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองกลับมา ดังนั้น ภาคประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาด้วย ส่วนทางแก้ก็ต้องเอาคนในสังคมมาช่วยป้องกัน กลั่นกรอง และทำให้เกิดการเท่าทัน ทั้งผู้บริโภคและภาครัฐต้องร่วมมือกัน ประเด็นสำคัญคือ จะเชื่อใจหน่วยงานที่ทำหน้าที่ check fact อย่างไรว่าจะไม่ถูกแอบอ้างหรือโฆษณาชวนเชื่อ
ส่วนนางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ตั้งข้อสังเกต นิยามและให้หมายของข้อมูลที่เป็นอันตราย (harmful) อย่างไร ในมิติใด เพราะเนื้อหาที่อันตรายและมีความรุนแรงไม่ได้เกิดในชั่วข้ามคืนแต่ใช้เวลาฝังรากลึกจนเป็นส่วนหนึ่งของความคิด ความเชื่อ เช่น อคติต่อแรงงานข้ามชาติ การดูถูกชนกลุ่มน้อย ดังนั้น นอกจากจะเท่าทันข่าวสาร เท่าทันเทคโนโลยีแล้วยังต้องระวังเรื่องอคติและต้องเท่าทันตัวเองด้วย เพราะหลายครั้งเมื่อเห็นข้อมูล คนส่วนใหญ่จะมีอารมณ์นำมาก่อนการใช้เหตุผลหรือคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ด้วย มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีความสัมพันธ์ในกลุ่ม ต้องแสดงออกเพื่อให้ตัวเองไม่ถูกกีดกันออก หรือเป็นมารยาท
อาจารย์มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามถึงความย้อนแย้งของมาตรการที่เจ้าของแพลทฟอร์มต้องการใช้เครื่องมือเพื่อจัดการข่าวลวง ในขณะที่ขั้นตอนแรกเพื่อให้มีบัญชีในแพลทฟอร์มเหล่านั้นกลับไม่ได้ใช้การตรวจสอบที่เข้มข้นแต่แรก ว่าหลักการคือ กว่าจะมีบัญชีผู้ใช้ (Account)สักหนึ่งบัญชี จำเป็นต้องการแค่ชื่อ อีเมลของผู้ใช้ ไม่ได้ต้องการข้อมูลอื่นมากกว่านั้น ทำให้มีแอคเคาท์ได้ง่ายเพราะต้องการให้มียอดสมาชิกและผู้ใช้มากๆ กว้างขวาง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าเจ้าของแพลตฟอร์มต้องการจัดการข่าวลวงจริงหรือไม่ ในอีกด้านหนึ่ง ข้อดีของข่าวลวงคือการทำให้ข่าวจริงหรือบทบาทของสื่อมวลชนมีตัวตนมากยิ่งขึ้น
นายธีรมล บัวงาม สำนักข่าวประชาธรรม กล่าวถึงข่าวลวงมีปัญหาหลายมิติ ทั้งในด้านช่องว่างของความรู้ การใช้ภาษา ปัญหาเชิงวัฒนธรรมด้วย และการศึกษาพฤติกรรมของคนในสังคมออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วยังมีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ทำให้การตรวจสอบและจัดการข่าวลวงยากขึ้นตามไปด้วย
ส่วนนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์นโยบายดิจิทัลอาเซียน กล่าวว่า เจ้าของแพลตฟอร์มหลักใหญ่ๆ ในประเทศไทยไทยยังไม่มีการรวมตัวเพื่อวางมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน จริงจัง ดังนั้นอาจต้องใช้พลังทางสังคมเพื่อกดดันให้องค์กรเหล่านี้ได้แสดงความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมกำกับดูแล เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภคด้วยเห็นว่าความท้าทายคือการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดดุลระหว่างการป้องกันสิทธิส่วนบุคคลและประโยชน์ของผู้บริโภคส่วนรวม ทำให้เกิดกลไกการตรวจสอบที่ดีมีประสิทธิภาพ
ช่วงการเสวนาเรื่อง “สังคมควรใช้เทคโนโลยีสู้กับข่าวลวง ความเกลียดชังและด้านมืดยุคดิจิทัลอย่างไร” โดยผู้ร่วมวงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ นายสุชัย เจริญมุขยนันท มูลนิธิสื่อสร้างสุข ทีวีชุมชนอุบลราชธานี นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น จังหวัดภูเก็ต นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายวิชาญ อุ่นอก สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ โดยบทสรุปจากวงเสวนาที่เห็นตรงกัน คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเพื่อจัดการข่าวลวง ข่าวปลอม ด้านมืดของสื่อออนไลน์ ซึ่งเจ้าของแพลทฟอล์มเหล่านี้ยังไม่มีการกำกับที่เข้มงวดจริงจังเหมือนในต่างประเทศ จึงเห็นความสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดกลไกดังกล่าว อีกทั้งจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้เท่าทันและช่วยกันเฝ้าระวัง