11 นโยบาย รัฐบาลประยุทธ์ 2 ควรสานต่อ
รัฐบาลประยุทธ์ 1 มีการใช้อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งสามารถดำเนินนโยบายได้มากมาย และอยู่ยาวกว่า 5 ปี มีความต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ การจะเปลี่ยนไปเป็นรัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงมีความท้าทายในเรื่องของขอบเขตการใช้อำนาจ ความต่อเนื่องจะอยู่ยาวขนาดไหน
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านั้นช่วงบ่ายวันเดียวกัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดแถลงข่าว "ประเมินผลงาน ปฏิรูป 5 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1): ติดตามความคืบหน้าแก้ปัญหาประเทศ" ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ (อ่านประกอบ:TDRI ประเมินผลงาน ปฏิรูป 5 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1): ติดตามความคืบหน้าแก้ปัญหาประเทศ)
การแถลงข่าว มีบางช่วงบางตอนมีข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ ซึ่งดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ก็ได้เน้นย้ำถึงเนื้อหาและสาระสำคัญการประเมินผลงานรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในครั้งนี้ว่า ไม่มีการให้คะแนนสอบได้หรือสอบตก เพราะทีดีอาร์ไอ อยากนำเสนอการประเมินผลงานรัฐบาล โดยวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ และเพื่อให้รัฐบาลใหม่สามารถเอาปัญหาต่างๆ ของประเทศแก้ไขต่อไป
ประธานทีดีอาร์ไอ วิพากษ์รัฐบาลประยุทธ์ 1 มีการใช้อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งสามารถดำเนินนโยบายได้มากมาย อยู่ยาวกว่า 5 ปี มีความต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ ฉะนั้น การจะเปลี่ยนไปเป็นรัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงมีความท้าทายในเรื่องของขอบเขตการใช้อำนาจ และเรื่องความต่อเนื่องว่า จะอยู่ยาวขนาดไหน "ฐานที่มาที่มีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น มากกว่าการรัฐประหาร อย่างน้อยก็มีการเลือกตั้ง"
ดร. สมเกียรติ มองถึงความชอบธรรมรัฐบาลประยุทธ์ 2 ว่า ดีขึ้น เพราะมีพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามา และการไม่ได้อยู่ในบรรยากาศการใช้มาตรา 44 อีกต่อไป พร้อมกับเชื่อว่า หากรัฐบาลใหม่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วม จะสามารถขับเคลื่อนเรื่องที่ดูเหมือนยากให้เดินหน้าต่อไปได้
"นโยบายหรือผลงานที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างโดดเด่นของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC),การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง และการปลดล็อค ธงแดง ICAO และเรื่องประมง IUU รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะเดียวกันก็มีนโยบายที่เป็นปัญหา ทั้งเรื่องการทุจริตที่ผ่านคนใกล้ตัวผู้นำรัฐบาล โดยไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลโปร่งใสเพียงพอ,การเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ ใช้ม.44 อุ้มบริษัทมือถือ และทีวีดิจิทัล และการออกกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ฯ"
สำหรับการประเมินผลงานรัฐบาลประยุทธ์ 1 ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คณะผู้ประเมินจากทีดีอาร์ไอ ให้ความสำคัญกับ "ผลงานหลัก" (Flagship) ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประเมินผลงานนี้มุ่งหวังเพื่อเสนอรัฐบาลใหม่ รัฐสภา พรรคการเมือง องค์กรต่างๆ และประชาชนในการสนับสนุนในการสานต่อนโยบายที่เห็นว่า เป็นประโยชน์กับประเทศ ริเริ่มนโยบายที่สมควรทำ แต่ยังไม่ได้ทำ และยกเลิกนโยบายที่ดำเนินการอยู่ที่ก่อให้เกิดปัญหา
@ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• สานต่อเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยยกระดับการพัฒนากำลังคนคุณภาพสูงจากการร่วมมือกับภาคเอกชน และผลักดันให้สถาบันวิจัยของรัฐและมหาวิทยาลัยร่วมงานกับภาคเอกชน
• เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส และปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับชุมชน เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน และทำให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
• จัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในเขตพัฒนาพิเศษ เพื่อทำให้การวางแผน การกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง
• ขยายผลบทเรียนในการบริหารจัดการที่ดีในการปรับปรุงกฎระเบียบ และการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไปใช้ในพื้นที่อื่น ในลักษณะกระจายอำนาจ
@ นโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
รัฐบาลใหม่ควรเร่งดำเนินการดังต่อไปนี้
• ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย กสทช. โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการสรรหา กสทช. ชุดใหม่
• เร่งรัดให้เกิด “บริการรัฐบาลดิจิทัล” ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยใช้กลไกของ พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562
• เร่งรัดให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลของรัฐตามมาตรฐาน “ข้อมูลแบบเปิด” (Open Data) เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวได้
• ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างมีเอกภาพ โดยมุ่งลดปัญหาจากกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ โดยร่วมมือกับหน่วยงานในภาคเอกชนที่เข้าใจปัญหา
• ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
@ การพัฒนาภาคเกษตรกรรมและประมง
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการพัฒนาสาขาเกษตรในระยะยาวดังต่อไปนี้
• จัดให้มีการวิจัยที่อิงความต้องการของตลาด โดยเน้นการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง และช่วยเกษตรกรปรับตัวรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง เป้าหมายและออกค่าใช้จ่ายบางส่วน
• ปรับบทบาทของรัฐจากผู้ดำเนินการส่งเสริมเอง มาเป็นผู้สนับสนุนทุนและทรัพยากรในการส่งเสริมการเกษตรของภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน มหาวิทยาลัยและกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มผลิตภาพ และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เกษตรกรและระบบการผลิตที่แตกต่างกัน
• ปรับโครงสร้างภาคเกษตรให้มีความสามารถในการแข่งขัน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรลงทุนปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในระยะยาว ทั้งการเปลี่ยนชนิดพืช เทคโนโลยี ลงทุนปรับปรุงที่ดินเพื่อทำเกษตรมูลค่าเพิ่มสูง หรือเกษตรแปลงใหญ่ โดยให้เกษตรกรผู้เช่าและเจ้าของที่ดินร่วมกันลงทุนระยะยาวในรูปนิติบุคคลหรือในระบบพันธะสัญญา เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน โดยรัฐบาลสนับสนุนด้านความรู้และการเงิน และขจัดอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ เช่น กฎหมายเช่าที่ดินเกษตรและกฎหมายบังคับคดี ซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินเพื่อลงทุนการเกษตรอยู่ในระดับสูง
@ การปฏิรูปการศึกษา
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• เพิ่มทรัพยากรให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ให้สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้มากขึ้น
• สนับสนุนการจัดการการศึกษารูปแบบใหม่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 พื้นที่ซึ่งดำเนินการไปแล้ว โดยออกกฎระเบียบระดับรองเพื่อลดอุปสรรคในการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา กระตุ้นให้หน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐในพื้นที่ให้การสนับสนุน และส่งเสริมการประเมินผลการดำเนินงานบนฐานของข้อมูลจริง
• ทบทวนคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ทำให้เกิดปัญหา โดยเปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำเสนอข้อคิดเห็น และร่วมออกแบบระบบใหม่
• เพิ่มการพัฒนาทักษะผู้อำนวยการโรงเรียนให้สามารถเป็น “ผู้นำวิชาการ” ที่ทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครู (PLC) ได้จริง และเพิ่มช่องทางในการจัดสรรเงินงบประมาณการพัฒนาครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งจะทำให้ครูไม่ต้องออกนอกพื้นที่และสามารถร่วมพัฒนาโรงเรียนไปในทิศทางเดียวกันได้
• ลดภาระจากการประเมิน โดยลดจำนวนโครงการต่างๆ ที่สร้างภาระการประเมินให้แก่ครูเพื่อคืนครูสู่ห้องเรียนเพิ่มขึ้น โดยสำรวจโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่และบูรณาการโครงการที่มีเป้าหมายคล้ายคลึงกันเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะโครงการด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่ซ้ำซ้อนกันจำนวนมาก
@ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการกำกับดูแล
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• เร่งสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐ เช่น ออกกฎหมายการประกอบกิจการขนส่งทางราง และพัฒนาเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้สามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลได้อย่างเต็มรูปแบบ
• กำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะในระดับเดียวกันกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
• หาพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ให้มาร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
• ปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ให้มีความโปร่งใส และได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
• ปรับปรุงข้อเสนอ “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” โดยลดจุดอ่อนต่างๆ ที่มีอยู่ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในระยะยาว
@ การคมนาคม
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• วางกลไกให้ระบบรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางต่างๆ สามารถใช้งานร่วมกันได้ เพื่อสร้างการประหยัดจากขนาด และเพิ่มประสิทธิภาพของบริการ
• วางกลไกบริหารจัดการสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาค่าโดยสารที่จะมีราคาแพงในอนาคต
• จัดระเบียบรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตลอดจนเปิดเสรีบริการการใช้แอพพลิเคชั่นเรียกรถรับจ้างสาธารณะ ควบคู่ไปกับการปรับอัตราค่าโดยสารขั้นต่ำของรถแท็กซี่
@ การแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• สานต่อโครงการสร้างมาตรฐานความโปร่งใสในระดับสากลทั้ง 4 โครงการ ซึ่งเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดคอร์รัปชัน
• เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและสัมปทานต่างๆ อย่างโปร่งใส
• ปราบปรามคอร์รัปชันอย่างเข้มงวด ไม่ละเว้นแม้ในกรณีที่เกิดคอร์รัปชันกับคนใกล้ชิดผู้นำรัฐบาล
@สวัสดิการสังคมและการลดความเหลื่อมล้ำ
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• พัฒนาโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ต่อเนื่องไป โดยปรับปรุงรายละเอียดของโครงการตามผลการประเมิน ซึ่งควรดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกัน ควรใช้สวัสดิการแบบถ้วนหน้าสำหรับสวัสดิการที่สำคัญและมีผลตอบแทนในการลงทุนสูงเช่น สวัสดิการเด็กปฐมวัย
• เร่งเตรียมความพร้อมของแรงงานกลุ่มเสี่ยง ทั้งการพัฒนาระบบเพื่อสร้างทักษะที่เหมาะสมกับประชากรกลุ่มเสี่ยง และเตรียมสร้างตาข่ายสังคม (Safety Net) เพื่อรองรับแรงงานที่ตกงานจากการตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
@ การคุ้มครองแรงงาน
รัฐบาลใหม่ควรมุ่งเน้นคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ทั้งในด้านอัตราค่าจ้าง สวัสดิการและชั่วโมงทำงาน โดยพิจารณาออกกฎหมายขึ้นมาเป็นการเฉพาะ
@ นโยบายด้านการรักษาพยาบาล
สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการคือ หาทางแก้ปัญหาพื้นฐานโดยควรดำเนินการดังต่อไปนี้
• จัดให้มีการศึกษาวิจัยด้านระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง เนื่องจากการขาดฉันทามติในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และระบบสาธารณสุขในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันมาก การแก้ไขปัญหาต่างๆ จึงต้องมีพื้นฐานความรู้เชิงระบบ ข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติ จึงจะสามารถนำไปสู่การสร้างฉันทามติได้ และทำให้การปฏิรูปไม่สร้างให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาแทน
• ศึกษาผลกระทบของ Medical Tourism อย่างรอบด้าน เพราะแม้จะสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ก็มีผลกระทบต่อส่วนอื่น เช่น ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ และค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในภาพรวม
• ในกรณีที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้มีการร่วมจ่าย (Copayment) การมีราคามาตรฐานก็จะมีความจำเป็นมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข
@ การจัดระบบทรัพยากรธรรมชาติและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังนี้
• พัฒนาภาษีการพัฒนาพื้นที่ (Land Betterment Tax) แทนการเก็บภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะจากการซื้อขายที่ดิน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม บนพื้นฐานของการประเมินมูลค่าที่ดินและการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำที่เหมาะสมของสิ่งปลูกสร้าง
• ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ยกเลิกการห้ามใช้กฎหมายเลื่อยโซ่ยนต์ (ปี 2545) ซึ่งเป็นอุปสรรคในการจัดการป่าไม้และสวนป่าเศรษฐกิจ และสนันสนุนให้สามารถขนย้ายไม้และส่งออกไม้ได้อย่างเสรี
• ปรับภาษีประจำปีของรถยนต์ให้สะท้อนการปล่อยมลพิษ และปรับภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้สะท้อนปริมาณมลพิษของน้ำมันแต่ละประเภท ตลอดจนยกระดับมาตรฐานน้ำมันจาก Euro 4 เป็น Euro 5 เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากภาคขนส่ง และศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันจากภาคเกษตร
• สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์โฟมตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 และนำมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกมาใช้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้ถุงประเภทที่ใช้ซ้ำได้มากขึ้น
• ปรับรูปแบบในการเก็บค่าขยะจากแบบเหมาจ่ายรายเดือนเป็นการเก็บค่าขยะตามปริมาณขยะที่ทิ้ง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการคัดแยกขยะที่ต้นทางมากขึ้น
• ให้การอุดหนุนการนำขยะหรือเศษวัสดุทางการเกษตรมาผลิตพลังงานชีวมวล เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษ