โชว์ภาพชุด! ผลสอบ สตง. การบังคับใช้กม.ควบคุมอาคาร เทศบาล-อบต. ฝ่าฝืนไม่ขอนุญาตเพียบ
"...จากการสังเกตการณ์อาคารในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบจำนวน 139 แห่ง ประกอบด้วยโรงแรม (77 แห่ง) หอพัก ห้องเช่า อาคารชุด โรงมหรสพ และสถานบริการ 3 แห่ง พบว่าอาคารส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัยจากอัคคีภัยตาม กฎกระทรวงที่กำหนด โดยมีสภาพปัญหาความไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ (1) ไม่มีป้ายผังบริเวณ จำนวน 115 แห่ง (2)ไม่มีป้ายทางหนีไฟ จำนวน 106แห่งและ (3) ไม่มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ จำนวน 93 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.73 , 76.26 และ 66.91 ของอาคารที่สุ่มตรวจสอบ..."
การบังคับใช้กฎหมายควบคมอาคารในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ กำลังถูกจับตามอง!
เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีปัญหาการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารหรือป้ายไม่เป็นไปตามกฎหมาย พร้อมแจ้งเรื่องให้มีการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานพร้อมสอบยันสถานภาพการดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารกับฝายนิติการ เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องตรงกัน และเป็นปัจจุบันด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้เผยแพร่รายงานตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายควบคมอาคารในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ
ระบุว่า จากสุ่มตรวจสอบข้อมูลในช่วงปี พ.ศ. 2551-2560 พบว่า มีปัญหาการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก และพบว่ายังมีเจ้าของอาคารทั้งสิ้นจำนวน 37 อาคาร ที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร
กล่าวคือ มีการก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ขออนุญาต ดังภาพที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีการก่อสร้างสวนน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่น พ.ศ. 2558 หรือก่อสร้างผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ส่วนกรณีในภาพที่ 2 ปรากฎข้อมูลการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ค.ส.ล. 1ชั้น 5 หลัง แต่ได้มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีก 2 หลังแบ่งเป็นอาคาร ค.ส.ล. 1ชั้น 1 หลัง และอาคาร ค.ส.ล. 2 ชั้น 1 หลัง รวมทั้งสิ้น 7 หลัง
ภาพที่ 1 กรณีการก่อสร้าง ดัดแปลง ต่อเติม อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
ภาพที่ 2 กรณีการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร ผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต
สตง.ระบุด้วยว่า จากการสังเกตการณ์อาคารในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า มีอาคารทั้งสิ้นจำนวน 21อาคาร ที่มีการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามที่แจ้งขออนุญาตกับเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเข้าข่ายเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 และยังมิได้ดำเนินการขอเปลี่ยนการใช้อาคารให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดกล่าวคือมีอาคารที่เปิดให้บริการโดยคิดค่าบริการเป็นรายวัน ซึ่งเข้าข่ายการประกอบธุรกิจโรงแรม โดยโรงแรมเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามกฎกระทรวงกำหนดอาคารประเภทควบคุมการใช้ พ.ศ. 2522และมีอาคารที่เปิดให้บริการเป็นสถานบริการซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. 2555 ข้อ 3 กำหนดให้อาคารสำหรับใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้
ตามมาตรา 32 (2) ดังภาพที่ 3 จากข้อมูลการขออนุญาตเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยรวม แต่จากการสังเกตการณ์มีการเปิดให้บริหารโดยคิดค่าบริการเป็นรายวันข้าข่ายการประกอบธุรกิจโรงแรม
ภาพที่ 3 กรณีอาคารที่มีการเปลี่ยนการใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
ขณะที่ จากการสังเกตการณ์อาคารในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบจำนวน 139 แห่ง ประกอบด้วยโรงแรม (77 แห่ง) หอพัก ห้องเช่า อาคารชุด โรงมหรสพ และสถานบริการ 3 แห่ง พบว่าอาคารส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัยจากอัคคีภัยตาม กฎกระทรวงที่กำหนด โดยมีสภาพปัญหาความไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ (1) ไม่มีป้ายผังบริเวณ จำนวน 115 แห่ง (2)ไม่มีป้ายทางหนีไฟ จำนวน 106แห่งและ (3) ไม่มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ จำนวน 93 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.73 , 76.26 และ 66.91 ของอาคารที่สุ่มตรวจสอบ (ทั้ง3ลำดับนี้ เป็นระบบและอุปกรณ์ความปลอดภัยจากอัคคีภัยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537)กำหนดให้อาคารต้องมีวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัย)
นอกจากนี้ อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปจำนวน 42 แห่ง โรงมหรสมจำนวน 3 แห่ง และสถานบริการจำนวน 4 แห่งรวมทั้งสิ้น 49 แห่ง ซึ่งกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับประตูหนีไฟ และบันไดหนีไฟไว้
แต่จากการสังเกตการณ์ปรากฏว่าอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ไม่มีประตูหนีไฟหรือมีแต่ไม่เป็นไป ตามที่กำหนดในกฎกระทรงจำนวน2 แห่งหรือคิดเป็นร้อยละ 4082 ของอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปทั้งหมดที่สุ่มตรวจสอบ
ส่วนเรื่องป้ายในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล จากการสุ่มตรวจสอบปรากฏว่า ยังมีป้ายโฆษณาซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายติดหรือตั้งโดยไม่ขออนุญาต ตามมาตรา 21แห่งพระราชปัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ดังภาพที่ 4 และ 5
ภาพที่ 4 ป้ายโฆษณาบนดินที่ติดตั้งโดยไม่ขออนุญาต
ภาพที่ 5 ป้ายโฆษณาบนอาคารที่ติดตั้ง โดยไม่ขออนุญาต
เบื้องต้น สตง. ระบุผลการตรวจสอบใน 3 ประเด็นหลัก คือ
1. ไม่มีการตรวจสอบเจ้าของอาคารและป้ายอย่างครบถ้วนให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
2. ไม่มีการสอบยันข้อมูลการใช้อาคารและการติดหรือตั้งป้ายของกองช่าง กับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย ของกองคลัง
3. ไม่มีการสอบยันข้อมูลสถานภาพการดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารกับฝ่ายนิติการสำนักปลัด
ดังนั้น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ สตง. จึงได้มีข้อเสนอแนะให้นายกเทศมนตรีหรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดให้มีแผนการตรวจสอบในแต่ละปีและดำเนินการตรวจสอบตามแผน หากพบการฝ่าฝืน/ไม่ปฏิบัติให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
2. กำหนดให้มีการสอบยันข้อมูลการใช้อาคารและการติดตั้งป้าย ของกองช่าง กับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย ของกองคลังหากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารหรือการติดหรือตั้งป้ายโดยไม่ขออนุญาตให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
3. กำหนดให้มีการสอบยันสถานภาพการดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารกับฝายนิติการ เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องตรงกัน และเป็นปัจจุบัน
----------
ทั้งหมดนี้ คือรายละเอียดผลการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายควบคมอาคารในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ ที่สตง.ตรวจสอบพบ ส่วนผลการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานเทศบาล และอบต. จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/