โรคหลอดเลือดสมอง ตีบ ตัน อันตรายกว่าที่คิด
โรคหลอดเลือดสมอง (Stoke) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคนี้เป็นภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ เพราะมีการอุดตันของหลอดเลือดที่จะนำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้สมองขาดเลือด อยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เซลล์สมองค่อย ๆ ตายลง โรงพยาบาลที่สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับผู้ป่วย
“โรงพยาบาลนครธน” เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่สามารถดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือที่ใช้ในการรักษา โดยมี “ศูนย์สมองและระบบประสาท” เป็นศูนย์แพทย์เฉพาะทางที่รองรับผู้ป่วยโรคทางสมองได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดย ผศ.นพ. ชัย กอบกิจสุขสกุล แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาร่วมรักษาระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า อาการที่บ่งบอกได้ว่าอาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง คือ อาการพูดไม่ชัดเฉียบพลัน อ่อนแรงที่แขนและขาหรือชาโดยมักจะเป็นครึ่งซีก มองเห็นภาพซ้อนหรือมองไม่เห็น ปวดศีรษะ วิงเวียน บ้านหมุน และทรงตัวไม่ดีอย่างฉับพลัน เมื่อพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการนี้ ควรรีบมาโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน เพราะอาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองได้
โรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ 1) หลอดเลือดสมองตีบตันหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง พบได้ประมาณ 70-85% เกิดจากลิ่มเลือดจากบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดแล้วไปอุดตันหลอดเลือดสมอง หรือลิ่มเลือดก่อตัวและขยายขึ้นจนไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้ 2) หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) ทำให้มีเลือดออกมาอยู่ในเนื้อสมอง (Intracerebral Hemorrhage) หรือเยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid Hemorrhage) พบประมาณ 15-30% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางรวมกับความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดมีความโป่งพองและแตก ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น เชื้อชาติและพันธุกรรม โดยผู้ชายจะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันได้มากกว่าผู้หญิง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันแก้ไขได้ ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเสี่ยงที่สามารถป้องกันและระวังแก้ไขได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคอ้วนและโรคเลือด เป็นต้น รวมถึงพฤติกรรมอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติดหรือยากระตุ้นบางชนิด ภาวะเครียด และการขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จากความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือบุคคลทั่วไป สามารถดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารที่มีรสจัดและมีคอเลสเตอรอลสูง และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ที่สำคัญควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากมีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง แพทย์จะทำการวินิจฉัยเบื้องต้น โดยสอบถามประวัติผู้ป่วยโดยละเอียดและตรวจร่างกาย โดยทำการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan brain) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI brain) จากนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการรักษาอย่างถูกต้องตรงถามอาการของโรค ซึ่งวิธีการรักษามีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่ การให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ การลากสวนลิ่มเลือดออกจากสมอง ซึ่งมักจะใช้รักษาอาการหลอดเลือดอุดตัน และ การผ่าตัด (Surgery) อาจเกิดขึ้นเมื่อมีอาการเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งการรักษาเหล่านี้ต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น รวมถึงโรงพยาบาลต้องมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่พร้อมรักษาโรคทางสมองโดยเฉพาะ
“โรงพยาบาลนครธนมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่สามารถรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาหลังมีอาการเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง ก็จะสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดก่อนได้เป็นอันดับแรก จากนั้นแพทย์จะดูว่าผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อการรักษาดีแค่ไหน หากอาการไม่ดีขึ้นก็จะพิจารณาว่าจำเป็นต้องเปิดหลอดเลือดหรือลากเอาลิ่มเลือดออก ซึ่งปัจจุบันมักจะใช้เป็นการใส่ตะแกรงหลอดเลือดเข้าไป แล้วลากเอาลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดสมอง เพื่อเป็นการเปิดทางให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้
อีกกรณีหนึ่งหากผู้ป่วยมารักษาในระยะเวลาที่เกินจะให้ยาละลายลิ่มเลือด และตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เครื่องสร้างภาพด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และพบว่ามีหลอดเลือดสมองอุดตันขนาดใหญ่ และยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถให้การรักษาโดยการใส่สายสวนเพื่อไปเอาลิ่มเลือดออกได้ก็จะรักษาด้วยวิธีนี้ทันที เนื่องจากมีข้อดีคือมีประสิทธิภาพในการเปิดหลอดเลือดอุดตันได้เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการให้ยาละลายลิ่มเลือดจะเปิดหลอดเลือดไม่ได้สูงเท่าการเอาลิ่มเลือดออกโดยตรง และการเปิดหลอดเลือดได้สำเร็จจะช่วยลดโอกาสในการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตของผู้ป่วยได้” ผศ.นพ. ชัย กล่าว
พฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาวะรอบตัวล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการของตนเอง รวมถึงคนรอบข้าง หากมีอาการดังกล่าว ควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วก็จะยิ่งลดความเสี่ยงในการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และการเสียชีวิตได้