หลักสูตร นยปส.รุ่น10 สัมมนาเรื่อง “กลยุทธ์การป้องกันการทุจริตบนฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
หลักสูตร นยปส. รุ่นที่ 10 จัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง “กลยุทธ์การป้องกันการทุจริตบนฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. จัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 10 นั้น ผู้เข้าอบรมมีความสนใจศึกษาและจัดทำเอกสารวิชาการรุ่น เรื่อง “กลยุทธ์การป้องกันการทุจริตบนฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 65 ได้บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว และได้มีการตรากฎหมายสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายกำหนดกรอบวิธีการ และให้มีการจัด
ทำยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศ คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ชาติที่จะใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาในระยะ 20 ปี ต่อจากนี้ไป
ผู้เข้าอบรมต้องการศึกษาเรื่อง กลยุทธ์การป้องกันการทุจริตบนฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) วิเคราะห์ความสอดคล้องของยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) และแผนรองรับระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริต 2) กำหนดกลยุทธ์การป้องกันการทุจริตบนฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ 3) ประเมินกลยุทธ์การป้องกันการทุจริตบนฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้เข้าอบรมหลักสูตร นยปส. รุ่นที่ 10 จึงเห็นความสำคัญของการกำหนดกลยุทธ์ การป้องกันการทุจริตบนฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะเสนอกลยุทธ์และแนวทางดำเนินการป้องกันการทุจริตตามแนวทางการพัฒนาเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต 5 แนวทาง ของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) เพื่อเสนอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามความเหมาะสมคือ
แนวทางการพัฒนาที่ 1 “ปลูกและปลุกจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดี มีวัฒนธรรมสุจริตและการปลูกฝัง และหล่อหลอมวัฒนธรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัย ทุกระดับ”
แนวทางการพัฒนาที่ 2 “ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความใสสะอาดปราศจากจากพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต”
แนวทางการพัฒนาที่ 3 “พัฒนาค่านิยมของนักการเมืองให้มีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการทำตน เป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม”
แนวทางการพัฒนาที่ 4 “ปรับระบบเพื่อลดจำนวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐ มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง”
แนวทางการพัฒนาที่ 5 “ปรับระบบงานและโครงสร้างองค์กรที่เอื้อต่อการลดการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงาน”
จากผลการศึกษาผู้เข้าอบรมหลักสูตร นยปส. รุ่นที่ 10 มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. รัฐบาลโดยสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำกลยุทธ์ที่ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน องค์กรอิสระ ไปจัดทำแนวทางดำเนินการ พร้อมทั้งกำหนดผู้รับผิดชอบหลัก แผนงาน โครงการ เป้าหมาย ตัวชี้วัด งบประมาณที่เหมาะสม พร้อมทั้งดำเนินการกำกับ ติดตาม และประเมินผล รวมถึงการปรับปรุงแผนงานโครงการอย่างเป็นระบบต่อไป
2. รัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกันจัดทำสื่อและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดฐานข้อมูลแหล่งต่าง ๆ ที่นำมาประเมินเป็นค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในการประพฤติปฏิบัติการตามหน้าที่ อาชีพ การงาน ด้วยความสุจริต โปร่งใส อันส่งผลต่อการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI
3. รัฐบาลกำหนดและมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐ ศึกษาแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ประเมินดัชนี การรับรู้การทุจริต CPI และวิเคราะห์กำหนดเป้าหมายของหน่วยงานภาครัฐ ในการเข้ามาร่วมรับผิดชอบผลักดัน
การยกระดับค่าคะแนนประเมินแหล่งข้อมูลย่อยแหล่งต่างๆ และจัดทำแนวทาง/มาตรการ/แผนงาน/โครงการรองรับ กำกับติดตามผลดำเนินการ และกำหนดตัวชี้วัดรอบระยะเวลาต่างๆ ที่ชัดเจน นำข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับดัชนี การรับรู้การทุจริต ไปพิจารณาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ พร้อมทั้งให้ความสำคัญและขับเคลื่อนประเทศไทย ให้ปราศจากทุจริต ด้วยการนำคะแนน CPI เป็นตัวชี้วัดด้านความโปร่งใสและการคอร์รัปชัน ในช่วงเวลาที่รัฐบาลบริหารประเทศ
4. การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการและความโปร่งใส ได้แก่ พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นต้น อย่างจริงจังต่อเนื่อง และการกำหนดบทลงโทษ ระบบการรายงานผลและติดตามการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานของรัฐ การประชาสัมพันธ์และช่องทางการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมติดตามและแจ้งเบาะแส
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “กลยุทธ์การป้องกันการทุจริตบนฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2562 เวลา 09.00 – 15.00 น. ณ ห้องนนทบุรี 1 ชั้น 3 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนนนทบุรี อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ภายในงานภาคเช้าประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงาน พลตรี เดชนิธิศ เหลืองงามขำ รองเจ้ากรมการเงินกลาโหม ประธาน นยปส. รุ่นที่ 10 กล่าวรายงาน จากนั้นมีการนำเสนอผลงาน และการวิพากษ์ผลงานทางวิชาการของผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรฯ เรื่อง “กลยุทธ์การป้องกันการทุจริตบนฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” โดย นายกร ทัพพะรังสี นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ศาสตราจารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร และผู้ดำเนินรายการคือ นางอรวรรณ กริ่มวิรัตน์กุล สำหรับช่วงบ่ายเป็นการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การป้องกันและปราบปรามการทุจริตบนฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ