“เคนยา” ศึกษาดูงานไทย เร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน 4 ปี
“เคนยา” รุกศึกษาดูงานประเทศไทย ยกเป็นต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งเป้า 4 ปีชาวเคนยามีหลักประกันสุขภาพดูแล ไทยพร้อมมอบองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ หนุนขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมาย ขณะที่นานาประเทศเตรียมเข้าดูงานไทยต่อเนื่อง ส่งไทยบทบาทเด่นสู่เวทีโลก
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประเทศไทยลงนามบันทึกความเข้าใจส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับสาธารณรัฐเคนยา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาคณะขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเคนยาได้เดินทางมาศึกษาการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย ที่มาในความร่วมมือนี้เป็นผลจากการประชุมสมัชชาสุขภาพโลก (The World Health Assembly Resolution) และการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลที่นาง ซิสิลี เค อาริอุคิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐเคนยาเข้าร่วมด้วยตนเอง และได้ประกาศใช้รูปแบบระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยเป็นต้นแบบการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเคนยา
เหตุผลที่เคนยาเร่งผลักดันเรื่องนี้ เนื่องจากการดูแลสุขภาพประชาชนเป็น 1 ใน 4 นโยบายหลักของรัฐบาลที่ นายอูฮูรุ เคนยัตตา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเคนยา ประกาศเดินหน้านอกจากการพัฒนาด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย และอุตสาหกรรม พร้อมตั้งเป้าหมายภายในอีก 4 ปีชาวเคนยาต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูแล ซึ่งปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 20 ของประชากรประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพรองรับ โดยเป็นคนทำงานและอยู่ในระบบประกันสังคม ทำให้ชาวนา ชาวไร่ และประชากรในกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังประสบปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพและล้มละลายจากค่ารักษา เพราะไม่มีสวัสดิการรัฐที่ช่วยเบ่งเบา ประกอบกับในเวทีสากลโดยองค์การอนามัยโลกได้ขับเคลื่อนให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก่อนปี พ.ศ.2573 (ค.ศ. 2030)
จากการลงนามดังกล่าวนำมาสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านต่างๆ กับประเทศไทยเพื่อเตรียมดำเนินการรองรับ ทั้งในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย การเงินการคลัง การพัฒนาบุคลากรและวางรากฐานการแพทย์ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วม โดยจุดเด่นของเคนยาคือประธานาธิบดีเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้ด้วยตนเอง แต่ละปีมีชาวเคนยาประสบภาวะล้มละลายจากค่ารักษาจำนวนมาก ขณะที่อัตราการเติบโตเศรษฐกิจค่อนข้างสูงถึงราว 5% ต่อปี ประชากรส่วนใหญ่ยังเป็นวัยแรงงาน จำนวนผู้สูงอายุมีไม่มากจึงเป็นโอกาส และด้วยเป็นประเทศกำลังพัฒนาจึงให้ไทยเป็นต้นแบบ
ทั้งนี้เบื้องต้นมีความแตกต่างในที่มาของงบประมาณเพราะเคนยาจะใช้วิธีจัดเก็บเงินกับประชาชนเพิ่มเติม โดยเราสะท้อนว่าเป็นสิ่งทำได้ยาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่มีบัญชีเงินเดือนไม่เหมือนประกันสังคม ของไทยจึงใช้งบประมาณภาครัฐที่มาจากภาษีแทน ขณะเดียวกันต้องปูพื้นฐานระบบปฐมภูมิให้เข้มแข็งและสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจะทำให้ประชาชนร้อยละ 80 ได้รับการดูแลเบื้องต้นก่อน เพราะไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลจะรองรับระบบไม่ไหว นอกจากนี้ยังต้องเตรียมความพร้อมการดูแลในส่วนผู้ให้บริการจากภาระงานที่เพิ่มขึ้น
นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันแล้ว การที่เคนยาใช้ไทยเป็นต้นแบบ เพราะรูปแบบการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน 3 ประเด็น คือ 1.ความครอบคลุมร้อยละ 99 ของประชากรผู้มีสิทธิ 2.ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ทั้งการักษา ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และ 3.ลดภาระค่ารักษาของประชาชน ขณะที่ภาระงบประมาณรัฐบาลต่อนโยบายนี้ไม่ได้สูงจนเกินไป โดยไทยยังมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ของจีดีพี ในจำนวนนี้เป็นงบในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพียงกว่าร้อยละ 1 เท่านั้น ขณะที่ผลลัพธ์ที่ได้มีความชัดเจนทั้งการลดอัตราการตายแม่และเด็ก รวมถึงการลดภาวะล้มละลายจากค่ารักษาของประชาชน ซึ่งสิ่งที่ไทยได้ทำและผลที่เกิดขึ้นได้ถูกเผยแพร่ออกไป แม้แต่ ศ.อมรรตยะ เสน (Amartya Kumar Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ยังได้เขียนบทความถึงไทยในเรื่องนี้ว่า เป็นเหมือนความฝันที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเราใช้เงินน้อยมาก แต่สามารถดูแลสุขภาพคนทั้งประเทศได้
"เราไม่ได้บอกว่าเคนยาต้องทำอะไร แต่ให้เรียนรู้จากไทยและนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้กลับไปคิดว่า ภายใต้บริบทประเทศเขาควรทำอย่างไร เน้นที่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จริงใจในการให้ข้อมูล เป็นความร่วมมือที่สร้างมิตรภาพระยะยาว ระบบที่เราทำนี้ไม่ได้ดีที่สุด ปัญหาต่างๆ ได้ถูกแก้ไขไปบางส่วนแล้ว ขณะเดียวกันเป็นโอกาสที่ไทยได้เรียนรู้จากเคนยาเช่นกัน ซึ่งเคนยามีการกระจายอำนาจที่ดี ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมาก หากเขากระตุ้นท้องถิ่นสนใจอาจขับเคลื่อนระบบได้เร็วและบรรลุเป้าหมายภายใน 4 ปีได้"
นพ.จเด็จ กล่าวว่า วันนี้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากเคนยาแล้วอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังทำเรื่องนี้ โดย นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้มีนโยบายให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับประชากรครึ่งประเทศหรือราว 700 คน เป็นการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ และในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้ คณะทำงานจากอินเดียประมาณ 70 คน เตรียมเดินทางมาศึกษาดูงานที่ไทยเช่นกัน โดยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก ขณะที่เดือนสิงหาคม 2562 กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency : TICA) ได้เชิญผู้แทนประเทศต่างๆ ที่สนใจร่วมเป็นคณะศึกษาดูงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประเทศไทย
การที่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยได้รับความสนใจจากนานาชาติสะท้อนว่า ระบบที่เราทำมาต่อเนื่องตลอด 17 ปีมีผลสำเร็จระดับหนึ่ง แม้ว่าบางส่วนจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยแรงกดดันต่างๆ ได้เบาบางลงจากการปรับปรุงและพัฒนา และสิ่งที่ท้าทายจากนี้คือการปกป้องระบบให้ยั่งยืน เหล่านี้ส่งผลให้ไทยโดดเด่นในเวทีโลก หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้กลายเป็นประเด็นขับเคลื่อนในเวทีสหประชาชาติ และจะมีการจัดประชุมผู้นำระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเดือนตุลาคม 2562 โดยกระทรวงต่างประเทศของไทยเป็นแกนนำ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนทำให้ไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ล่าสุดไทยได้รับการโหวตให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council : ECOSOC) วาระปี ค.ศ. 2020 – 2022 ในนามกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก หลังจากที่ได้ว่างเว้นการเป็นสมาชิกมาถึง 12 ปี นอกจากนี้เคนยายังของให้ไทยส่งทีมไปเพื่อช่วยขับเคลื่อน เป็นการไปในนามประเทศไทย จากแต่เดิมที่ส่วนใหญ่ไทยจะไปร่วมในนามองค์กรระหว่างประเทศ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งในบทบาทสำคัญของประเทศไทยในเวทีโลก