ตามเจาะ"ระเบิดเจาะเกราะ"...บึ้มอิรักสไตล์ระบาดถึงใต้แล้วหรือ?
เหตุคาร์บอมบ์ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อเช้าตรู่วันศุกร์ที่ 20 ก.ค.2555 เป็นข่าวใหญ่รับเดือนรอมฎอน และเป็นเหตุร้ายที่สื่อทุกแขนงให้ความสนใจ จนกลบข่าวคนร้ายลอบวางระเบิดรถหุ้มเกราะ "รีว่า" ที่ ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส มีทหารพรานได้รับบาดเจ็บ 7 นาย
ทั้งๆ ที่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คนร้ายพยายามก่อเหตุโจมตี "รถหุ้มเกราะ" และก็ทำได้จนเห็นผล คือรถหุ้มเกราะพลิกคว่ำ รถพังเสียหายบางส่วน กำลังพลในรถได้รับบาดเจ็บ
นอกจากนั้นในห้วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังมีเหตุลอบวางระเบิดที่พุ่งเป้าโจมตี "รถหุ้มเกราะ" อีก 2 ครั้ง คือ เมื่อวันอังคารที่ 3 ก.ค.คนร้ายใช้วิทยุสื่อสารจุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่ในถังแก๊สที่วางไว้บนถนนสายปาลอปาตะ ทางเข้านิมกือลอง ท้องที่บ้านกือลอง หมู่ 2 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา แรงระเบิดทำให้ "รถหุ้มเกราะรีว่า" ของทหารสังกัดกองร้อยทหารราบที่ 7021 (ร้อย ร.7021) หน่วยเฉพาะกิจยะลา 15 ได้รับความเสียหาย มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ 1 นาย คือ ส.อ.รณชัย สาพา อายุ 22 ปี
19 มิ.ย.คนร้ายจุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบไว้ในถังแก๊ส น้ำหนักหลายสิบกิโลกรัม ฝังไว้ใต้ผิวถนนสาย 4060 ศรีสาคร-รือเสาะ ท้องที่บ้านดุซงมาแจ หมู่ 2 ต.ซากอ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้ "รถเกราะวี 150" พังเสียหายทั้งคัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) ที่นั่งมารถเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บสาหัสอีก 2 นาย
เหตุรุนแรงทั้ง 3 ครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้พยายามโจมตีและสร้างความเสียหายกับ "รถหุ้มเกราะ" ที่ฝ่ายความมั่นคงนำลงไปใช้ลาดตระเวน เพื่อแก้เกมการถูกดักระเบิดบ่อยครั้งบนถนนสายชนบทซึ่งเมื่อก่อนใช้เพียงรถกระบะออกปฏิบัติการ ทำให้ต้องสูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนมาก
การเปลี่ยนให้กำลังพลใช้รถหุ้มเกราะ แม้จะลดความสูญเสียลงได้ไม่น้อย แต่ที่น่าหวั่นใจก็คือ กลุ่มคนร้ายยังไม่ละความพยายามที่จะดักโจมตี โดยวิธีการจัดการกับ "รถหุ้มเกราะ" ก็คือเพิ่มน้ำหนักดินระเบิดมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 5-10 กิโลกรัมในอดีต เป็น 20 กิโลกรัมขึ้นไปในปัจจุบัน บางจุดน้ำหนักระเบิดมากถึง 50 กิโลกรัมก็ยังมี
น้ำหนักระเบิดขนาดนี้ ทำให้รถเกราะ วี 150 ซึ่งใช้งานมาหลายปีแล้ว ไม่อาจต้านทานไหว พังเสียหายในระดับ "ยับเยิน" ไปหลายคัน และหลายครั้งที่ต้องสูญเสียกำลังพล ดังเช่นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่กำลังท้าทายยิ่งกว่า ก็คือการพยายามโจมตีรถหุ้มเกราะ "รีว่า" ซึ่งทนแรงระเบิดได้มากกว่ารถเกราะ วี 150 และกองทัพบกเพิ่งจัดซื้อเข้ามาประจำการที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่กี่ปีมานี้เอง
ประเด็นที่น่าตกใจก็คือ เหตุระเบิดเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งทำให้ "รถหุ้มเกราะรีว่า" ได้รับความเสียหาย และมีกำลังพลที่เป็นทหารได้รับบาดเจ็บ1 นายนั้น มีการพบชิ้นส่วนของ "ทองแดง" ในบาดแผลของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งขณะเกิดเหตุ เขาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในรถหุ้มเกราะ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า คนร้ายมีพัฒนาการใช้ "ระเบิดเจาะเกราะ" ที่มีส่วนผสมของทองแดง แบบเดียวกับที่นิยมใช้ในอิรักและบางประเทศในตะวันออกกลางหรือไม่?
ตามเจาะ "ระเบิดเจาะเกราะ"
เป็นที่ทราบกันดีว่า การใช้รถหุ้มเกราะในภารกิจลาดตระเวนในสมรภูมิสงครามนั้น ก็เพื่อรับมือกับวัตถุระเบิดที่คนร้ายมักลอบวางเอาไว้เพื่อโจมตีและสกัดการเคลื่อนกำลังพล
ยุทธวิธีการต่อสู้กับรถหุ้มเกราะโดยใช้ระเบิด มีอยู่ 2 อย่าง คือ
1.เพิ่มน้ำหนักดินระเบิดให้มากขึ้น เพื่อให้แรงอัดของระเบิดมากขึ้น แม้จะเจาะเกราะของรถหุ้มเกราะไม่ได้ แต่ก็ทำให้เกิดแรงกระแทกมหาศาล บางครั้งรถกระเด็นจากถนนไปไกลก่อนตกกระแทกพื้น ทำให้กำลังพลในรถได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
2.ใช้ "ระเบิดเจาะเกราะ" ที่มีส่วนผสมของทองแดง ก่อรูปคล้ายกระสุนขนาดใหญ่เพื่อให้มีประสิทธิภาพ "เจาะเกราะ" ของรถหุ้มเกราะได้
ยุทธวิธีแบบแรกนั้นใช้กันอยู่บ่อยครั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แบบที่ 2 ยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามีใช้แล้วในพื้นที่ แต่เมื่อมีการพบเศษทองแดงในร่างกายของทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ทำให้มีการตั้งคำถามว่า นี่คือ "ระเบิดเจาะเกราะ" หรือ EFP หรือไม่?
ระเบิดแบบ EFP หรือ Explosively Formed Penetrator เป็นระเบิดลักษณะพิเศษที่ประดิษฐ์ให้แรงอัดระเบิดเปลี่ยนรูปแผ่นเหล็กให้มีลักษณะคล้าย "หัวกระสุน" ที่มีความเร็วและแรง เพื่อให้เจาะทะลุเกราะของวัตถุเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถหุ้มเกราะ เทคนิคการทำระเบิดลักษณะนี้พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ใช้มากที่สุดในสงครามอิรัก เพื่อโจมตีรถหุ้มเกราะของทหารอเมริกัน
ลักษณะของระเบิดแบบ EFP หรือระเบิดเจาะเกราะ จะเป็นรูปทรงกระบอก มีดินระเบิดอัดอยู่ภายใน ด้านหนึ่งปิดผนึกเรียบๆ เพื่อเป็นฐานและต่อชนวนระเบิดเอาไว้ ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นแผ่นทองแดง เมื่อจุดชนวนระเบิด ดินระเบิดและความร้อนจะหลอมให้แผ่นทองแดงเปลี่ยนรูปเป็นเหมือนหัวกระสุนเพื่อเจาะเกราะบนพาหนะ เปิดช่องให้สะเก็ดระเบิดทะลุเข้าไปคร่าชีวิตกำลังพลด้านใน
บึ้ม"อิรักสไตล์"ระบาดใต้?
การพบเศษทองแดงในร่างกายของกำลังพลที่ถูกลอบวางระเบิด "รถหุ้มเกราะรีว่า" ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้หน่วยข่าวและหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) ต้องประชุมกันอย่างเคร่งเครียด เพื่อสรุปข้อมูลให้ได้ว่ามีการนำวิทยาการที่เคยใช้ในสงครามอิรักมาปรับใช้ที่ชายแดนใต้แล้วหรือไม่
เพราะหากใช่ก็เท่ากับเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการผลิตระเบิดแสวงเครื่องในพื้นที่ และนั่นย่อมหมายความว่าการใช้ "รถหุ้มเกราะ" ออกลาดตระเวนมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และไม่รับประกันความปลอดภัยอีกต่อไป
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยเก็บกู้ทำลายล้างวัตถุระเบิดในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เหตุระเบิดที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ซึ่งเป็นการโจมตีกำลังพลที่ใช้ "รถหุ้มเกราะรีว่า" เป็นพาหนะนั้น มีการพบเศษทองแดงในบาดแผลของทหารที่ได้รับบาดเจ็บจริง ส่วนเหตุระเบิดรถหุ้มเกราะวี 150 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ไม่พบเศษทองแดง แต่สาเหตุที่ระเบิดมีความรุนแรง เพราะคนร้ายใช้ถังแก๊สประกอบระเบิดถึง 2 ถัง
"เหตุระเบิดที่ อ.บันนังสตา เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ถือเป็นกรณีแรกที่เราพบว่าคนร้ายใช้ทองแดงเป็นส่วนผสมในการประกอบระเบิด แต่จากการวิเคราะห์เศษวัตถุระเบิดที่เก็บรวบรวมได้จากจุดเกิดเหตุ พบว่ายังคงเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่มีลักษณะและองค์ประกอบเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เพียงแต่ใช้ทองแดงเป็นส่วนผสมในการประกอบระเบิดด้วย เชื่อว่าผู้ประกอบน่าจะใช้ทองแดงเพื่อช่วยในเรื่องของการบังคับทิศทางระเบิดมากกว่า เพราะจุดที่คนร้ายวางระเบิดเอาไว้เป็นหน้าผา ไม่ได้เป็นระเบิดที่ฝังไว้ใต้ผิวถนนเหมือนครั้งอื่นๆ" แหล่งข่าวระดับสูงจากอีโอดี ระบุ
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นระเบิดแบบ EFP หรือระเบิดเจาะเกราะแบบที่นิยมใช้ในสงครามอิรักหรือไม่นั้น แหล่งข่าวบอกว่า ยังไม่แน่ชัดว่าใช่หรือไม่ เพราะรูปแบบของระเบิด EFP จะใช้แผ่นทองแดงมาประกอบระเบิด เมื่อจุดระเบิดแล้วแรงระเบิดจะดันแผ่นทองแดงพุ่งออกมาและเปลี่ยนรูปตามแรงระเบิดกลายเป็นหัวกระสุนพุ่งเข้าใส่เป้าหมาย ซึ่งสามารถทำลายรถหุ้มเกราะได้ แต่กรณีที่ อ.บันนังบสตา "รถหุ้มเกราะรีว่า" เสียหายเพียงเล็กน้อย และทองแดงที่พบก็เป็นเศษ ไม่ได้เป็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่เหมือนที่อิรัก จึงยังเชื่อว่ายังไม่มีการประกอบระเบิดแบบ EFP ในพื้นที่
มือต่อระเบิดใต้พยายามถอดแบบอิรัก
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากอีโอดีผู้นี้ ยังอธิบายอีกว่า เรื่องการพัฒนาการประกอบระเบิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คนร้ายพยายามพัฒนาให้เป็นระเบิดที่มีอานุภาพรุนแรงขึ้นจริง แต่ไม่ได้เป็นการไปเรียนรู้จากกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มต่อต้านกองทัพสหรัฐในอิรักโดยตรง อาจจะเรียนรู้หรือลอกแบบมาจากข้อมูลที่ค้นได้ทางอินเทอร์เน็ต หรือดูจากในเว็บไซต์ยูทิวบ์ (www.youtube.com) แล้วมาประยุกต์ใช้ในการประกอบระเบิดเพื่อพุ่งเป้าทำลายเจ้าหน้าที่ โดยหวังว่าระเบิดจะรุนแรงได้อย่างในอิรัก
"เรื่องแบบนี้ทางเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดเองก็ประเมินกันเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องมีรูปแบบระเบิดใหม่ๆ ที่คนร้ายนำมาใช้ในพื้นที่ภาคใต้อย่างแน่นอน และคงไม่หนีไปจากรูปแบบที่เกิดขึ้นในอิรัก แต่ระเบิดที่คนร้ายใช้จะมีศักยภาพเทียบเท่ากับระเบิดในอิรักหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งทุกวันนี้ระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ ความรุนแรงยังไม่ถึงกับในอิรัก แต่เราก็ไม่ประมาทและพยายามหาวิธีป้องกันอย่างสูงสุดเพื่อความปลอดภัยของกำลังพล" แหล่งข่าวจากอีโอดี กล่าว
รู้จักรถหุ้มเกราะ รีว่า 4x4
แม้กำลังพลหน่วยต่างๆ ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในสมรภูมิชายแดนใต้จะมี "รถหุ้มเกราะ" หลายรุ่นใช้เป็นพาหนะและลำเลียงพล เช่น รถกระบะหุ้มเกราะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งที่ติดตั้งแผ่นเหล็กทำกันเองและสั่งต่อจากโรงงาน, รถเกราะ วี 150 ของทหารและ ตชด.ซึ่งใช้งานมานานหลายปี เป็นต้น
แต่รถหุ้มเกราะที่ใหม่และมีคุณภาพมากที่สุด ใช้วัสถุกันกระสุนและแรงอัดระเบิดทั้งตัวรถ ใต้ท้องรถ และกระจกรถ น่าจะเป็น "รถหุ้มเกราะรีว่า" (REVA 4X4) ที่สั่งนำเข้าจากประเทศแอฟริกาใต้ ทะยอยส่งเข้าประจำการในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2552
สมรรถนะของรถหุ้มเกราะรีว่า สามารถป้องกันแรงระเบิดน้ำหนักเกินกว่า 10 กิโลกรัมได้ดี โดยเฉพาะบริเวณใต้ท้องรถ จึงเหมาะกับพื้นที่ชายแดนใต้ที่คนร้ายมักฝังระเบิดไว้ใต้ผิวถนน
หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "รถหุ้มเกราะรีว่า" เอาไว้ดังนี้**
- ตัวรถใช้เกราะ ARmox Shield + Weldox Shield ของสวีเดน ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นเกราะที่มีประสิทธิภาพระดับต้นๆ ของโลก สามารถป้องกันระเบิดและกระสุนได้ดี
- กระจกกันกระสุนหนา 63 มิลลิเมตร
- มีช่องยิงตอบโต้และป้อมปืน
- มีประสิทธิภาพทนต่อแรงอัดระเบิดมากกว่ารถฮัมวี่ และรถเกราะ วี 150
ยังมีข้อมูลจาก "วิกิพีเดีย" เพิ่มเติมด้วยว่า รถหุ้มเกราะรีว่ามีน้ำหนัก 7.8 ตัน ความยาว 6.0 เมตร ความกว้าง 2.48 เมตร ความสูง 2.4 เมตร บรรทุกคนได้ 10 คน ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ระยะปฏิบัติการ 500 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 ส่วนประกอบของระเบิดเจาะเกราะ EFP ที่เคยพบในอิรัก (ขอบคุณภาพจาก http://www.militarynewsnetwork.com/reference/efp.htm)
3 รถหุ้มเกราะรีว่า ที่ใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ขอบคุณภาพจาก http://lamb.exteen.com/20110515/entry)
หมายเหตุ : ** ดึงข้อมูลจากต้นฉบับมาเพียงบางส่วน