“ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” บันทึกการต่อสู้ของคนเล็กๆ ที่ห่างไกลสุด
“เราไม่ได้โกงหรือแย่งชิงที่ดินของใครมา เพราะน้ำนมหยดแรก เราก็ดื่มที่นี่ ข้าวเม็ดแรก เราก็กินที่นี่ รอยเท้าแรก เราก็ย่ำที่นี่ เราอยากกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินเหมือนเดิม”
ในช่วงเวลาที่กำลังมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 จัดขึ้นที่สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-10 กรกฏาคม 2562 โดยประเทศไทยเสนอการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นแห่งที่ 3 ของประเทศอีกครั้งนั้น (อ่านประกอบ:5 ก.ค.ลุ้นไทยดันป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลก -กะเหรี่ยงพื้นที่ยื่นค้าน)
อีกฟากหนึ่ง มีการจัดกิจกรรมคู่ขนาน งานเปิดตัวหนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” ซึ่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้จัดทำขึ้น โดยรวบรวมประวัติและข้อมูลต่างๆ ของชุมชนดังกล่าวจากเอกสาร บันทึก คำบอกเล่า เนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง อันเป็นข้อมูลสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ควรให้ความสนใจ
ในหนังสือเล่มนี้ แค่เพียงพลิกไปที่หน้าคำนำ เขียนโดย"สุรพงษ์ กองจันทึก" ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้อ่านก็สามารถรับรู้เรื่องราวจุดเริ่มต้นของปัญหาการคุกคามกลุ่มชนเผ่านี้ เมื่อ 8 ปีที่แล้วได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ในเวลาอันสั้นแค่ 4 หน้ากระดาษ
------------------------------------------------
เดือนกรกฎาคม 2554 เกิดเหตุการณ์สูญเสียครั้งใหญ่ คือ เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำของทหารตกบริเวณอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นำไปสู่การเสียชีวิตถึง 17 คน
ทั้งประเทศตกตะลึงต่อการสูญเสียบุคลากรครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการสนธิกำลังในการปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี ตามโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ ตามแนวชายแดนไทย-พม่า
โครงการนี้ มีอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นเจ้าภาพ
ปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรีครั้งนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมจากเฮลิคอปเตอร์ตกแต่อย่างเดียว ระหว่างปฏิบัติการมีสื่อมวลชนโทรทัศน์เสนอภาพการเผาทำลายสิ่งปลูกสร้าง โดยข่าวอ้างว่า เป็นชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกเข้ามายึดครองพื้นที่ในประเทศไทย
ต่อมา มีการปรากฎตัวของปู่คออี้ ชายชราวัย 100 ปี ที่ถูกเผาบ้านและออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองและชุมชนดั่งเดิมที่ถูกเผาทำลาย
ความชัดเจนและความจริงค่อยๆ ชัดและปรากฎขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลที่ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าวอ้างในยุทธการตะนาวศรีปรากฎเป็น “ความเท็จ” ในขณะที่ “ความจริง” ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ข้อกล่าวอ้าง: เป็นชนกลุ่มน้อย กลุ่มกะหร่าง และเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ KNU (Karen Nation Union)
ความจริง:เป็นคนไทยดั่งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยงที่เกิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่ดั่งเดิมของบรรพบุรุษ มีหลักฐานและเอกสารประจำตัวประชาชนคนไทยอย่างถูกต้อง
ข้อกล่าวอ้าง: บุกรุก แผ้วถาง อพยพจากนอกประเทศเข้ามา
ความจริง:เป็นชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม อาศัยในพื้นที่ที่เรียกว่า “ใจแผ่นดิน” มาหลายร้อยปี มีหลักฐานชัดเจนปรากฎในแผ่นที่กรมแผนที่ทหาร ตั้งแต่ปี 2455
ข้อกล่าวอ้าง: เป็นกองกำลัง สั่งสมอาวุธยุทโธปกรณ์
ความจริง:พบเพียงปืนแก๊ป อาวุธยิ่งสัตว์ขนาดเล็กตามวิถีชาวบ้านในป่า
ข้อกล่าวอ้าง:ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวสะสมเสบียง สนับสนุนอาหารของกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ
ความจริง: ทำไร่หมุนเวียน ซึ่งรักษาสภาพแวดล้อม จนไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงได้รับการประกาศเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติปี 2556 ปลูกข้าวเล็กน้อยไว้รับประทานในครอบครัว ตามวิถีชีวิตพึ่งตนเองและพอเพียง
ข้อกล่าวอ้าง: เผาทำลายเพิงพักชั่วคราว สิ่งปลูกสร้าง 98 หลัง
ความจริง: เผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านทั้งหมู่บ้านรวม 98 หลัง เป็นบ้านที่มีเลขที่บ้านและทะเบียนบ้าน เดิมเป็นหมู่ที่ 7 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาปรับเป็น หมุ่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการเผาหมู่บ้านดั่งเดิมของคนไทยร่วม 100 หลังทิ้ง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีหลักฐานเป็นภาพข่าวจากสถานีโทรทัศน์
การใช้เฮลิคอปเตอร์ไปเผาทำลายคนดั่งเดิม เป็นภาพเรื่องจริงทำนองเดียวกับภาพยนตร์อวตาร AVATAR ซึ่งออกฉายก่อนหน้าปฏิบัติการตะนาวศรีไม่ถึงปี
“เขาทำเหมือนเราเป็นสัตว์” ปู่คออี้พูดด้วยเสียงสั่นเครือ หลังได้ข่าวจากลูกหลานกลับมาจากไปดูบ้านและยุ้งฉางที่ถูกเผา เล่าให้ฟัง
ลุงดุ๊อู จีโบ้ง หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกเผาบ้าน เล่าเหตุการณ์ให้ฟังด้วยความช้ำใจ
“เจ้าหน้าที่มาที่บ้านเป็นสิบคน มาตอนเย็นมีปืนมาด้วย มาไม่ได้บอกอะไรว่า มาทำไม”
“มาบนบ้าน ค้นบ้าน รื้อของ ยังกับโดนลิงป่าขึ้นบ้าน เอาข้าวเปลือกไป ล่อไก่ที่เลี้ยงไว้ให้ออกมากิน แล้วเอาก้อนหินขว้างและใช้ไม้ตี เลือกไก่ตัวใหญ่ๆ เอามาทำกินกัน”
“แล้วก็จับจองที่นอนบนบ้านกันตามใจ”
“เช้ารุ่งขึ้น เขาไม่ได้บอกอะไรเลย อยู่ๆ เราก็เห็นไฟเริ่มไหม้หลังคาบ้านต้องกระโดดหนีลงจากบ้าน มายืนดูบ้านถูกไฟเผา แล้วต้องหนีเข้าป่า”
“เจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าไม่ไปเจอยิงทิ้ง”
ในปี 2555 ด้วยความช่วยเหลือของสภาทนายความ ปู่คออี้และดุ๊อู พร้อมชาวบ้านที่ถูกเผาบ้าน ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและยืนยันความถูกต้องชอบธรรมของชาวบ้านและชุมชน
สังคมรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมและการต่อสู้ของชาวบ้านในวันสิทธิมนุษยนชนสากล 10 ธันวาคม 2560 ปู่คออี้ได้รับรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2560 จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ในวันนั้นนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ หลานสะใภ้ปู่คออี้พร้อมชาวบ้านมารับรางวัลแทนปู่คออี้ที่ไม่แข็งแรง และนำคำพูดของปู่คออี้ที่ฝากมากล่าวในงานมอบรางวัลว่า
“เราไม่ได้โกงหรือแย่งชิงที่ดินของใครมา เพราะน้ำนมหยดแรก เราก็ดื่มที่นี่ ข้าวเม็ดแรก เราก็กินที่นี่ รอยเท้าแรก เราก็ย่ำที่นี่ เราอยากกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินเหมือนเดิม”
เป็นเวลาหกปีที่ปู่คออี้และชาวบ้านใจแผ่นดินต้องดั้นด้นเดินทางไปๆมาๆจากป่าแก่งกระจานเพื่อหาความยุติธรรม หวังอย่างเดียวว่า จะได้กลับบ้านเกิด
ในวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า บ้านใจแผ่นดินและบางกลอยบน เป็นชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมของชาวกะเหรี่ยง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อชาวบ้าน ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ชาวบ้านที่ฟ้อง
การต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อชุมชนและความชอบธรรม แม้จะชนะในศาลปกครองสูงสุด แต่ยังไม่ได้กลับใจแผ่นดินบ้านเกิด ระหว่างการต่อสู้ ต้องสูญเสียอาจารย์ทัศน์กมล โอบอ้อม ที่ออกมาประสานงานและเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวบ้านด้วยการถูกยิงเสียชีวิต
และเมื่อบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ หลานปู่คออี้ ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำในการต่อสู้ต่อ ก็ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว และหายสาบสูญโดยไม่มีใครพบ
“ใจแผ่นดิน แผ่นดินใจกลางกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” เป็นบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนเล็กๆ ที่ห่างไกลที่สุด เพื่อรักษา “ใจแผ่นดิน” ดินแดนอันห่างไกล ลี้ลับ และศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา
ด้วยความหวังที่กลับใจแผ่นดินบ้านเกิด ใช้ชีวิตอย่างสงบ เรียบง่าย ในพื้นที่ป่า
และหวังให้รัฐและเจ้าหน้าที่ยอมรับเข้าใจในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงและเคารพชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม
เรื่องใจแผ่นดินของชาวกะเหรี่ยง ทำให้ต้องกลับมาดู “ใจ” ของเราทุกคนว่า จะอยู่ร่วมกันใน “แผ่นดิน” นี้อย่างสงบสุขและเคารพซึ่งกันและกันอย่างไร