บล.กสิกรไทยจับตานโยบาย รบ.ประยุทธ์ คาดออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน
บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทยมองการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ว่านโยบายส่วนใหญ่ที่จะออกมาหลังการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นจะเป็นการเน้นออกมาตรการที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว (fast-moving) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทันทีผ่านการบริโภคภาคเอกชน และหลังจากรัฐบาลได้เสียงสนับสนุนจาก สส. มากขึ้น อาจเห็นการดำเนินงานทางเศรษฐกิจในระยะกลาง-ยาวตามมา เช่น โครงการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 6.65 แสนล้านบาท โดยเชื่อว่าหุ้นกลุ่มพาณิชย์จะได้รับประโยชน์สูงสุด ตามด้วยกลุ่มรับเหมาโยธา กลุ่มขนส่งทางราง กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย อธิบายถึงตัวงบประมาณประจำปี 2563 ว่ารัฐบาลได้มีการตั้งไว้ที่ 3.2 ล้านบาท ขาดดุลอยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท ถือเป็น 14% ของงบประมาณปี 2563 เพื่อสนับสนุนโครงการที่กำลังดำเนินอยู่และที่รออยู่ในอนาคตจากพระราชบัญญัติวินัยทางการคลังและการเงิน มีเพดานงบขาดดุลกำหนดไว้ที่ 20% ของงบประจำปีทั้งหมด ซึ่งทำให้รัฐบาลใหม่สามารถใช้งบส่วนเพิ่มได้ประมาณ 1.9 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 6% ของงบประมาณปี 2563 และหากมีความจำเป็น รัฐบาลใหม่อาจตั้งงบขาดดุลส่วนเพิ่มโดยตั้งในงบกลางปีเหมือนที่เคยทำในปี 2560-2561 ซึ่งงบประมาณส่วนนี้จะช่วยเพิ่มการเติบโต GDP ได้ ถึง 1-1.5%
หลักทรัพย์กสิกรไทยคาดว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้การดำเนินงานของพลเอกประยุทธ์ จันโอชา จะประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบเร่งด่วนแบบเห็นผลทันตา เพื่อถ่วงดุลภาพรวมการส่งออกและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยมาตรการกระตุ้นแบบ fast-moving นี้ จะถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศสำหรับเพิ่มรายได้และการบริโภคในครัวเรือนมากยิ่งขึ้น
“มาตรการหลักที่เราคาดว่าจะเห็นจากรัฐบาลใหม่ใช้คือ การสนับสนุนรายได้ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการรัฐ เงินชดเชยให้กลุ่มการเกษตรขนาดเล็ก การหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ค่าเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และค่าธรรมเนียมที่ลดลงสำหรับการจดจำนองของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย สำหรับในระยะถัดไปเราอาจมองเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้นเมื่อการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่มีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลใหม่สามารถนำเสนอมาตรการที่มีระบบและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ในขณะเดียวกันอาจมีต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นสำหรับกลุ่มอสังหาฯเพื่อการอยู่อาศัย การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับตัวเมืองในต่างจังหวัดเงินชดเชยราคาสินค้าเกษตรที่มีระบบมากขึ้น การสนับสนุน SME อย่างมีระบบ และความสามารถในการกู้ยืมระดับจังหวัด รวมทั้งรัฐบาลใหม่จะเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีการประมูลรออยู่อีกมาก และเร่งโครงการสำคัญในปัจุบัน เช่น EEC และรถไฟฟ้าความเร็วสูง ส่วนประเด็นการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำรวดเดียวถึง 25-27% นั้นยังไม่น่าเกิดขึ้น เนื่องจากอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจแต่อาจมีการปรับค่าแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากรัฐบาลมีเครื่องมือจำกัดในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าว” ภาสกร กล่าว
โดย บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทยมองว่ากลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายภายใต้การดำเนินงานของพลเอกประยุทธ์ จันโอชา ได้แก่
กลุ่มพาณิชย์ (CPALL, MAKRO, HMPRO, ROBINS, BJC, GLOBAL) จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากรายได้ในครัวเรือนที่สูงขึ้นซึ่งจะกลายมาเป็น SSSG ที่สูงขึ้น
กลุ่มรับเหมาโยธา (CK และ STEC) และกลุ่มขนส่งทางราง (BTS และ BEM) จะได้ประโยชน์จากการประมูลโครงการภาครัฐภายใต้รัฐบาลชุดใหม่
กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (AMATA, WHA, FPT) จะได้ประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่สูงขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ และจากการย้ายฐานโรงงานจากจีน
ขณะที่กลุ่มอสังหาฯ (LH, PSH, QH, ORI, AP, SPALI, SC) คาดจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของภาครัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง