พพ. จับมือ สนพ. แจงเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2018)
พพ. จับมือ สนพ. แจงเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2018) ตามแผน PDP2018 พร้อมเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอย่างแพร่หลาย
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ตามที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 แล้วนั้น ปัจจุบัน พพ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP2018) ให้สอดคล้องกับแผน PDP2018 โดยแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานงานทดแทน จะมีการปรับเป้าหมายให้สูงขึ้นจากแผน AEDP2015 ตัวอย่างเช่น
พลังงานแสงอาทิตย์ตามแผนเดิม ณ ปี 2579 จะติดตั้งให้ได้รวม 6,000 MW ณ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 2,849 MW ในแผนใหม่จะติดตั้งระหว่างปี 2561 – 2580 อีก 12,725 MW (โซล่าร์รู๊ฟท๊อปกับโซล่าร์แบบทุ่นลอยน้ำ) รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 15,574 MW
พลังงานชีวมวล แผนเดิมอยู่ที่ 5,570 MW ณ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 2,290 MW มีแผนจะติดตั้งระหว่างปี 2561 – 2580 อีก 3,496 MW รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 5,786 MW เป็นต้น
ทั้งนี้ ในแผน AEDP2018 จะมีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ไม่มีในแผน AEDP2015 คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 2,725 MW และมีการเพิ่มเป้าหมายของโรงไฟฟ้าขยะจากเดิม 500 MW เป็น 900 MW เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจัดทำแผน AEDP2018 ในภาพรวมนั้น ปัจจุบัน พพ. อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมจัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั่วประเทศ คาดว่าในเดือนสิงหาคม 2562 จะเริ่มดำเนินการได้
ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่าตามเป้าหมายของแผน PDP2018 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2580 จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ ซึ่งจากเป้าหมายนี้จะต้องมีการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 56,431 เมกะวัตต์ รวมทั้งจะพัฒนาระบบผลิตและส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนที่เพิ่มมากขึ้นและเกิดความมั่นคงทางพลังงาน และแนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งเบื้องต้นจะกำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งจะเป็นระดับที่สร้างความสมดุลการผลิตไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในอนาคตต่อไป